รายงานความยั่งยืน

สารจากประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่

ในปี 2566 ถือว่าเป็นปีที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ รวมถึงการฟื้นฟูผลกระทบและรับมือความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ควบคุมปริมาณหนี้ครัวเรือน ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ผลกระทบจากประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในหลากหลายภูมิภาค รวมถึงวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยธรรมชาติที่ต้องการความร่วมมือจากผู้นำประเทศทั่วโลกในการควบคุมหรือบรรเทาผลกระทบที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ประเด็นความท้าทายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด


ธนาคารในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ได้วางแผนยุทธศาสตร์ครอบคลุมกรอบระยะเวลาทั้งระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อให้การดำเนินการทางยุทธศาสตร์เป็นไปอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์และฉากทัศน์ เพื่อร่วมเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนและเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ผ่านการผสมผสานการใช้นวัตกรรมทางดิจิทัลและการเงิน เชื่อมสังคมเข้าด้วยกัน เพื่อพลิกสังคมไทยให้ยั่งยืน เข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมและเป็นส่วนช่วยลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ทั้งทางตรงและทางอ้อมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครอบคลุม โดยคณะกรรมการและคณะผู้บริหารได้ติดตามและให้ความเห็นต่อการขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมอบหมาย ขยายขอบเขตความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมประเด็นความท้าทายใหม่อย่างเหมาะสม ซึ่งธนาคารได้นำข้อมูลความท้าทายปัจจุบัน ความคาดหวังของหน่วยงานกำกับดูแลทั้งระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งรวมถึง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) หลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) พร้อมทั้งข้อคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนำมาประกอบการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยขยายขอบเขตไปยังการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กร กลุ่มองค์กร เพื่อขยายขีดความสามารถในการสร้างผลกระทบเชิงบวกและลดผลกระทบเชิงลบ ตลอดจนความสามารถในการบริหารความเสี่ยงตลอดห่วงโซ่อุปทาน


การร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียถือเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง ในการขยายผลการดำเนินการทางด้านความยั่งยืนของธนาคารและของประเทศ ธนาคารร่วมกับสมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามเจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Declaration) โดยกำหนดเป้าหมายแห่งพันธกิจการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขยายผลไปยังกลุ่มลูกค้า คู่ค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ให้สามารถเดินตามเส้นทางแห่งความยั่งยืน สอดรับกับแนวนโยบายรัฐบาลที่ประกาศเป้าหมายของประเทศไทย ในการสนับสนุนประเทศไทยในการขับเคลื่อนไปสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 โดยธนาคารได้วางแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1, 2 และ 3 ครอบคลุมทั้งพื้นที่ดำเนินการ และห่วงโซ่อุปทานของธนาคาร ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ตลอดจนมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการวางแผนเปลี่ยนผ่านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Transition Plans) สอดรับกลุ่มอุตสาหกรรมการเงินและการธนาคารในการดำเนินการตามแผนระดับประเทศ ควบคู่ไปกับการเสริมศักยภาพการดำเนินการของธนาคารผ่านการศึกษาหาความรู้และพัฒนาคน เพื่อยกระดับขีดความสามารถของธนาคารในด้าน Net Zero ตั้งแต่ระดับคณะกรรมของธนาคาร ผู้บริหารระดับสูง ไปจนถึงทีมบริหารความเสี่ยง ทีมบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าและผู้เชี่ยวชาญกลุ่มอุตสาหกรรม ที่ทำงานสอดประสานกับคณะกรรมการขับเคลื่อนความยั่งยืน นอกเหนือจากมิติด้านสิ่งแวดล้อมแล้วนั้น ธนาคารยังได้ขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนครอบคลุมมิติสังคมผ่านการดำเนินการ ด้านสิทธิมนุษยชน ได้ดำเนินการตามแนวทางการตรวจสอบสถานะสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) และการส่งเสริมการเพิ่มโอกาสทางการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม และการดำเนินกิจการเพื่อสังคมในการให้ความรู้ทางการเงินและดิจิทัล (Digital Financial Literacy) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในสังคมโดยผลการดำเนินการเป็นไปตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้และเป็นปีแห่งการริเริ่มวางรากฐานให้แก่ธนาคารและสังคม ก้าวสู่ความยั่งยืนต่อไป



นายลวรณ แสงสนิท
ประธานกรรมการธนาคาร





นายผยง  ศรีวณิช
กรรมการผู้จัดการใหญ่