รายงานความยั่งยืน


การประเมินประเด็นสาระสำคัญ

ธนาคารดำเนินการประเมินประเด็นที่มีนัยสำคัญด้านความยั่งยืนตามหลักการทวิสารัตถภาพ (Double Materiality) ผ่านแนวทางกรอบมาตรฐานการรายงาน Global Reporting Initiative (GRI) Standards 2021 ซึ่งพิจารณาผลกระทบของการดำเนินงานของธนาคารที่มีต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม (Impact Materiality) ผ่านการสำรวจกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของธนาคาร ควบคู่กับผลกระทบทางการเงินของธนาคารที่เกิดจากปัจจัยด้านความยั่งยืนจากภายนอกต่อมูลค่าของธนาคาร (Financial Materiality) โดยสายงานบริหารความเสี่ยง และทีม Marketing Activation (งาน Sustainability and CSR/CSV) ทำให้สามารถวิเคราะห์ให้เห็นถึงปัจจัยด้านความยั่งยืนที่ส่งผลกระทบ ความเสี่ยง และโอกาสได้อย่างครอบคลุม และยังช่วยจัดลำดับความสำคัญ ตลอดจนวางแผนในการบริหารความเสี่ยงและพัฒนาธุรกิจของธนาคารให้เป็นไปตามหลักการความยั่งยืนที่ธนาคารได้ให้ความสำคัญต่อมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยมีกระบวนการการประเมินประเด็นที่มีนัยสำคัญด้านความยั่งยืน 4 ขั้นตอน ดังนี้


การระบุประเด็น

พิจารณาประเด็นตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าของธนาคาร ผ่านแหล่งข้อมูลทั้งจากภายในและภายนอก จากแนวโน้มด้านความยั่งยืนของอุตสาหกรรม มาตรฐานตามกรอบการรายงานในระดับสากล บริษัทคู่เทียบ ความคาดหวังและผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสรุปออกมาเป็นประเด็น ด้านความยั่งยืนทั้งสิ้น 13 ประเด็น ครอบคลุมมิติด้านธรรมาภิบาล สิ่งแวดล้อม และสังคม


การระบุผลกระทบ

ระบุผลกระทบ ความเสี่ยง และโอกาสด้านความยั่งยืนผ่านแบบสำรวจความคิดเห็น และการสัมภาษณ์กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียภายในและภายนอกธนาคาร เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบ ด้านความยั่งยืนที่เกิดจากการดำเนินงานของธนาคาร และผลกระทบต่อมูลค่าของธนาคาร


การประเมินผลกระทบ

นำเข้าความเห็น บริบทด้านความยั่งยืน และผลกระทบของแต่ละประเด็นที่ได้รับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประเมินความสำคัญของผลกระทบสอดคล้องตามมาตรฐาน GRI ได้แก่ การประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงหรืออาจเกิดขึ้น ผลกระทบเชิงบวกหรือผลกระทบเชิงลบ ผลกระทบระยะสั้นหรือระยะยาว เป็นผลกระทบที่สามารถแก้ไขย้อนกลับได้หรือไม่ และประเมินระดับความรุนแรงของผลกระทบ (ขนาด ขอบเขต และระดับความสามารถในการแก้ไข) และประเมินความเป็นไปได้ของผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ความเสี่ยง และโอกาสที่จะเกิดผลกระทบทางการเงิน โดยอ้างอิงกับกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงของธนาคาร เพื่อวิเคราะห์และจัดลำดับความสำคัญของประเด็นที่มีนัยสำคัญด้านความยั่งยืนต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารทำให้ได้ผลลัพธ์เป็นเมทริกซ์ประเด็นที่มีนัยสำคัญด้านความยั่งยืน


การวิเคราะห์จัดลำดับความสำคัญและการรายงาน

ประมวลผลข้อมูลที่ได้รับจากการจัดทำประเด็นที่มีนัยสำคัญด้านความยั่งยืน และสรุปผลออกมาเป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญด้านความยั่งยืน ซึ่งสะท้อนผลกระทบของการดำเนินงานของธนาคารที่มีต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม (Impact Materiality) และผลกระทบทางการเงินของธนาคารที่เกิดจากปัจจัยด้านความยั่งยืนจากภายนอกต่อมูลค่าของธนาคาร (Financial Materiality) และจัดลำดับประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนสำหรับการรายงานข้อมูล โดยได้ทบทวนและยืนยันโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนความยั่งยืน (Sustainability Management Committee) ซึ่งคณะกรรมการประกอบด้วยผู้บริหารสายงาน (N-1) ที่ดูแลขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนองค์กร


ผลการประเมินประเด็นสาระสำคัญ

จากกระบวนการประเมินประเด็นที่มีนัยสำคัญด้านความยั่งยืน ซึ่งพิจารณาแนวโน้มด้านความยั่งยืนของอุตสาหกรรม มาตรฐานในระดับสากล บริษัทคู่เทียบ ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญของผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม รวมถึงผลกระทบทางการเงินของธนาคาร โดยประเด็นที่มีนัยสำคัญด้านความยั่งยืนของธนาคารกรุงไทย ในปี 2566 แสดงดังนี้