ตามที่ประชุม COP 21 (Conference of Parties เป็นการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21) ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้รับรองความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 โดยเป็นตราสารกฎหมายที่รับรองภายใต้กรอบอนุสัญญา UNFCCC ฉบับล่าสุด ต่อจากพิธีสารเกียวโตและข้อแก้ไขโดฮา เพื่อกำหนดกฎกติการะหว่างประเทศที่มีความมุ่งมั่นมากยิ่งขึ้นสำหรับการมีส่วนร่วมของภาคีในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยต้องงการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และมุ่งพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยได้ดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และความความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อน หรือ Global Warming และได้กำหนดมาตรการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคาร โดยดำเนินโครงการ กรุงไทยรักสิ่งแวดล้อม ติดตั้งเครื่องแปรรูปเศษอาหารเป็นดิน สำหรับการแปรรูปเศษอาหารจากห้องอาหารธนาคารให้กลายเป็นดิน และนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น ปรับภูมิทัศน์ในบริเวณอาคารสำนักงาน บริจาคให้กับโรงเรียน เพื่อนำไปเพาะปลูกผักสวนครัว จากการดำเนินงานในปี 2562-2563 สามารถลดปริมาณขยะได้ 1,955 กิโลกรัม ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 5,047.35 กิโลกรัมคาร์บอนเทียบเท่า ผลิตดินได้ 598.5 กิโลกรัม และสามารถลดค่าใช้จ่ายการจัดการขยะได้ 5,950 บาท นอกจากนี้ ธนาคารยังเลือกใช้เครื่องปรับอากาศ Inverter หลอดไฟฟ้า LED เพื่อเป็นการลดการใช้พลังงานและสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกหนทางหนึ่ง
ธนาคารกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคารลงให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ. 2567 โดยเทียบกับปีฐาน 2562