เรียนรู้การเงิน

3 แนวทางปรับตัวเข้าสู่ Online Marketing ของ SME

อัพเดทวันที่ 31 ต.ค. 2566

3 แนวทางปรับตัวเข้าสู่ Online Marketing ของ SME

บทความนี้ อยากเชิญชวนให้ผู้ประกอบการ SME มาอัพเดท Digital Profile ของคนไทยโดยรวม ผ่านพฤติกรรมการใช้งาน Internet, Social Media และ E-commerce ว่าในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง พร้อมวิเคราะห์รูปแบบหรือแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการเพื่อเตรียมความพร้อมกับโปรไฟล์ของผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนไป


พฤติกรรมการใช้ Internet ของคนไทยเป็นอย่างไร?

คนไทยเข้าถึง Internet ได้มากขึ้นสะท้อนจากสัดส่วนผู้ใช้งาน Internet ต่อจำนวนประชากรที่สูงขึ้นจาก 67% ในปี 2562 ขึ้นมาอยู่ที่ 85% ในปี 2566 โดยมีแรงผลักดันทั้งจากการดำเนินงานของผู้ให้บริการและการส่งเสริมของภาครัฐ ปัจจุบัน ไทยมีผู้ใช้งาน Internet 61.2 ล้านคนในปี 2566 เพิ่มขึ้น 13.7 ล้านคน จาก 47.5 ล้านคนในช่วง 5 ปีก่อนหน้า โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจาก 1) ผู้ให้บริการภาคเอกชนที่มีการขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น และ 2) นโยบายของภาครัฐ อาทิ “โครงการเน็ตชายขอบ” ที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนอกเหนือการให้บริการสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่าง Internet ได้มากขึ้นซึ่งมีการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2562

คนไทยเกือบ 70% ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์หลักในการท่องเว็บไซต์ โดยสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 48% ในปี 2562 มาอยู่ที่ราว 55% ในช่วงปี 2563-2564 และขึ้นมาแตะ 68% ในปลายปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความนิยมของคนไทยในการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์หลักในการใช้ Internet และท่องเว็บไซต์ ดังนั้น การสื่อสารกับผู้บริโภคที่หันมาใช้โทรศัพท์มือถือในการท่องเว็บไซต์มากขึ้นจึงเป็นโจทย์ของผู้ประกอบการที่ควรออกแบบพัฒนา UX/UI เว็บไซต์ตนเองให้รองรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป



การใช้ Social Media ของคนไทยเปลี่ยนแปลงหรือไม่ในรอบ 5 ปี?

ไทยมีผู้ใช้งาน Social Media 52.3 ล้านคนในปี 2566 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดย กลุ่มผู้ใช้งานที่มีอายุ 45-54 ปี และ 55 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเร็วสุด สะท้อนจากเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนผู้ใช้งาน Social Media ชาวไทยในแต่ละช่วงอายุ โดย กลุ่ม 55 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนผู้ใช้งานเท่ากับ 11.5% ของผู้ใช้งาน Social Media ทั้งหมดในปี 2566 (เพิ่มขึ้น +4.1% จากปี 2562) รองลงมาได้แก่กลุ่มอายุ 45-54 ปี และ 35-44 ปี ที่มีสัดส่วนผู้ใช้งานในปี 2566 เท่ากับ 12.4% (เพิ่มขึ้น +3.0%) และ 18.8% (เพิ่มขึ้น +2.8%) ตามลำดับ Facebook และ Line ยังคงเป็น Social Media ยอดนิยมของไทย ขณะที่น้องใหม่อย่าง Tiktok เริ่มมาแรงมากขึ้น โดยคนไทยมีการใช้ Facebook และ Line ในสัดส่วนที่สูงมากถึง 93% และ 88% ของผู้ใช้งาน Internet ทั้งหมดในไทย ตามมาด้วย Facebook Messenger, Instagram, Tiktok และ Twitter ซึ่งมีสัดส่วนผู้ใช้งาน 78%, 66%, 62% และ 54% ของผู้ใช้งาน Internet ในไทยตามลำดับ ทั้งนี้ เป็นข้อสังเกตว่า Social Media น้องใหม่อย่าง Tiktok มีฐานผู้ใช้งานชาวไทยที่มากขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากสัดส่วนผู้ใช้งานที่ขยายตัวรวดเร็วจาก 36% ในปี 2563 มาอยู่ที่เกือบ 80% ใน 2 ปีหลังสุด

ด้วยพฤติกรรมของคนไทยที่นิยมใช้ Internet และ Social Media ทำให้ผู้ประกอบการหันมาทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เห็นได้จากเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ที่ขยายตัวต่อเนื่องปีละ 12.4% (2561-2565) สวนทางกับการโฆษณาผ่านช่องทางออฟไลน์ที่มีมูลค่าลดลงเฉลี่ยปีละ 3% ทั้งนี้ เป็นข้อสังเกตว่าบางอุตสาหกรรม อาทิ อสังหาฯ ร้านอาหาร เครื่องสำอางค์ ยารักษาโรค และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ยังมีส่วนแบ่งในตลาดโฆษณาออนไลน์ค่อนข้างน้อยโดยเฉลี่ยเพียงธุรกิจละ 2% เท่านั้น ต่ำกว่าธุรกิจยานยนต์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และโทรคมนาคมที่มีส่วนแบ่งในตลาดโฆษณาออนไลน์ที่ธุรกิจละ 6-12% อยู่ถึง 3-6 เท่าตัว


E-Commerce ยังเป็นที่นิยมของคนไทยหรือไม่?

ตลาด E-Commerce ยังคงได้รับความนิยมจากคนไทยอย่างต่อเนื่องสะท้อนจากค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า/บริการผ่านตลาด E-Commerce ที่สูงขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวจากปีละ 2,970 บาทต่อคนในปี 2562 ขึ้นมาอยู่ที่ 8,840 บาทต่อคนในปี 2566 โดยรูปแบบการชำระเงินที่ผู้บริโภคนิยมได้แก่ Bank Transfer, Credit/Debit Card และ E-Wallet ขณะที่ COD หรือ Cash On Delivery ดูจะเริ่มมีได้รับความนิยมลดลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ Bank Transfer เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบันโดย คิดเป็นสัดส่วนถึง 32% ของมูลค่าตลาด E-Commerce รองลงมาได้แก่ Credit/Debit Card และ E-Wallet ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากันที่ 22% ขณะที่ COD มีสัดส่วน 17% ลดลง 5% จากปี 2562 สะท้อนว่าการชำระเงินแบบ COD เริ่มถูกแทนที่ด้วย Bank Transfer และ E-Wallet มากขึ้นในช่วง 5 ปีหลังสุด

ทั้งนี้ ได้มีการประเมินตลาด E-Commerce ของไทยมีมูลค่า 6.2 แสนล้านบาทในปี 2565 และมีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่องปีละ 6% ขึ้นไปอยู่ที่ 6.34-6.94 แสนล้านบาท ในระหว่างปี 2566-2567 โดยหมวดสินค้าที่ดูจะได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของตลาด E-Commerce มากสุด สะท้อนจากพฤติกรรมของผู้บริโภคหันมาซื้อผ่านช่องทาง E-Commerce มากขึ้นในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ 1) สินค้ากลุ่ม Personal & Household Care ซึ่งครอบคลุมสินค้าในหมวด Beauty และ Health อาทิ ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม เครื่องสำอาง วิตามิน อาหารเสริม และผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดครัวเรือน 2) สินค้ากลุ่ม Beverages และ 3) สินค้ากลุ่ม Foods



แนะ 3 รูปแบบการปรับตัวของผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจทำ Online Marketing ดังนี้

  1. ควรเตรียมความพร้อมเพื่อจับผู้บริโภคกลุ่มอายุ 45-54 ปี และ 55 ปีขึ้นไป ที่กำลังจะเป็นหนึ่งในผู้ใช้ Social Media กลุ่มหลัก และมีความสำคัญต่อตลาด E-Commerce ผ่านการเลือกใช้ตัวอักษร (Font) ขนาดใหญ่ หรือการออกแบบขั้นตอนการซื้อและชำระเงินให้สั้นที่สุดเพียงไม่กี่คลิกก็ดูเป็นหนึ่งในวิธีที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารกับผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้
  2. การออกแบบและพัฒนา UX/UI ของเว็บไซต์ให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาท่องเว็บไซต์ผ่านโทรศัพท์มือถือกันมากขึ้นถือเป็นโจทย์สำคัญของผู้ประกอบการ ปัจจุบันเกือบ 70% ของคนไทยเลือกที่จะใช้โทรศัพท์มือถือในการท่องเว็บไซต์ และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะหลัง ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรพัฒนา UX/UI เพื่อ Customize การจัดเรียง Content เนื้อหาต่าง ๆ ในเว็บไซต์ของตนเองให้เหมาะสมกับอุปกรณ์แต่ละแบบที่ผู้บริโภคเลือกใช้ในการเข้าเว็บไซต์
  3. ลองสำรวจตัวเองว่ายังมี Room ที่สามารถเพิ่มสัดส่วนการโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ให้มากขึ้นได้หรือไม่? โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ ร้านอาหาร เครื่องสำอาง และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์โดยรวมที่ยังมีส่วนแบ่งในตลาดโฆษณาออนไลน์ค่อนข้างน้อยโดยเฉลี่ยเพียงธุรกิจละ 2% เท่านั้น ต่ำกว่าธุรกิจยานยนต์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และโทรคมนาคมอยู่ถึง 3-6 เท่าตัว

#เคล็ดลับธุรกิจ #OnlineMarketing #DigitalProfile #SocialMedia #Ecommerce #กรุงไทยSME #ติดปีกให้ธุรกิจคุณ

5 เทรนด์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตจากสังคมสูงวัย Silver Economy

Digital Nomad เทรนด์ฮิตติดลมบน โอกาสท่องเที่ยวไทย

เทคนิคลดต้นทุน สร้างกำไรสำหรับพ่อค้าแม่ค้า