การบริหารความเสี่ยงองค์กร
เกี่ยวกับความเสี่ยงองค์กร
การบริหารความเสี่ยง
เป็นกระบวนการบริหารจัดการที่จำเป็นและมีความสำคัญในการนำพาให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ท่ามกลางปัจจัยแวดลอมทางธุรกิจ ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกาภิวัฒน์และการแข่งขันสูงเช่นในปัจจุบัน ทั้งนี้ การมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิผลจะสะท้อนถึงการบริหารจัดการที่ดี มีคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ และมีความโปร่งใสที่สามารถตรวจสอบได้อันเป็นรากฐานที่สำคัญซึ่งจะทำให้ธนาคารเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
บมจ.ธนาคารกรุงไทย
ซึ่งเป็นสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงองค์กรโดยรวม (Enterprise Risk Management: ERM) นอกจากการบริหารความเสี่ยงตามกรอบของข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ในปี 2550 ธนาคารยังได้เริ่มนำกรอบการบริหารความเสี่ยงองค์กร (Enterprise Risk Management Framework) ตามมาตรฐานของ Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission: COSO มาใช้ในการบริหารและจัดการความเสี่ยงโดยบุคลากรทุกระดับ ได้แก่ คณะกรรมการ ผู้บริหารระดับสูง และพนักงาน มีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดการ หรือควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือยอมรับได้ และสามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ กลยุทธ์ พันธกิจ และวิสัยทัศน์ตามที่ธนาคารกำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ความเสี่ยงหลักที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญ 5 ด้าน
1. ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk)
หมายถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการกำหนดแผนกลยุทธ์ แผนดำเนินงาน และการนำไปปฏิบัติไม่เหมาะสม หรือไม่สอดคล้องกับปัจจัยภายในและสภาพแวดล้อมภายนอก อันส่งผลกระทบต่อรายได้เงินกองทุน หรือความดำรงอยู่ของกิจการ
2. ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk)
หมายถึง โอกาสหรือความน่าจะเป็นที่คู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามภาระที่ตกลงไว้ รวมถึงโอกาสที่คู่ค้า จะถูกปรับลดอันดับความเสี่ยงด้านเครดิต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้และเงินกองทุนของสถาบันการเงิน
3. ความเสี่ยงด้านตลาด (Market Risk)
หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ย อัตราแลก เปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และราคาตราสารในตลาดเงินตลาดทุน ที่มีผลกระทบในทางลบต่อรายได้และเงินกองทุนของสถาบันการเงิน
4. ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk)
หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่สถาบันการเงินไม่สามารถชำระหนี้สินและภาระผูกพันเมื่อถึงกำหนดเนื่องจากไม่สามารถเปลี่ยนสินทรัพย์ เป็นเงินสดได้ สามารถจัดหาเงินทุนได้เพียงพอ หรือสามารถหาเงินมาชำระได้แต่ด้วยต้นทุนที่สูงเกินกว่าระดับที่ยอมรับได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อ รายได้และเงินกองทุนของสถาบันการเงิน
5. ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operational Risk)
หมายถึง ความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากการขาดการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือขาดธรรมาภิบาลในองค์กรและการขาดการควบคุมที่ดี โดยอาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการ ปฏิบัติงานภายใน คน ระบบงาน หรือเหตุการณ์ภายนอก และส่งผลกระทบต่อรายได้และเงินกองทุนของสถาบันการเงิน
ข้อมูลเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ