การกำกับดูแลกิจการ
กรุงไทย..ขับเคลื่อนด้วยความมั่นคง
AML/CFT
การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Anti-Money Laundering and Counter Terrorism and Proliferation of Weapon of Mass Destruction Financing: AML/CTPF)
การฟอกเงินและการก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ถือเป็นอาชญากรรมอันเป็น ภัยร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของชาติรวมถึงประชาคมโลก โดยผู้ประกอบอาชญากรรมได้อาศัยธนาคารเป็นช่องทางหนึ่งในการกระทำผิดดังกล่าว ซึ่งนานาประเทศได้ให้ความสำคัญและร่วมมือกันกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหานี้ เพื่อตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมดังกล่าว โดยองค์กรระหว่างประเทศชื่อว่า Financial Action Task Force (FATF) ได้กำหนดมาตรการด้าน AML/CFT ในระดับสากล เรียกว่า ข้อแนะนำ 40 ข้อ (The Forty Recommendations) เพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้ยึดถือเป็นแนวทางในการออกกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ
บมจ.ธนาคารกรุงไทยได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายด้าน Anti-Money Laundering and Counter Terrorism and Proliferation of Weapon of Mass Destruction Financing: AML/CTPF และมุ่งมั่นมิให้ธนาคาร ถูกใช้เป็นช่องทางในด้านการฟอกเงินฯ ดังนั้นจึงได้กำหนดนโยบายและระเบียบปฏิบัติงานด้าน AML/CTPF ในเรื่องต่างๆ ดังนี้
บมจ.ธนาคารกรุงไทยได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายด้าน Anti-Money Laundering and Counter Terrorism and Proliferation of Weapon of Mass Destruction Financing: AML/CTPF และมุ่งมั่นมิให้ธนาคาร ถูกใช้เป็นช่องทางในด้านการฟอกเงินฯ ดังนั้นจึงได้กำหนดนโยบายและระเบียบปฏิบัติงานด้าน AML/CTPF ในเรื่องต่างๆ ดังนี้
1. การประเมินความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน และ การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธ ที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงภายในธนาคาร (Self-assessment) และจัดทำมาตรการป้องกันและบรรเทาความเสี่ยงด้าน AML/CTPF
ธนาคารมีการประเมินและทบทวนความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน และ การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและ การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงภายในธนาคารเพื่อให้ทราบและจัดทำมาตรการป้องกันและบรรเทาความเสี่ยง ด้าน AML/CTPF อย่างสม่ำเสมอ และต้องได้รับการอนุมัติผลการประเมินความเสี่ยงจากผู้บริหารระดับสูง
2. การตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด
ธนาคารกำหนดให้ต้องมีการนำข้อมูลลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องมาตรวจสอบกับ รายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด (Sanction Lists) โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และ รายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรฐานสากล รวมถึงรายชื่อบุคคล/กลุ่มบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ซึ่งประกาศโดยหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้อง ก่อนสร้างความสัมพันธ์/ทำธุรกรรมกับธนาคาร จนกระทั่งยุติความสัมพันธ์กับธนาคาร ซึ่งหากพบว่าลูกค้ามีข้อมูลตรงกับรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด ธนาคารจะพิจารณาปฏิเสธการสร้างความสัมพันธ์/ยุติการสร้างความสัมพันธ์/ทำธุรกรรมกับธนาคาร
3. การจัดให้ลูกค้าแสดงตน (Know Your Customer : KYC)
ธนาคารกำหนดให้ลูกค้าแสดงข้อมูลและหลักฐานการแสดงตน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของข้อมูลการแสดงตน ก่อนสร้างความสัมพันธ์หรือทำธุรกรรม รวมทั้งพิสูจน์ทราบตัวตนว่าเป็นเจ้าของข้อมูลและหลักฐานจริง
4. การตรวจเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligence : CDD)
ธนาคารกำหนดให้ต้องตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าและผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงก่อนสร้างความสัมพันธ์หรือทำธุรกรรมทั้งการรับลูกค้าที่สร้างความสัมพันธ์ต่อหน้า (Face-to-face channel) และลูกค้าที่ไม่ได้ สร้างความสัมพันธ์ต่อหน้า (Non-face-to-face channel) จนกระทั่งลูกค้ายุติความสัมพันธ์กับธนาคาร รวมทั้งมีการประเมิน และบริหารความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่ การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพ ทำลายล้างสูงของลูกค้าทุกรายตั้งแต่สร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจจนกระทั่งยุติความสัมพันธ์ทางกับธนาคาร
สำหรับการแสดงตนของลูกค้าที่ไม่ได้สร้างความสัมพันธ์ต่อหน้า (Non-face-to-face channel) ธนาคารต้องจัดให้ลูกค้าแสดงข้อมูลและหลักฐานการแสดงตนตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งตรวจสอบความถูกต้องและความเป็นปัจจุบันของข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชนจากแหล่งข้อมูลภาครัฐ ตลอดจนมีการเปรียบเทียบภาพใบหน้าของลูกค้า (Face recognition) เพื่อยืนยันตัวตนของลูกค้าให้ครบถ้วน ก่อนที่จะอนุมัติรับทำธุรกรรมครั้งแรก
นอกจากนี้ ธนาคารกำหนดให้ปรับปรุง/ทบทวนข้อมูลต่าง ๆ ของลูกค้าที่ใช้ในการแสดงตนและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าให้เป็นปัจจุบัน และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับลูกค้า
5. บุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง (PEPs)
ธนาคารกำหนดให้บุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง (PEPs) เป็นปัจจัยที่มีระดับความเสี่ยงสูง ดังนั้น การสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงจะต้องดำเนินการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าอย่างเข้มข้น ซึ่งลูกค้า ที่มีความเสี่ยงสูงจะมีระยะเวลาการทบทวน และการ monitoring ที่เข้มข้นกว่าลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำ ธนาคารมีการกำหนดให้กรณีที่ลูกค้ามีความเสี่ยงระดับสูงจะต้องมีการอนุมัติการสร้างความสัมพันธ์โดยผู้บริหารระดับสูง/ผู้บริหารหน่วยงาน า
6. การตรวจสอบและติดตามความเคลื่อนไหวทางการเงินหรือการทำธุรกรรมของลูกค้า
ธนาคารกำหนดให้ต้องตรวจสอบและติดตามความเคลื่อนไหวทางการเงินหรือการทำธุรกรรมของลูกค้าทุกรายตั้งแต่สร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจจนยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
7. การรายงานธุรกรรม
ธนาคารกำหนดให้ต้องมีการรายงานธุรกรรมตามวงเงินที่กฎหมายกำหนดและการรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย โดยต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และรายงานภายในระยะเวลาที่กำหนด
8. การเก็บรักษาข้อมูล
ธนาคารกำหนดให้ต้องเก็บรักษาข้อมูลและหลักฐานการแสดงตน การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า และการทำธุรกรรมให้ครบถ้วนตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด (10 ปี นับแต่วันที่ปิดบัญชีหรือยุติความสัมพันธ์กับลูกค้า หรือ 10 ปี นับแต่วันทำธุรกรรม)
9. การตรวจสอบภายในด้าน AML/CTPF
ธนาคารมีกระบวนการตรวจสอบภายในที่เป็นไปโดยอิสระเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานและการปฏิบัติตามกฎหมาย AML และกฎหมาย CTPF และสรุปผลการตรวจสอบภายในนำเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
10. การฝึกอบรม
ธนาคารกำหนดให้ผู้บริหารและพนักงานของธนาคารต้องมีการอบรมด้าน AML/CTPF ตามแนวทางที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินกำหนด และจัดให้มีการประเมินความรู้หลังการอบรม เพื่อให้มีความรู้ด้านการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ดังกล่าว พร้อมทั้งมีการทบทวนความรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยมีรูปแบบการอบรมทั้งแบบ Classroom และ Online Platforms
ข้อมูลเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ