รายงานความยั่งยืน

ผลิตภัณฑ์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

       ธนาคารในฐานะสถาบันการเงิน มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการสนับสนุนทางการเงิน โดยธนาคารได้ให้การสนับสนุนธุรกิจ เพื่อพัฒนานวัตกรรม ช่วยส่งเสริมและพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ นอกจากสร้างผลกำไรทางธุรกิจ และเกิดการจ้างงานแล้ว ยังมีส่วนสำคัญต่อการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยที่ผ่านมามีตัวอย่างธุรกิจที่ธนาคารให้การสนับสนุนธุรกิจเป็นสีเขียว (GO GREEN) ดังนี้

บจก.คิงส์ เอ้กส์(ประเทศไทย)...“เปลี่ยนมูลไก่” เป็น “รายได้หลักล้าน”

คิงส์เอ้กส์ ราชาไข่ไก่ หรือที่รู้จักดีในฐานะฟาร์มผู้จำหน่ายไข่ไก่ขนาดใหญ่ เดินหน้าเปลี่ยนวิกฤตมูลไก่ ส่งกลิ่นเหม็นให้กลายเป็นโอกาสในการสร้างรายได้หลักล้านบาทต่อเดือน จุดเริ่มต้นคือธุรกิจประสบปัญหามูล ไก่ไข่ปริมาณมาก จนไม่สามารถระบายออกได้ทัน เกิดเป็นกลิ่นเหม็นรบกวนภายในชุมชน จึงเป็นที่มาในการ ขอเข้ารับการสนับสนุนโครงการเงินกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม ภาคเอกชน จากธนาคารกรุงไทย เพื่อจัดหาเครื่องจักร แปรสภาพมูลไก่ให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง โดยภายหลังเสร็จสิ้นขั้นตอนการผลิตปุ๋ยจะปราศจากของเสียอันส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และเพราะได้รับ การสนับสนุนจากโครงการนี้ ทำให้ คิงส์เอ้กส์ สามารถแปรสภาพมูลไก่ เป็นปุ๋ยอินทรีย์จำนวนกว่า 500 ตันต่อ เดือน นำมาซึ่งรายได้เดือนละกว่า 5 ล้านบาท อันแสดงให้เห็นว่าแนวคิดการทำธุรกิจนี้ นอกจากเป็นการเพิ่มรายได้ต่อธุรกิจแล้วยังช่วยลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมและทำให้ธุรกิจอยู่เคียงคู่ชุมชน ได้อย่างยั่งยืน



บจ. ไทยรุ่งเรืองพลังงาน

เป็นบริษัทในกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง โรงงานอยู่ที่ อ. วังม่วง จ.สระบุรี โดยกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายนั้น จะเกิดสิ่งหนึ่งที่เรียกว่ากากน้ำตาล หรือ โมลาส จำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถตกผลึกเป็นน้ำตาลทรายได้อีก ทางออกของการใช้ประโยชน์จากกากน้ำตาล คือการนำมาแปรรูปเป็นสุราหรืออาหารสัตว์ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง กากน้ำตาล เป็นได้มากกว่านั้น ทำให้ บริษัท ไทยรุ่งเรืองพลังงาน จำกัด ได้มองหาช่องทางเพิ่มรายได้ ให้กับชาวไร่อ้อย และมองเห็นคุณค่าของกากน้ำตาล ในการเพิ่มมูลค่าของกากน้ำตาล สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนในชุมชน เป็นการดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับการคำนึงถึง ความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของธนาคารกรุงไทย จึงเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยการ สนับสนุนสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม นำไปพัฒนากระบวนการผลิตก๊าซชีวภาพ หรือ Biogas จากกากน้ำตาล ผ่านบ่อหมักก๊าซชีวภาพ ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำและไฟฟ้า เป็นพลังงานทดแทนที่นำมาใช้ภายในกิจการ และสร้างรายได้ รอยยิ้มให้คนในชุมชน



ร่วมกำลาภพาวเวอร์ เปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า

“ขยะ” ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างมลพิษระยะยาว แค่เพียง “กำจัด” ให้พ้นไปไม่เพียงพอ แต่ถ้า “จัดการ” ให้ดี ขยะก็สามารถเพิ่มมูลค่าได้ ยิ่งโดยเฉพาะของเสียจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ บริษัท ร่วมกำลาภพาวเวอร์ จำกัด ที่เคยรับซื้ออ้อยปีละ10 ล้านตัน เพื่อผลิตน้ำตาล ส่งผลให้เกิดชานอ้อยเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก โดยบริษัทได้นำชานอ้อยที่เหลือทิ้ง มาต่อยอดธุรกิจ โรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งการลงทุนครั้งนี้ จำเป็นต้องใช้เงินทุนมหาศาลเพื่อจัดตั้งโรงงาน และเทคโนโลยีที่ช่วยให้ระหว่างการผลิตพลังงานนั้นไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมอีกต่อหนึ่ง โดยธนาคารกรุงไทยได้ร่วมให้การสนับสนุนเงินลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้บริษัทผลิตไฟฟ้ากล่องดักจับเขม่าควันที่มีประสิทธิภาพในการลดมลพิษในอากาศ จนทำให้ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 140 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี ซึ่งมีมูลค่า 420 ล้านบาท/ปี ซึ่งกระแสไฟเหล่านี้ได้กระจายสู่สังคม และยังไม่ทำร้ายชุมชนรอบข้าง



       เพราะปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นปัญหาที่ได้รับผลกระทบในวงกว้าง และด้วยความตระหนัก ถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ธนาคารกรุงไทย จึงดำเนินการโครงการเงินกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมภาคเอกชน (KTB Environment Loans for Private Sector) เพื่อส่งเสริมภาคเอกชนในการจัดสร้างระบบบำบัดมลพิษ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและนำมาซึ่งสิ่งดี ๆ สู่สังคม