เรียนรู้การเงิน

Digital Banking เครื่องมือสู่ความสำเร็จ ของ SME ไทย

อัพเดทวันที่ 28 ก.พ. 2567

Digital Banking เครื่องมือสู่ความสำเร็จ ของ SME ไทย

ท่ามกลางกระแสการแข่งขันของธุรกิจ หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีไทยประสบความสำเร็จได้คือ Digital Banking ซึ่งช่วยเสริมศักยภาพเอสเอ็มอีด้วยการจัดหาโซลูชันทางการเงินและธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า สะดวกสบาย รวดเร็ว และเติบโตอย่างยั่งยืน โดยคุณธวัชชัย ชีวานนท์ ประธานผู้บริหาร Product & Business Solutions ธนาคารกรุงไทย มีโซลูชันดีๆ มาฝากลูกค้ากรุงไทย เอสเอ็มอีทุกท่าน


ให้บริการด้านบริหารจัดการทางการเงินแบบครบครัน

คุณธวัชชัยบอกเล่าถึงขอบเขตความรับผิดชอบหลัก ๆ ของประธานผู้บริหาร Product & Business Solutions ว่า "เราดูแลในส่วนของการบริหารจัดการทางการเงินให้กับลูกค้าองค์กร ตั้งแต่หน่วยงานภาครัฐ ลูกค้าขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กอย่างเอสเอ็มอี โดยมีรูปแบบการให้บริการที่หลากหลายและครอบคลุม เช่น ดูแลการเก็บเงิน ดูแลการชำระเงิน การจ่ายเงินซัพพลายเออร์ จ่ายภาษี จ่ายเงินเดือนลูกจ้าง การออกสินเชื่อ วงเงินหมุนเวียน หนังสือค้ำประกัน ตั๋วสัญญา รวมถึง Supply Chain Financing และอีกบริการที่สำคัญคือ บริการการค้าต่างประเทศ ที่มีทั้งสินเชื่อ เอกสารการนำเข้าและส่งออก รวมถึงธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการโอนเงินต่างประเทศทั้งโอนเข้าและโอนออก เป็นต้น"


เอสเอ็มอีมีความตื่นตัวสูง พร้อมนำ Digital Solution มาปรับใช้

"ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Digital Banking มีการพัฒนาต่อเนื่องเป็นลำดับ ยิ่งปัจจุบันค่าบริการอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์เชื่อมต่อต่าง ๆ มีราคาถูกลง ยิ่งทำให้ผู้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ประกอบกับโควิด 19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ดังนั้น เอสเอ็มอีจึงต้องทำความเข้าใจ ปรับตัว และมีความพร้อมในการให้บริการหรือขายสินค้าผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ในส่วนของธนาคารก็ต้องสนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้ก้าวผ่านจากโลกแอนะล็อกมาสู่โลกดิจิทัล ให้ได้ หากเอสเอ็มอีทำได้ก็จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดีมากขึ้นและเติบโตอย่างยั่งยืน"

คุณธวัชชัยกล่าวเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า น่ายินดีที่ลูกค้ากรุงไทยมีความพร้อมในการนำ Digital Solution ต่าง ๆ มาใช้งาน ทำให้ธนาคารกรุงไทยก็ต้องปรับตัวจากบริการแบบดั้งเดิม เร่งขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์และ Business Solution ให้เท่าทันความต้องการของลูกค้ามากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าทำธุรกิจได้เร็วขึ้น หรือแก้ปัญหาบางอย่างของลูกค้า ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น e-Invoice, e-Tax โดยในส่วนของธนาคารกรุงไทยจะต้องขยับทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทีมงานดูแลลูกค้า เช่น RM รวมถึงวิธีการและกระบวนการภายในต่าง ๆ เช่น กระบวนการอนุมัติสินเชื่อ และกระบวนการให้บริการหลังการขาย เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีขึ้นผ่านช่องทางดิจิทัล

"ในมุมของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีความมั่นใจใน Digital Banking มาก เพราะโดยพื้นฐานของการทำธุรกิจธนาคาร ข้อมูลของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จริง ๆ ก่อนกฎหมายอย่าง PDPA จะมีผลบังคับใช้ ธนาคารกรุงไทยก็ปกป้องข้อมูลลูกค้าด้วยความปลอดภัยสูงสุด ทุกอย่างจะมีการแจ้งเตือน และจัดการอย่างทันท่วงที ขณะที่ในอนาคตภัยไซเบอร์ต่าง ๆ เช่น อีเมลหลอกลวง (Phishing Email) คอลเซ็นเตอร์ หลอกลวง รวมถึง Generative AI (ปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้สร้างเนื้อหาใหม่ ๆ ได้หลากหลายแบบอัตโนมัติ เช่น ใช้สร้างข้อความ เสียง รูปภาพ เพลง วิดีโอ ฯลฯ) ที่จะต้องเฝ้าระวังและตื่นตัวมากขึ้น เราก็จะยกระดับการป้องกันภัยรูปแบบใหม่ ๆ ให้รัดกุมยิ่งขึ้น "



Digital Banking พลิกโฉมธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ

คุณธวัชชัยฉายภาพให้เห็นชัดเจนว่า เดิมทีธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเติบโตมาจากการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน ซึ่งต้องพึ่งพาการตรวจสอบเอกสารทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเอกสารการซื้อขาย เอกสารการนำเข้าส่งออก และใบอนุญาต รวมถึงขั้นตอนพิธีการทางศุลกากรต่าง ๆ จะต้องมีรูปแบบมาตรฐาน ซึ่งทุกอย่างอยู่บนกระดาษ แต่ถ้าธนาคารกรุงไทยมีความสามารถในการแปลงข้อมูลไปสู่รูปแบบดิจิทัลได้ ก็จะทำให้ต้นทุนของการทำธุรกิจถูกลง ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด เช่น ผู้นำเข้าและผู้ส่งออก ธนาคารของผู้ซื้อและผู้ขาย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับพิธีการทางศุลกากร ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต่าง ๆ ผู้ให้บริการตู้คอนเทนเนอร์ ผู้ให้บริการชิปปิ้ง ตัวแทนนำเข้าส่งออก เหล่านี้จะได้ประโยชน์มหาศาล ทำให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลูกค้าจะได้รับบริการที่ดีขึ้น รวดเร็ว และปลอดภัย

ปัจจุบันสมาคมธนาคารไทยร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือที่เรียกว่าคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ร่วมมือและผลักดันให้ International Trade Business ก้าวผ่านไปสู่ดิจิทัลได้รวดเร็วมากขึ้น ตอนนี้มีโครงการนำร่องคือ eBL (ใบตราส่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์) เป็นเอกสารสำคัญที่ใช้แทนหลักฐานการขนส่งสินค้าทางทะเลให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และสมาคมธนาคารไทยก็มีการพัฒนาระบบที่เรียกว่า Trade Document Registry (TDR) เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อลูกค้าได้รับสินเชื่อจากธนาคารใดแล้วจะถูกรีจิสเตอร์ในระบบกลางนี้ ซึ่งธนาคารต่าง ๆ สามารถเช็กได้ว่าอินวอยซ์ได้รับการอนุมัติสินเชื่อไปหรือยังและโดยธนาคารใด เพื่อป้องกันผู้ประกอบการไปขออนุมัติสินเชื่อเพิ่มจากธนาคารอื่น (Double Financing) ถ้ายังไม่มีการให้สินเชื่อ ธนาคารต่าง ๆ ก็มีความมั่นใจที่จะอนุมัติสินเชื่อ"

กระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายใน 2-3 ปีนับจากนี้ และพยายามที่จะมีพันธมิตรกับต่างประเทศด้วย เช่น ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ โดยคู่ค้าที่เป็นคู่สัญญากับผู้ประกอบการไทย สามารถเชื่อมโยงข้อมูลในลักษณะข้อตกลงทวิภาคีได้


กรุงไทยโต้โผใหญ่ ขับเคลื่อน Digital Banking อย่างโดดเด่น

คุณธวัชชัยบอกถึงบริการ Digital Banking ที่เด่น ๆ ของธนาคารกรุงไทยซึ่งเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงธุรกิจ คือ PromptBiz เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างธนาคารกรุงไทยซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารหลักที่ช่วยผลักดันร่วมกับแบงก์ชาติ เพื่อยกระดับภาคธุรกิจจากการทำธุรกิจแอนะล็อกไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ทำให้ผู้ขายสามารถเปิดอินวอยซ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งจะมีข้อมูลการชำระเงินต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่าง ๆ ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ เป็นการนำข้อมูลที่กระจัดกระจายไปอยู่บนฐานข้อมูลกลาง ถ้าเอสเอ็มอียกระดับตัวเองจากการค้าขายแบบกระดาษมาเป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้ และเมื่อธนาคารเห็นข้อมูลเหล่านั้นก็จะทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกขึ้น

"สำหรับ Krungthai BUSINESS ใช้งานได้หลายแพลตฟอร์มทั้งพีซี โน้ตบุ๊ก และสมาร์ตโฟน ภายใต้ระบบรักษาความปลอดภัยที่ยอดเยี่ยม การตรวจสอบการทำรายการ การอนุมัติรายการก็ทำได้ผ่านอุปกรณ์มือถือ ผู้ประกอบการไม่ต้องเดินทางเข้าบริษัทเพื่อจะล็อกอินเข้าระบบเพื่ออนุมัติรายการต่าง ๆ อยู่ข้างนอกก็ทำได้เช่นกัน ส่วนลูกค้าใหม่ก็สามารถเปิดบัญชีที่สาขาได้อย่างรวดเร็ว ยืนยันตัวตนและสมัครใช้ Krungthai BUSINESS ได้ในเวลาไม่เกิน 30 นาที จากที่เคยใช้เวลาหลายวัน และในอนาคตเรากำลังจะยกระดับการบริการขึ้นไปอีกขั้น กับขั้นตอนการเปิดบัญชีด้วยตัวเองที่บริษัทของลูกค้า โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสาขาของธนาคารกรุงไทย ขณะนี้เรากำลังพัฒนากระบวนการยืนยันตัวตนอยู่"

คุณธวัชชัยเน้นย้ำว่าทุกผลิตภัณฑ์ของ Digital Banking ในปัจจุบันของธนาคารกรุงไทย ตั้งแต่การสมัคร การออนบอร์ดให้ลูกค้ามาใช้งานได้ จนกระทั่งกระบวนการทำธุรกรรม ทุกอย่างจะอยู่บนดิจิทัลทั้งหมดแบบ End-to-end ตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้ลูกค้าสะดวกสบายมากที่สุดและปลอดภัยที่สุด ทำให้มีเวลาไปโฟกัสในการบริหารจัดการธุรกิจ มากกว่าที่จะต้องเสียเวลามาทำงานแอดมิน ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการบริการทางการเงินสำหรับเอสเอ็มอีจากธนาคารกรุงไทย หากผู้ประกอบ การต้องการข้อมูลหรือคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่สินเชื่อเอสเอ็มอีที่สำนักงานธุรกิจของธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ หรือ โทร. 0-2111-1111

#เคล็ดลับธุรกิจ #กรุงไทย #Krungthai #บริการทางการเงิน #DigitalBangking #พลิกธุรกิจสู่โลกดิจิทัล


แนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับธุรกิจท่าน