เรียนรู้การเงิน

เป็น SME ต้องคอยหาโอกาสต่อและพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ

อัพเดทวันที่ 27 พ.ค. 2567

เป็น SME ต้องคอยหาโอกาสต่อและพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ


Business Highlights

  • คุณอภิสิทธิ์ ณ ลำปาง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทำดี ดีไซน์ จำกัด และ บริษัท ทำดี คาเฟ่ แอนด์ เรสเตอรองท์ จำกัด เริ่มต้นธุรกิจจากสายงาน Merchandizing ออกแบบตกแต่งภายในร้านค้า เน้นคุณภาพงานและบริการที่ตอบสนองได้ในทุกสถานการณ์ จนได้รับความไว้วางใจจากแบรนด์สินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • ก้าวเข้าสู่ธุรกิจอาหาร ร้านเว-ฬา-ดี ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด 19 เพียงไม่กี่เดือน แต่สามารถฝ่าวิกฤติมาได้ด้วยการปรับกลยุทธ์ขายอาหารแบบ Take Away ปัจจุบันเป็นร้านอาหารไทยฟิวชันระดับไฮเอนด์ในเชียงใหม่ที่ได้รับรางวัลมิชลินไกด์ 4 ปีซ้อน
  • เว-ฬา-ดีได้รับความนิยมจากลูกค้าด้วยมาตรฐานที่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งสไตล์ อินดัสเตรียลผสมทรอปิคัลที่เน้นความเป็นส่วนตัว เมนูอาหารรสเลิศ และการบริการที่ใส่ใจใน ทุกรายละเอียด

“เว-ฬา-ดี” ร้านอาหารไทยฟิวชันในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่สุดหินของผู้ประกอบการ เพราะมีร้านอาหารจำนวนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ แต่ภายใต้การบริหารของ คุณอภิสิทธิ์ ณ ลำปาง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทำดี ดีไซน์ จำกัด และ บริษัท ทำดี คาเฟ่ แอนด์ เรสเตอรองท์ จำกัด ที่เริ่มต้นธุรกิจจากสายงาน Merchandizing ซึ่งมีส่วนเสริมให้ “เว-ฬา-ดี” ยืนระยะอยู่ในสมรภูมิการแข่งขันได้อย่างมั่นคง พร้อมกับการการันตีของมิชลินไกด์ 4 ปีซ้อน


Merchandizing สร้างชื่อ “ทำดีดีไซน์”

ก่อนจะมาทำร้านอาหารเว-ฬา-ดี ราว 20 ปีที่แล้ว คุณอภิสิทธิ์เริ่มต้นธุรกิจ บริษัท ทำดี ดีไซน์ จำกัด ในงาน Merchandizing ซึ่งเป็นการออกแบบตกแต่งภายในร้านค้า ให้เหมาะสมกับการเข้ามา ใช้บริการของผู้บริโภค

“ก่อนหน้านี้ผมทำงานประจำมาหลายบริษัท ทำเกี่ยวกับ Merchandizing มีหน้าที่ดูแลการจัดวางสินค้าภายในร้าน ก็ทำอยู่หลายปี ก่อนกลับมาอยู่เชียงใหม่และมีโอกาสรีโนเวตร้านวัสดุก่อสร้างที่เชียงใหม่ โดยนำระบบ Racking ชั้นสูงสำหรับจัดวางสินค้ามาใช้ และก็รับงานฟรีแลนซ์มาเรื่อย ๆ จน Nestle Thailand ติดต่อให้ไปออกแบบและติดตั้งงานในศูนย์การค้าต่างจังหวัด 3 แห่ง ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากนั้นผมจึงได้ตั้งบริษัท ทำดีดีไซน์ จำกัด มีทีมโปรดักชันของตัวเอง และได้รับความไว้วางใจจาก ร้านค้าขนาดใหญ่ในภาคอีสานให้ไปออกแบบร้านค้า ก็ยิ่งทำให้บริษัทเป็นที่รู้จักมากขึ้น”

คุณภาพผลงานของบริษัท ทำดีดีไซน์ฯ ได้รับการยอมรับและผ่านมาตรฐานระบบตรวจสอบ จากแบรนด์สินค้าจากต่างประเทศ เช่น Nestle, Danone, Suntory, Ovaltine, Unicharm, L’Oreal, VICHY, La Roche-Posay เป็นต้น และทำให้ได้รับ ความไว้วางใจใช้บริการต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัท ทำดี ดีไซน์ จำกัด มีโรงงานผลิตชิ้นงานของตนเอง โดยมีพนักงานกว่า 70 คน นอกจากนี้ ยังเพิ่มความคล่องตัวและลดต้นทุนในการจัดส่งและติดตั้งชั้นวางสินค้า โดยมีรถและบริหารจัดการเส้นทางขนส่งเอง

“ลูกค้าส่วนใหญ่อยู่กรุงเทพฯ แต่บริษัทเราอยู่เชียงใหม่ เดิมเราจ้างรถหกล้อเพื่อขนส่งสินค้าไปติดตั้งในพื้นที่ต่าง ๆ แต่รถขนส่งเมื่อไปถึงจุดหมายจะรีบขนของลงแล้วรีบกลับ ทำให้สินค้าเสียหายเพราะไม่มีที่จัดเก็บ ผมจึงซื้อรถหกล้อและขนส่งเอง โดยวางแผนการวิ่งรถแต่ละรอบและให้บริการลูกค้าเหนือ จรดใต้ไปตลอดเส้นทาง เพราะเรามีลูกค้าทั่วประเทศ จึงช่วยลดต้นทุนและความเสียหายของสินค้าลงได้ โดยมีทีมงานประจำอยู่ในกรุงเทพฯ ตรวจสอบการติดตั้งและดูแลงานต่าง ๆ ให้ได้คุณภาพในหน้างาน

“สินค้าและบริการกลุ่ม Merchandizing ไม่ได้สู้กันด้วยเรื่องราคา แต่สู้กันที่คุณภาพงาน ซึ่งผมจะตรวจสอบชิ้นงานอย่างละเอียด ต้องซื่อสัตย์ทำงานตรงตามสเปกของลูกค้า ตรงต่อเวลา สามารถซัพพอร์ตลูกค้าได้ทันท่วงที เมื่อได้รับการประสานจากลูกค้าเราจะมีทีมเข้าไปแก้ปัญหาให้ หรือแม้ต้องขึ้นเครื่องบินนำงานชิ้นเดียวไปส่งให้ลูกค้าเพื่อให้ทันใช้งาน ผมก็พร้อมจะทำ รวมถึงมีบริการหลังการขายที่ลูกค้าเชื่อใจและวางใจได้”

บริษัท ทำดี ดีไซน์ จำกัด เติบโตและดำเนินกิจการได้อย่างมั่นคง จนต้องมองหาพื้นที่จอดรถสำหรับธุรกิจและพนักงาน และนั่นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่ธุรกิจร้านอาหารในเวลาต่อมา


เปิดตัวร้านอาหาร ‘เว-ฬา-ดี’ ในช่วงวิกฤติ ต้องพลิกกลยุทธ์ด้วย Take Away แบบรับส่งเอง

“ผมซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงประมาณ 2 ไร่เพื่อใช้จอดรถ ตอนนั้นคิดว่าอยากให้ตัวเองและพนักงานได้กินอาหารถูกปาก เพราะสมัยก่อนที่ตั้งบริษัทแทบไม่มีร้านอาหาร จึงคิดจะเปิดร้านขายข้าวแกงในพื้นที่ที่เหลือจากการใช้จอดรถแต่พอนำไอเดียไปคุยกับบริษัทออกแบบ ปรากฏว่าร้านอาหารที่ออกมา ทั้งรูปแบบและขนาดร้านไม่เหมาะกับการขายข้าวแกง ผมจึงเปลี่ยนไปขายอาหารไทยฟิวชัน โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้ากลุ่มบีถึงเอบวก ใช้ชื่อร้าน ‘เว-ฬา-ดี’ เพื่อให้ทุกพื้นที่ในร้านแห่งนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับทุกคน”

คุณอภิสิทธิ์เริ่มต้นจากการพัฒนาสูตรอาหารโดยมีคุณยายเพชร แสงมณี ผู้ใหญ่ที่เคารพมาปรุงอาหารเป็นต้นแบบทางรสชาติ จนได้เมนูที่เป็นเอกลักษณ์ของร้าน โดยได้เปิดร้านเมื่อช่วงปลายปี 2562 แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือนก็เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ร้านอาหารต้องปิดให้บริการหน้าร้านทั้งหมด โดยมีค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับ 4 - 5 แสนบาทต่อเดือน

“ผมให้พนักงานเข้ามาพักอยู่ที่ร้านทั้งหมดเพื่อป้องกันการรับเชื้อ และปรับมาขายอาหารแบบ Take Away โดยไม่ปรับราคาอาหารให้ลดลง ขายที่ 150 บาทต่อกล่องเป็นต้นไป เพราะยังยึดกลุ่มลูกค้าเดิม เปิดรับออเดอร์ทางโทรศัพท์และช่องทางโซเชียลมีเดียของทางร้าน ไม่ได้ใช้บริการแพลตฟอร์ม Delivery พนักงานและผมจะขับรถไปส่งอาหารให้ลูกค้าเองทุกออเดอร์ พร้อมกับมีขนมหรือของเล็ก ๆ น้อย ๆ แทนคำขอบคุณไปให้ทุกการสั่งซื้อ”

กลยุทธ์ดังกล่าวพาเว-ฬา-ดี ฝ่าฟันวิกฤติ จนสามารถกลับมาเปิดให้บริการหน้าร้านได้ตามปกติ ในช่วงเวลา 11.00 - 21.00 น. ทุกวัน ปัจจุบันร้าน เว-ฬา-ดี มีพนักงาน 49 คน แต่ละคนรับผิดชอบสเตชันของตนเองโดยเฉพาะ จึงทำให้ปรุงอาหารออกมาได้รวดเร็ว เช่นเดียวกับพนักงานหน้าร้านที่จะแบ่งโซนรับผิดชอบ ทำให้ดูแลได้ทั่วถึงในพื้นที่ร้าน 160 ที่นั่ง จึงสามารถรองรับลูกค้าหมุนเวียนได้ถึง 1,200 คนต่อวัน เพราะการเก็บย้ายและจัดโต๊ะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ความอร่อย บริการ และสถานที่ การันตีด้วยมิชลินไกด์ 4 ปีซ้อน

ด้วยอาหารรสเลิศและบรรยากาศร้านที่ตกแต่งแบบอินดัสเตรียลผสมความทันสมัยในแบบ ทรอปิคัล ให้ความรู้สึกผ่อนคลายเหมาะสำหรับใช้เวลากับเพื่อนและครอบครัว ในปี 2564 ร้านเว-ฬา-ดี จึงได้รับคัดเลือกให้เป็นร้านอาหารแนะนำจากมิชลินไกด์ และได้รับรางวัลดังกล่าวต่อเนื่องถึง 4 ปีซ้อน จนถึงปี 2567

“ผมวางการทำร้านอาหารเว-ฬา-ดี ไว้ 3 เรื่องคือ อาหารต้องอร่อย บริการต้องดี และสถานที่ต้องสะอาด ทุกเมนูควบคุมสัดส่วนวัตถุดิบและเครื่องปรุงให้ได้มาตรฐานรสชาติทุกจานด้วย Base Source หากได้รับคำวิจารณ์เรื่องรสชาติเพี้ยนไป ผม หัวหน้าเชฟ เชฟที่ปรุงเมนูนั้น และพนักงานหน้าร้าน จะช่วยกันชิม หาก 3 ใน 4 เสียงบอกว่ารสชาติเหมือนเดิม จานนั้นถือว่าผ่าน แต่หาก 3 เสียงบอกเพี้ยน ต้องกลับไปหาสาเหตุว่าเกิดจากวัตถุดิบหรือขั้นตอนไหนที่มีปัญหา เพื่อปรับปรุงแก้ไข ส่วนการบริการของพนักงานจะไม่มีคำว่า ‘ไม่ได้’ กับลูกค้า แต่ให้ใช้คำว่า ‘ขอโทษ’ กับ ‘ไม่เป็นไร’ และทุก 4 เดือนจะมีทีมเข้ามาปรับปรุงดูแลอาคารสถานที่ แต่หากมีปัญหาทีมช่างจากบริษัท ทำดี ดีไซน์ จำกัด จะเข้ามาดูแลทันที เป็นการใช้ประโยชน์จากธุรกิจที่มี ทำให้ร้านเว-ฬา-ดีไม่มีจุดที่ทรุดโทรมให้เห็น”

ความสำเร็จของร้านเว-ฬา-ดีไม่เพียงสะท้อนผ่านจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง แต่คุณอภิสิทธิ์ยังมองพนักงานเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จ โดยจะแบ่งส่วนหนึ่งของเงินเดือนไว้ออมและสมทบร่วมเข้าไปทุกเดือน เพื่อให้พนักงานมีเงินทุนไว้ใช้ยามฉุกเฉินหรือใช้ต่อยอดในการลงทุน “หากธุรกิจเราอยู่ได้ แต่ชีวิตพนักงานเราไม่ดีขึ้น คงไม่สามารถพูดได้ว่าเราประสบความสำเร็จ”



ปรับแผน ประคองตน ต่อยอดธุรกิจ SME รอดได้

คุณอภิสิทธิ์ฯ ให้มุมมองทางธุรกิจว่า เอสเอ็มอีไทยจะอยู่รอดได้ในภาวะวิกฤติ จะต้องมองหาช่องทางและปรับแผนให้ธุรกิจยังสามารถทำรายได้เข้ามาได้ อย่างน้อยก็เพื่อประคองตัวให้ผ่านพ้นช่วงมีปัญหาไปให้ได้ แต่หากเอสเอ็มอีจะยืนหยัดอยู่ได้ ก็ต้องมีการต่อยอดธุรกิจที่ทำอยู่ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องมี ความเข้าใจธุรกิจของตนเองอย่างแท้จริงทุกแง่มุม ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลลูกค้าเดิมให้กลับมาใช้บริการอีก

“เงินทุนเป็นสิ่งสำคัญในภาวะวิกฤติที่จะทำให้สายป่านเรายาวพอจะยืนระยะจนก้าวข้ามปัญหาไปได้ การมีพันธมิตรที่ดีและเชื่อมั่นในศักยภาพของเราจึงเป็นปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จ ผมมีธนาคารกรุงไทยเป็นพันธมิตรที่ดีมาอย่างยาวนาน ธุรกิจ Merchandizing ของผมไม่มีคนรู้จัก แต่ธนาคารกรุงไทยเข้าใจและรู้ว่าเป็นธุรกิจที่สามารถทำเงินได้ปีละร้อยกว่าล้าน จึงเชื่อมั่นให้การสนับสนุน นั่นเพราะเข้าใจลูกค้า ในฐานะที่เราเป็นผู้ประกอบการก็ต้องซื่อสัตย์ต่อธนาคาร ไม่ปกปิดข้อมูลหรือ นำเงินทุนไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เพื่อรักษาความเชื่อมั่นและโอกาส ในอนาคตเมื่อเราต้องการเงินทุนต่อยอดธุรกิจ”

อีกธุรกิจหนึ่งที่คุณอภิสิทธิ์ฯ กำลังต่อยอด นั่นคือ “My Wine” ร้านไวน์ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามร้านเว-ฬา-ดี ซึ่งเปิดขึ้นจากคำเรียกร้องของลูกค้าที่ต้องการนั่งดื่มนั่งชิลต่อในยามค่ำคืน โดยจะให้บริการตั้งแต่เวลา 6 โมงเย็นไปจนถึงเที่ยงคืน นับเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีที่ก้าวไปสู่ความสำเร็จอีกขั้น


Lesson Learned

  • ในการขนส่งสินค้าและบริการแต่ละรอบ ต้องวางแผนให้การวิ่งรถแต่ละรอบ สามารถบริการลูกค้าได้ในทุกจุดตั้งแต่เหนือจรดใต้ไปตลอดเส้นทาง เพื่อลดต้นทุน
  • ไม่แข่งขันกับตลาดด้วยราคาที่ต่ำกว่าเสมอไป แต่สร้างความไว้วางใจด้วยคุณภาพและบริการหลังการขายที่เชื่อใจได้
  • การทำร้านอาหารให้มีกำไรต้องคำนวณต้นทุนและกำไรต่อจาน โดยต้องควบคุมการใช้วัตถุดิบให้เป็นไปตามที่คำนวณไว้
  • วัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารควรมีระบบบันทึกข้อมูลการสั่งซื้อ ปริมาณการเบิกใช้ในแต่ละวัน รายละเอียดการจัดซื้อวัตถุดิบแต่ละชนิด เพื่อสามารถตรวจสอบปริมาณและสถานะของวัตถุดิบ เป็นการช่วยคุมต้นทุนไม่ให้รั่วไหล
  • ควรรักษาตลาดและกลุ่มเป้าหมายด้วยคุณภาพที่แตกต่าง การลดราคาอาจทำให้แบรนด์เสียหายระยะยาว

ที่มา: กรุงไทย SME FOCUS Issue 42 คอลัมน์ Successful Business “ทำดีดีไซน์ & เว-ฬา-ดี” ยึดมั่นคุณภาพ โดดเด่นด้วยบริการ ต่อยอดธุรกิจได้แข็งแกร่ง

#เคล็ดลับธุรกิจ #KrungthaiCompass #กรุงไทยSME #พลิกธุรกิจไทยสู่ความยั่งยืน