สารจากประธานกรรมการ
และกรรมการผู้จัดการใหญ่

สารจากประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่

สารจากประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่
สารจากประธานกรรมการธนาคาร

ในปี 2567 ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อและทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วทางการค้าและเทคโนโลยีอย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนภายใต้ภาวะอุปทานส่วนเกิน (Over Supply) ได้เร่งให้การแข่งขันด้านราคาทวีความเข้มข้นขึ้น กระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมและ SMEs ไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องปรับตัวกับกระแสการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ (Mega-trend) ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตลอดจนการเข้าสู่สังคมสูงวัย ขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของไทย ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำทางรายได้และโอกาส ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และจำนวนประชากรกลุ่มเปราะบางที่ยังคงมีอยู่มาก ซึ่งภาครัฐได้ดำเนินมาตรการระยะสั้นในการบรรเทาค่าครองชีพและการกระตุ้นกำลังซื้อ รวมถึงมาตรการยกระดับเศรษฐกิจไทยในระยะกลางและระยะยาว

ภายใต้ความท้าทายต่าง ๆ รอบด้านและสถานการณ์ความไม่แน่นอนดังกล่าว ธนาคารจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการดำเนินธุรกิจทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยมุ่งดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์และการบริหารพอร์ตโฟลิโอเพื่อรักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทนที่มุ่งเน้นคุณภาพ พร้อมกับการซ่อมสร้างงบดุลให้มีความแข็งแกร่งและมั่นคงผ่านการรักษาระดับ Coverage Ratio ให้อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการรักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเตรียมพร้อมรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ พร้อมรับการเติบโตของอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอนาคต

ธนาคารกรุงไทยในฐานะธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรม มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มในทุกมิติ ควบคู่กับการขับเคลื่อนธุรกิจที่สร้างความสมดุลทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าบุคคลผ่านการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน การออม การลงทุนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม โปร่งใส ผ่านทุกช่องทางซึ่งครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินอย่างยั่งยืน ลูกค้าธุรกิจ อาทิ ลูกค้า SME และธุรกิจขนาดใหญ่ ด้วยการเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจไทย รวมถึงลูกค้าภาครัฐ ที่ธนาคารได้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ รวมทั้งช่วยให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชน สามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) อย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด มุ่งมั่นขับเคลื่อนการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน และเป็นอุปสรรคสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยตัวอย่างการดำเนินงานสำคัญของธนาคารในปี 2567 เช่น โครงการรวมหนี้ข้าราชการยั่งยืน และมาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง รวมทั้งการสนับสนุนโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ในปี 2568 เพื่อช่วยลดภาระทางการเงินให้แก่ลูกหนี้อย่างตรงจุด ร่วมตอบโจทย์การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม

จากผลการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของธนาคารในช่วงที่ผ่านมา ได้สนับสนุนการดำรงบทบาทของธนาคารในการเป็นเสาหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ด้วยการทำหน้าที่เป็น Thailand Open Digital Platform ซึ่งช่วยสร้างโอกาสให้คนไทยสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และช่วยสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าและประชาชน นอกจากนั้นธนาคารได้ร่วมผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้สนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เพื่อตอบโจทย์ Future Economy และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เพื่อมุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้วิถีชีวิตยุคใหม่ให้กับคนไทยทุกคน ผลักดันการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตามวิสัยทัศน์ กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน อย่างต่อเนื่อง ผ่านการให้ความสำคัญต่อแนวทางการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมแก่ผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน การปลูกฝังสร้างวัฒนธรรมองค์กรเพื่อมุ่งดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ สุจริต โปร่งใส ประกาศนโยบายไม่ทนต่อการทุจริต (Zero Tolerance) รวมทั้งการดำเนินธุรกิจเป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และกฎระเบียบของหน่วยงานกำกับ เพื่อมุ่งสร้างความไว้วางใจกับสาธารณชน (Public Trust) และเป็นพันธมิตรที่ลูกค้าไว้วางใจ ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของธนาคารดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในหลาย ๆ ด้าน อาทิ กำไรสุทธิของธนาคารที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเติบโตของสินเชื่อที่มุ่งเน้นคุณภาพ การบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังและมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นเรื่องเสถียรภาพจากการตั้งสำรองในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์และความแข็งแกร่งของเงินกองทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น ตลอดจนการได้รับการยอมรับในฐานะองค์กรที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ทันสมัย สร้างคุณค่า ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าทุกกลุ่มในทุกมิติ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้นในทุกวัน โดยยังคงให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยในปี 2567 ธนาคารได้รับ 88 รางวัลจากองค์กรชั้นนำในประเทศและต่างประเทศ อาทิ การประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ในระดับ “AAA” ซึ่งเป็นระดับสูงสุดจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2 ปีต่อเนื่อง การได้รับคัดเลือกจาก S&P Global ให้อยู่ในทำเนียบธุรกิจที่มีความยั่งยืน The Sustainability Yearbook 2024 กลุ่มธนาคาร รางวัล Best Digital Bank Thailand 2024 จาก World Economic Magazine รางวัล Best Digital Business Solutions Bank Thailand 2024 จาก Global Business Review และรางวัล Asia Pacific Enterprise Awards 2024 สาขา Corporate Excellence จาก Enterprise Asia เป็นต้น

ในปี 2568 ธนาคารกรุงไทยมุ่งขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แนวคิด “Corporate Value Creation เสริมทักษะ สร้างคุณค่า สู่อนาคต” ผ่านการเสริมสร้างทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นในอนาคต (Future Skill) ให้แก่พนักงาน สร้างทัศนคติเชิงบวกในการเรียนรู้สิ่งใหม่ นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประกอบใช้ในการทำงาน เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของธนาคาร เพื่อมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มในทุกมิติได้อย่างตรงจุด ยึดแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) พัฒนาระบบติดตามและตรวจสอบที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันเพื่อช่วยลดปัญหาการทุจริต รวมทั้งเตรียมพร้อมรับมือกับอาชญากรรมทางไซเบอร์รูปแบบใหม่ ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมส่งมอบประสบการณ์ที่ดีและสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้าของธนาคารบนความไว้วางใจของลูกค้า อันจะนำไปสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนของธนาคารในอนาคต

ในนามของคณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และบริษัทในเครือ ผมขอขอบพระคุณผู้ถือหุ้น พันธมิตรทางธุรกิจ ลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนทุกท่าน สำหรับความเชื่อมั่นและความไว้วางใจที่ได้มอบให้กับธนาคารกรุงไทยเสมอมา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะยังให้การสนับสนุนธนาคารอย่างต่อเนื่องและตลอดไป



นายลวรณ แสงสนิท
ประธานกรรมการธนาคาร



สารจากกรรมการผู้จัดการใหญ่

เศรษฐกิจไทยปี 2567 ยังเติบโตในรูปแบบ “K-shaped Economy” โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจาก การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ผนวกกับแรงสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการบรรเทาภาระค่าครองชีพของภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตามภาคอุตสาหกรรมเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เห็นได้ชัดเจนจากอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนทำให้สินค้านำเข้าทะลักเข้ามาตีตลาด กระทบผู้ประกอบการ SMEs นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการแข่งขัน และภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่รายได้ของครัวเรือนบางกลุ่มยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย จึงยังเติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพ

ภายใต้สภาพแวดล้อมและความท้าทายดังกล่าว ธนาคารจึงดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังและรอบคอบ โดยมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ บริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ ลงทุนในนวัตกรรมและธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างระมัดระวังและมีวินัยให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินทรัพย์ รักษา Coverage ratio ในระดับสูง ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่เหมาะสมเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและความท้าทายจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างไม่ทั่วถึง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางให้สามารถปรับตัวและฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน และร่วมสนับสนุนการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศ ช่วยให้ลูกค้ามีโอกาสฟื้นตัว ปรับตัว ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างรายได้ที่พอเพียงและยั่งยืน จากแนวทางการดำเนินการดังกล่าว ส่งผลให้ในปี 2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 43,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8 จากปีก่อน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้การดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอย่างมีคุณภาพจากการเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มยุทธศาสตร์ของธนาคาร การเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมและควบคุมคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ในปี 2567 ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินตาม 7 ยุทธศาสตร์หลัก (7 Strategic Focus) อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเร่งการดำเนินงาน (Execute) เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันและโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต และมีผลการดำเนินงานสำคัญในปี 2567 ได้แก่ 1) ปลดล็อกศักยภาพในการสร้างมูลค่าจากการทำธุรกิจกับคู่ค้าของลูกค้า (X2G2X) เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็น Thailand Open Digital Platform เปิดกว้างให้ประชาชนทุกคนใช้บริการได้โดยมีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 40 ล้านราย ผ่านบริการที่หลากหลาย อาทิ Wallet สบม. (สะสมบอนด์มั่งคั่ง), หุ้นกู้ดิจิทัล, Krungthai Gold Wallet, สลากดิจิทัล, เป๋าตังเพย์, Health Wallet, บริการขอรับใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการสำคัญอื่นๆ ที่สร้างความเชื่อมโยงเชิงลึกไปสู่กลุ่มลูกค้าต่างๆ เช่น พอยท์เพย์จ่ายแทนเงินสดในร้านค้าถุงเงิน และการต่อยอดการเชื่่อมโยงจาก Krungthai Business ไปยังแพลตฟอร์ม PromptBiz ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการชำระเงินกลางสำหรับภาคธุรกิจ 2) ขับเคลื่อนประสิทธิภาพองค์กรด้วยดิจิทัลและข้อมูล เช่น การพัฒนาฟีเจอร์ต่าง ๆ ของ Krungthai NEXT ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 18 ล้านคน, Krungthai Business, Krungthai Smart Trade 3) เปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่เพื่อสร้างการเติบโตในมิติใหม่ เช่น การร่วมกับพันธมิตรยื่นขอใบอนุญาตธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อมุ่งช่วยเหลือกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน เช่น Underserved (กลุ่มเปราะบาง) และ SME (ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก) และพัฒนาบริการ Banking as a Service เพื่อให้บริการแก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบางราย 4) สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างครอบคลุม เท่าเทียม และยั่งยืน จากการเป็นผู้นำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทาง ESG อย่างครบวงจรผ่าน Transition Financing ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สินเชื่อสีเขียว (Green Loan), สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan), เงินฝากสีเขียว (Green Deposit) และ ESG-Linked Derivatives นอกจากนี้ ธนาคารยังได้เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่่อสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินในกลุ่มลูกค้าฐานราก เช่น โครงการ Digital Supply Chain Financing 5) พัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถการทำงานแห่งอนาคต เช่น ความร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับฟิเดลิตี้้ อินเตอร์เนชันแนล (Fidelity International) เพื่อยกระดับบริการบริหารความมั่งคั่่งของธนาคาร ความร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ Accenture ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจการเงินในอนาคต การจัดตั้งกรุงไทยเวนเจอร์ส เพื่อมุ่งเน้นการลงทุนที่สอดคล้องกับยุทธศาตร์ธนาคารและสร้าง การเติบโตใหม่ ๆ การร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตร AIS และ PTTOR ในการยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ Virtual Banking เพื่อเสริมศักยภาพจากพันธมิตร ที่มีข้อมูลและระบบนิเวศที่แตกต่างจากที่ธนาคารมีปกติมาเสริมเพิ่ม เพื่อให้ธนาคารมีศักยภาพผ่านการให้บริการ Virtual Bank 6) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีหลักขององค์กร เช่น การใช้ Public Cloud และ Private Cloud เข้ามาช่วยสนับสนุน การดำเนินธุรกิจของธนาคาร 7) ปฎิรูปวัฒนธรรมและปลูกฝังวิธีการทำงานแบบใหม่ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรด้วยความคล่องตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น upskill และ reskill ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน, โครงการ Wolf Hack เปลี่ยนวิธีการทำงานแบบ Agile และใช้ Artificial Intelligence (AI) ในการทำงาน, ร่วมมือกับ Accenture ผ่านบริษัทร่วมทุน Arise และร่วมกับ IBM ผ่านบริษัท ร่วมทุน IBMDT เพื่อร่วมพัฒนา Digital Talent สร้างและดึงดูดนวัตกรที่มีศักยภาพรุ่นใหม่ ให้มาร่วมงานกับธนาคารและเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธนาคารสู่องค์กรดิจิทัล

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ยังคงเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวเป็นลำดับ ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การลงทุนที่ได้รับอานิสงส์จากกระแสการย้ายฐาน การผลิต และความต่อเนื่องของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐ แต่เศรษฐกิจในภาพรวมยังถือว่าขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพในอดีตและมีความเสี่ยงจากทั้งภายในและนอกประเทศที่รุนแรงขึ้น อาทิ ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ (Geopolitical & Geoeconomic risks) โดยเฉพาะสถานการณ์สงครามการค้าระลอกใหม่ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก ตลอดจนการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกของไทย และกระตุ้นให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาตีตลาดในไทยและตลาดส่งออกของไทยมากขึ้น ท่ามกลางความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green transition) การก้าวสู่สังคมสูงวัยที่เข้มข้นขึ้น แรงกระแทกจากเทคโนโลยีที่พลิกผัน (Technology Disruption) โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI ที่จะเปลี่ยนวิถีการดำเนินธุรกิจและวิถีการทำงานไปอย่างสิ้นเชิง รวมถึงภัยทุจริตทางไซเบอร์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ตลอดจนความท้าทายเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่สะสมมานาน ได้แก่ เศรษฐกิจนอกระบบที่มีขนาดใหญ่ ปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ความเหลื่อมล้ำสูง และภาคธุรกิจขาดความสามารถในการแข่งขันที่สอดรับกระแสโลกเปลี่ยน ขณะที่ภาครัฐมีข้อจำกัดด้านงบประมาณและการก่อหนี้สาธารณะมากขึ้น ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้จะนำไปสู่จุดเปลี่ยนหรือ Inflection Point ที่ต้องการการปรับตัวอย่างเร่งด่วนในหลากหลายมิติ

เพื่อให้สามารถตอบรับกับกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่าง ๆ ที่่เข้ามากระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจในอนาคต สามารถตอบโจทย์ ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนได้อย่างตรงจุด มีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว ในสภาวะที่โลกจะต้องเผชิญกับความท้าทายที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ในปี 2568 ธนาคารกรุงไทยจึงมุ่งขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แนวคิด “Corporate Value Creation เสริมทักษะ สร้างคุณค่า สู่อนาคต” ผ่านการสร้างการเรียนรู้ที่เจาะลึกและรอบด้านให้แก่พนักงาน เพื่อให้เข้าใจและสามารถเตรียมพร้อมรับมือความท้าทายต่างๆ ด้วย Growth Mindset เสริมสร้างการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อนำมาพัฒนาทักษะและขีดความสามารถของพนักงานให้สามารถรู้เท่าทัน สามารถนำมาประยุกต์ใช้และทำงานร่วมกับเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่ เรียนรู้และสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานและรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งสร้างศักยภาพในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ใช้ทรัพยากรขององค์กรให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและความเสี่ยง มุ่งตอบโจทย์ความต้องการและส่งมอบคุณค่าให้แก่ลูกค้า คนไทย ธุรกิจไทย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน สนับสนุนให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้นำได้ตามพันธกิจอย่างโดดเด่นพร้อมมุ่งสู่การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ นำไปสู่การสร้างผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างมั่นคง แข็งแรงและยั่งยืนในอนาคต นอกจากนี้ ธนาคารยังมุ่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือให้คนไทย ธุรกิจ SME ไทย ให้สามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนตามแนวทางการแก้หนี้้ยั่งยืน (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนธนาคารจะร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจผสานความแข็งแกร่งทั้งด้านเทคโนโลยีข้อมูล (Data) และระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อมุ่งช่วยเหลือกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน โดยจะมุ่งต่อยอดความแข็งแกร่งจากจุดแข็งของแต่ละพันธมิตรทางธุรกิจอย่างเต็มที่ มุ่งตอบโจทย์การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบ สร้างการเติบโตของรายได้จาก ฐานลูกค้าใหม่ ๆ ในกลุ่ม Underserved (กลุ่มเปราะบาง) และ SME (ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก) ให้แก่ธนาคาร เพื่อเป็น New Growth Engine ที่จะนำกรุงไทยก้าวไปสู่ Beyond Banking Business ในอนาคต

สำหรับยุทธศาสตร์ธนาคารในปี 2568 ธนาคารได้ทบทวนและปรับเปลี่ยนจาก 7 ยุทธศาสตร์หลัก (7 Strategic Focus) นำมาปรับการจัดกลุ่มใหม่เป็น 5 ยุทธศาสตร์หลัก (5 Strategic Focus) ที่สามารถเข้าใจและเชื่อมโยงได้ชัดเจนขึ้น อีกทั้งสอดรับกับสภาวการณ์ของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง เพื่อมุ่งตอบโจทย์ในการปรับเปลี่ยนและเตรียมความพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่โลกแห่งอนาคต โดยสามารถแบ่งตามองค์ประกอบสำคัญ 3 ด้าน ดังนี้

1. ผลลัพธ์ที่ต้องการ (Outcomes)
1.1 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและผลกำไรจากระบบนิเวศธุรกิจ ในปัจจุบันของธนาคารให้ได้อย่างเต็มศักยภาพมากขึ้น (Unlock disproportionate value from our current ecosystems)
เร่งต่อยอดยุทธศาสตร์ X2G2X ให้เกิดการเชื่อมโยงในเชิงลึกในกลุ่มลูกค้าต่าง ๆ ทั้ง B2B, B2C, G2B และ G2C และมี Platform ที่ตอบโจทย์คู่ค้าของลูกค้านำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบ “Total Solutions” ตลอดจนประสานการดำเนินธุรกิจทั้งในส่วนของธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจของธนาคารในลักษณะ ONE Krungthai
1.2 สร้างแพลตฟอร์มใหม่ที่ส่งเสริมการเติบโตในอนาคต (Launch new growth platforms for the future) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างครบวงจร ทำให้ประชาชนทุกระดับชั้นเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น และเป็นมากกว่าการให้บริการทางการเงิน ได้แก่ Wealth-Tech, Virtual Banking, Banking as a Service เป็นต้น รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทาง ESG และการพัฒนาที่ยั่งยืน

2. ปัจจัยสนับสนุนนำไปสู่ผลลัพธ์ (Enablers)
2.1 ยกระดับการให้บริการลูกค้าทั้งระบบแบบ End to End (Upgrade the way we interact and serve our clients)
นำเสนอรูปแบบและวิธีการบริการใหม่ ๆ จากต้นจนจบที่ทันสมัย รวดเร็ว ปลอดภัย และเชื่อมโยงกันมากขึ้น การเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการภายในของธนาคาร โดยเร่งนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ (Process Digitization) เพื่อตอบโจทย์ได้ตรงรูปแบบและประเภทลูกค้าทั้งลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคลผ่านช่องทางหลากหลายทั้ง Online และ Offline (O2O) ตามความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน (Operating Model) ที่จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. รากฐานสำคัญขององค์กร (Foundation)
3.1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีและข้อมูลให้พร้อมสำหรับการก้าวสู่อนาคต (Future proof core technology infrastructure and data capabilities)
เพื่อสนับสนุนการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุด และสร้างความมั่นใจของลูกค้าที่ให้ความไว้วางใจในการใช้บริการของธนาคาร รวมทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งในด้านการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล (Data Analytics) เพื่อให้เข้าใจความต้องการของลูกค้าและก้าวเข้าสู่การเป็น Personalized Banking ผ่านหลากหลายช่องทาง รวมถึงสร้างพัฒนาองค์ความรู้ และ AI มาใช้ได้อย่างเหมาะสมและคุ้มค่า
3.2 ขับเคลื่อนวัฒนธรรมและการทำงานรูปแบบใหม่เพื่อให้พร้อมต่อทุกความท้าทายและทุกการเปลี่ยนแปลง (Transform culture and embed new ways of working) กล้าเปลี่ยน เพื่อก้าวนำ เร่งปรับวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ พร้อมยกระดับพนักงานให้มีทักษะใหม่ ๆ (upskill และ reskill) โดยเฉพาะทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ผนวกกับการใช้ระบบการประเมินผลงานและโครงสร้างผลตอบแทนที่แข่งขันได้ (Performance Driven) สามารถดึงดูด สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) เพื่อรักษาคนดี คนเก่งให้คงอยู่กับธนาคาร พร้อมมุ่งสู่การเป็นองค์กรต้นแบบให้พนักงานทุกคนภาคภูมิใจในการเป็นกรุงไทย ธนาคารเชื่อมั่นว่าการดำเนินการตามแนวคิดและยุทธศาสตร์หลักของธนาคารดังกล่าว จะสามารถขับเคลื่อนองค์กรเพื่อบรรลุภารกิจและเป้าหมายสำคัญของธนาคาร ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธนาคารและผลตอบแทนให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ จากการเพิ่มรายได้ การบริหารจัดการต้นทุนในการดำเนินงาน การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล การเติบโตในกลุ่ม Underserved (กลุ่มเปราะบาง) และ SME (ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก) ตลอดจนการเติบโตของธุรกิจที่สอดรับไปกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสำคัญของโลกในมิติต่าง ๆ (Mega Trend) ภายใต้การบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม

ธนาคารขอขอบคุณท่านผู้ถือหุ้น ลูกค้า และพันธมิตรทุกราย ที่ได้ให้ความไว้วางใจ เชื่อมั่นและให้การสนับสนุนธนาคารให้สามารถขับเคลื่อน เพื่อให้บรรลุพันธกิจ เพิ่มขีดความสามารถ เสริมสร้างศักยภาพ และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่่อนให้คนไทย ธุรกิจไทย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้้นภายใต้วิสัยทัศน์ กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่่งยืน และที่สำคัญธนาคารขอขอบคุณคณะกรรมการธนาคารและพนักงานของเราที่มุ่งมั่น ทุ่มเท ร่วมแรงร่วมใจ ในการทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ พร้อมปรับเปลี่ยนเร่งพัฒนา ช่วยผลักดันภารกิจต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ร่วมสร้างคุณค่าและความสำเร็จให้ธนาคารกรุงไทย และในปี 2568 นี้ด้วยการดำเนินการตาม 5 ยุทธศาสตร์หลัก ธนาคารเชื่อมั่นว่า ธนาคารจะมีความพร้อมในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยที่จะสามารถตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยธนาคารจะยึดมั่นแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงิน ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ทันสมัยในทุกช่องทาง มุ่งสร้างโอกาสให้คนไทยและธุรกิจไทย ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม มุ่งขับเคลื่อนองค์กรที่เสริมทักษะ สร้างคุณค่า สู่อนาคต ให้เกิดขึ้นจริง อย่างเป็นรูปธรรม เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทย เคียงข้างประชาชนชาวไทยและธุรกิจไทย อันจะนำไปสู่การสร้างคุณค่าอย่างมั่นคงและยั่งยืนให้กับธนาคารกรุงไทยตลอดไป



นายผยง  ศรีวณิช
กรรมการผู้จัดการใหญ่