รายงานความยั่งยืน

มุ่งสู่การเติบโตร่วมกันในระยะยาว

ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในด้านเทคโนโลยี โครงสร้างของสังคม การบริโภคที่เปลี่ยนไป และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อการดำเนินงานของธนาคาร การดำเนินธุรกิจของลูกค้าธนาคาร เชื่อมโยงไปถึงระบบเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นการผนวกปัจจัยด้านความยั่งยืนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจในกิจกรรมทางธุรกิจ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในทุกองค์กร

กรุงไทย ในฐานะสถาบันการเงินของคนไทย ตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม ตามวิสัยทัศน์ ‘เคียงข้างไทยสู่ความยั่งยืน’ ภายใต้วิสัยทัศน์ดังกล่าว ธนาคารได้ผนวกประเด็นด้านธรรมาภิบาล สังคม สิ่งแวดล้อมเข้าไปในกระบวนการการดำเนินธุรกิจ ครอบคลุมไปถึงกิจกรรมทางการเงินต่าง ๆ ของธนาคาร ให้สอดคล้องกับแนวทางด้านการธนาคารเพื่อความยั่งยืนทั้งระดับประเทศและระดับสากล (Sustainable Banking) โดยมีจุดประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างเป็นระบบ และสร้างสังคมที่มีคุณภาพ โดยมุ่งเน้นการป้องกันผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้น และการส่งเสริม ลูกค้า คู่ค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้น ในการดำเนินธุรกิจไปในทิศทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรับมือความท้าทาย พร้อมไปกับสร้างโอกาสทางธุรกิจผ่านการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านไปพร้อมกัน




นโยบายการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบของธนาคารกรุงไทย (Responsible Lending Policy)

เพื่อให้มั่นใจว่าสินเชื่อที่สนับสนุนโดยกรุงไทยมีการมบริหารจัดการผลกระทบและประเด็นความเสี่ยง ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อย่างมีประสิทธิภาพ ธนาคารได้จัดทำแนวทางการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) บูรณาการการพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพิจารณาสินเชื่อ โดยธนาคารได้นำกรอบการดำเนินการสินเชื่อโครงการยั่งยืนระดับสากลอย่าง Equator Principles และมาตรฐานการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและ สังคมของบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับการดำเนินงานของธนาคาร เพื่อเป็นกรอบในการพิจารณาสินเชื่อประเภทต่าง ๆ ของธนาคาร อาทิ สินเชื่อโครงการ (Project Finance) สินเชื่อเพื่อธุรกิจ (Corporate Finance)

กรุงไทยได้กำหนดประเภทของสินเชื่อที่จะไม่ให้การสนับสนุนสินเชื่อ (Exclusion List) ไว้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งพัฒนาแนวทางในการพิจารณาสินเชื่อให้กับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (Inclusion List) กำหนดแนวทางเพื่อผลักดันให้เกิดการดําเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างคุณค่าแก่สังคม รวมไปถึงกำหนดแนวปฏิบัติในการพิจารณาสินเชื่อสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะหรือกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง (Sector Specific Guidelines) โดยมีการติดตามผล และมีการทบทวนกระบวนการเพื่อสร้างการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงขยายขอบเขตการดำเนินงานด้านการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ให้มีความครอบคลุมมากขึ้น


สินเชื่อที่ธนาคารไม่ประสงค์ให้การสนับสนุน (Exclusion List)

ธนาคารกำหนดให้มีการพิจารณาตั้งแต่ลักษณะของผู้ขอสินเชื่อ ประเภทธุรกิจหรือโครงการที่ลูกค้าดำเนินการอยู่ โดยสินเชื่อที่ธนาคารไม่ประสงค์ให้การสนับสนุน ดังนี้

  1. ธุรกิจผิดกฎหมาย หรือขัดต่อศีลธรรม หรือขัดต่อบรรษัทภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance)
  2. ธุรกิจหรือโครงการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบในการทำลายสภาพแวดล้อมหรือเป็นการบุกรุกทำลายระบบนิเวศหรือพื้นที่อนุรักษ์ทางวัฒนธรรมหรือโบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่
    2.1 พื้นที่ในเขตป่าชายเลน หรือพื้นที่อนุรักษ์ทางธรรมชาติ พื้นที่อุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ ตาม ประกาศหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
    2.2 พื้นที่แหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก (UNESCO World Heritage Sites) ตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย และ/หรือ ที่มีลักษณะเดียวกันในที่อื่น ๆ
    2.3 พื้นที่อนุรักษ์ตามอนุสัญญาแรมซาร์ว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Convention on Wetlands) ตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย และ/หรือ ที่มีลักษณะเดียวกันในที่อื่น ๆ รวมถึงโครงการเกษตรกรรมที่แปลงมาจากพื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าพรุ หรือพื้นที่อื่น ๆ ที่กักเก็บคาร์บอนในระดับสูง (High-carbon Stock)
    2.4 พื้นที่คุ้มครองของ International Union for Conservation of Nature: IUCN (IUCN Protected Area Category) ตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย และ/หรือ ที่มีลักษณะเดียวกันในที่อื่น ๆ
  3. การค้าสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าคุ้มครองภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES)
  4. ธุรกิจที่เป็นการกักตุนสินค้าเพื่อการเก็งกำไรหรือมีพฤติกรรมส่อไปในทางการกักตุน สินค้าเพื่อเก็งกำไร (Corner Market) ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือที่ขัดต่อประกาศข้อกำหนดของหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้อง
  5. ธุรกิจที่เกี่ยวกับการผลิตหรือค้าอาวุธสงคราม เช่น ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-personal Land Mines) รวมถึงส่วนประกอบสำคัญของทุ่นระเบิดสังหารบุคคล การผลิต การพัฒนา การบำรุงรักษา การทดสอบ การกักตุน และการค้าระเบิดลูกปราย (Cluster Munitions) รวมถึงส่วนประกอบสำคัญของระเบิดลูกปราย การผลิต การพัฒนา การบำรุงรักษา การทดสอบ การกักตุน และการค้าระบบอาวุธอัตโนมัติรุนแรง (Lethal Autonomous Weapons Systems: LAWS) รวมถึงส่วนประกอบที่ออกแบบมาสำหรับ LAWS ทั้งนี้ สำหรับสินค้าที่สำคัญสำหรับเป้าหมายทางการทหาร แต่ยังสามารถใช้เป็นผลิตภัณฑ์พลเรือน (สินค้า 'dual-use') ธนาคารจัดประเภทสินค้าชนิดนี้เป็นสินค้าทางทหาร เมื่อมีเป้าหมายที่ไม่ใช่เป้าหมายทางพลเรือน และธนาคารไม่ยอมรับการส่งอาวุธและระบบส่งอาวุธ ระบบลำเลียงทางการทหาร และสินค้าทางทหารอื่น ๆ ไปยังคู่ขัดแย้งที่มีส่วนร่วมในความรุนแรง ยกเว้นว่าเป็นฝ่ายที่กำลังทำตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) และไม่ยอมรับการส่งอาวุธและระบบส่งอาวุธ ระบบลำเลียงทางการทหาร และสินค้าทางทหารอื่น ๆ ไปยังประเทศที่ใช้เงินงบประมาณมากเกินสัดส่วนที่สมควรไปกับการซื้ออาวุธ รวมถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการส่งอาวุธและระบบส่งอาวุธ ไปยังประเทศที่ถูกห้ามส่งสินค้าเข้าโดยองค์การสหประชาชาติ หรือองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ประเทศที่อ่อนไหวต่อการทุจริตคอร์รัปชัน ประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และประเทศที่รัฐล้มเหลวหรือเปราะบางรวมถึงหากธนาคารพบว่ามีความเสี่ยงสูงที่อาวุธเหล่านั้นจะถูกใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรมอย่างรุนแรง (ยกเว้น หน่วยงานราชการไทย หรือเพื่อส่งให้หน่วยงานราชการไทย)
  6. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือโครงการที่มีความเสี่ยงทางสังคม เช่น การใช้แรงงานเด็ก แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย แรงงานที่ถูกบังคับ เป็นต้น
  7. ธุรกิจหรือโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่
    7.1 การผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและวัชพืช การผลิตวัสดุกัมมันตรังสี การผลิตสารที่ทำลายชั้นบรรยากาศ ที่ขัดต่อกฎหมายหรืออนุสัญญา/ข้อตกลงในระดับสากล (เช่น การห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือมีไว้ครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และการห้ามพัฒนา ผลิต สะสมอาวุธเคมี ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2544 หรือ สารเคมีอันตรายต้องห้ามหรือจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด ตามอนุสัญญารอตเตอร์ดัม หรือ สารเคมีที่เป็นสารมลพิษตกค้างยาวนาน ตามอนุสัญญาสตอกโฮล์ม เป็นต้น)
    7.2 ธุรกิจปรับปรุงคุณภาพของเสีย (การรวบรวม การบำบัด และการกำจัดของเสีย) ที่เป็นอันตราย หรือกากสารกัมมันตรังสี
    7.3 ธุรกิจเหมืองแร่ถ่านหิน หรือธุรกิจการค้าถ่านหิน ยกเว้นธุรกิจที่มีการควบคุม Carbon Emission
    7.4 ธุรกิจพลังงานนิวเคลียร์
  8. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการล็อบบี้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม (พยายามส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจของหน่วยงานกำกับดูแล) ที่พุ่งเป้าไปยังการทำให้นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอ่อนแอลง

นอกจากนี้ ธนาคารมีการกำหนดแนวทางการพิจารณาสินเชื่อระดับส่วนบุคคลอย่างชัดเจน โดยจะไม่สนับสนุนการให้สินเชื่อแก่บุคคล ดังนี้

  1. บุคคลที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด
  2. ผู้มีอิทธิพลมืด
  3. บุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ หรือไร้ความสามารถ
  4. บุคคลที่สังคมพึงรังเกียจ เช่น เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง เป็นโรคติดต่อร้ายแรง และนักการพนัน เป็นต้น

สินเชื่อสำหรับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (Inclusion List)

เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ธนาคารสนับสนุนการให้สินเชื่อกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่มีศักยภาพตามที่ธนาคารกำหนดและสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศภายใต้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model)

  1. อุตสาหกรรม Health Care ได้แก่ ธุรกิจผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ ธุรกิจผลิตยา และผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์ และธุรกิจห้อง Lab
  2. อุตสาหกรรมโรงพยาบาลเอกชน
  3. อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอุปกรณ์สําหรับยานยนต์ไฟฟ้า
  4. อุตสาหกรรมอาหารเพื่ออนาคต ได้แก่ ธุรกิจผลิต Functional Food, Organic, Plant- Based Food, Enriched Drink
  5. อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ (Solar) หรือพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

** อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ธนาคารอาจจะมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมในภายหลัง เพื่อให้การขับเคลื่อนเกิดการดําเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างคุณค่าแก่สังคม เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และสอดรับกับแนวทางของประเทศและระดับสากล


สินเชื่อสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะ (Sector Specific Guidelines)

เพื่อให้การบริการความเสี่ยงทั้งระดับทั้งในระดับเครดิตพอร์ตโฟลิโอและระดับธุรกรรมของธนาคาร ให้สอดคล้องกับเป้าหมายระดับโลกที่จะมุ่งเปลี่ยนแปลงสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ธนาคารกำหนดให้มีแนวทางเพิ่มเติมในการพิจารณาประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมมภิบาลสำหรับธุรกิจหรือโครงการที่อาจจะส่งผลกระทบ ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และชีวอนามัยชุมชน อย่างมีนัยสำคัญโดยธุรกิจหรือโครงการจะต้องได้รับอนุญาตหรือผ่านการจัดทํารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) หรือ การวิเคราะห์ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment: EHIA) ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกําหนด โดยบริษัทที่ธนาคารให้การสนับสนุนทางการเงิน ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้สุขภาพของลูกจ้าง ลูกค้า และชุมชนใกล้เคียงถูกลิดรอนโดยผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิตของบริษัท (ตามหลักความรอบคอบ - precautionary principle)

นอกจากนั้น ผู้ขอสินเชื่อที่ระบุอยู่ในอุตสาหกรรมเฉพาะต้องมีการแสดงเอกสารหรือข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการและมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับลักษณะธุรกิจ เช่น มาตรการ มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับระดับสากล (ISO) แผนงานหรือแนวทางการป้องกันดูแลด้าน ESG เป็นต้น

  1. อุตสาหกรรมปิโตรขั้นต้น ได้แก่ การขุดเจาะนํ้ามันดิบและก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น และอุตสาหกรรมปิโตรขั้นกลาง ได้แก่ โรงกลั่นนํ้ามันและปิโตรเลียม เป็นต้น
  2. อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน (Fossil)
  3. อุตสาหกรรมปรับปรุง หรือปรับคุณภาพของเสียทุกประเภท (การรวบรวม การบําบัด และการกําจัดของเสีย) ที่เป็นอันตรายหรือกากสารกัมมันตรังสี
  4. อุตสาหกรรมเหมืองแร่ รวมถึงธุรกิจเหมืองแร่ถ่านหิน หรือธุรกิจการค้าถ่านหิน
  5. อุตสาหกรรมการผลิตโลหะทุกประเภท
  6. อุตสาหกรรมการผลิตสารเคมี และวัตถุอันตราย
  7. อุตสาหกรรมการเกษตร (เพาะปลูก)

** อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ธนาคารอาจจะมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมในภายหลังเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงระดับเครดิตพอร์ตโฟลิโอและระดับธุรกรรมตามนัยสำคัญ และบริบทที่เปลี่ยนไป


กระบวนการพิจารณาสินเชื่อและการคัดกรองความเสี่ยงด้าน ESG (ESG Integration in Loan Screening Process)

ในกระบวนการพิจารณาให้สินเชื่อของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อโครงการ สินเชื่อเพื่อธุรกิจ และสินเชื่อส่วนบุคคล ธนาคารได้ผนวกประเด็นด้าน ESG เข้าไปในกระบวนการคัดกรอง เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบในแต่ละด้านของ ESG โดยจะต้องผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับที่ธนาคารกำหนดไว้ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ รวมทั้งเมื่อได้รับวงเงินสินเชื่อแล้ว จะมีการติดตามการใช้วงเงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเงื่อนไขและมีการทบทวนวงเงินสินเชื่อตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าได้ดำเนินการในการบริหารจัดการประเด็นด้าน ESG อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามข้อกำหนด ตลอดระยะเวลาของการกู้ยืม




ผลการดำเนินการปี 2566 และเป้าหมายการดำเนินงาน

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในปี 2566 และแผนการดำเนินการ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความมุ่งมั่นในการเป็นส่วนสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นระบบ

ผลการดำเนินงาน
100% ของสินเชื่อเพื่อโครงการ (Project Finance) พิจารณาตามกรอบการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ได้รับการประเมินความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาล สังคม และสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายการดำเนินงาน
ธนาคารกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานด้านการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) สินเชื่อโครงการ (Project Finance) สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก (SMEs) ทั้งหมด จะต้องผ่านการพิจารณาประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ตามกระบวนการคัดกรองที่ธนาคารกำหนด โดยมีเป้าหมาย 100% ในปี 2567