เรียนรู้การเงิน

Digital Nomad เทรนด์ฮิตติดลมบน โอกาสท่องเที่ยวไทย

อัปเดตวันที่ 27 ก.ย. 2566

Digital Nomad เทรนด์ฮิตติดลมบน โอกาสท่องเที่ยวไทย

นักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad นับเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ถูกพูดถึงและมีความน่าสนใจ อีกทั้งยังเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายของหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากเป็นเมกะเทรนด์ที่หลายประเทศตื่นตัวและเห็นโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นและระดับประเทศ

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาประกอบกับความก้าวหน้าอย่างมากของเทคโนโลยีและการสื่อสารไร้พรมแดนในปัจจุบัน ส่งผลให้ไลฟ์สไตล์แบบ Digital Nomad กลายเป็นเมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่ม “Digital Nomad” เป็นกลุ่มคนที่ทำงานหารายได้ผ่านระบบ Online จากสถานที่ต่างๆ ทั่วโลกตามวิถีชีวิตที่แต่ละคนต้องการ พร้อมทั้งเดินทางท่องเที่ยวควบคู่ไปด้วย โดยจะพำนักในแต่ละแห่งเป็นการชั่วคราวและจะย้ายไปยังสถานที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งสอดรับกับรูปแบบการทำงานให้ยุคหลังโควิดที่หลายองค์กรยังคงนโยบายให้พนักงานทำงานในรูปแบบ Remote Work ซึ่งเป็นการทำงานผ่านระบบออนไลน์จากสถานที่ใดก็ได้ (Work from anywhere) โดยไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศเหมือนในอดีต

ปัจจุบัน Digital Nomad ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) Freelance คือ ผู้ที่ทำงานอิสระไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยงานใด และรับงานเป็นรายครั้ง 2) Remote Worker คือ ผู้ที่เป็นพนักงานประจำในบริษัทฯ ที่ทำงานนอกสำนักงานโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย และ 3)Entrepreneurs คือ กลุ่มผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการ โดยกลุ่ม Digital Nomad จะมีงบประมาณในการใช้จ่ายเฉลี่ย 1,875 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือราว 62,000 บาทต่อเดือน และมีระยะเวลาพำนักเฉลี่ยประมาณ 6 เดือน ก่อนจะย้ายเมืองหรือประเทศที่ใช้เป็นสถานที่ทำงานใหม่ต่อไป

ทั้งนี้ 5 ปัจจัยหลักในการเลือกจุดหมายปลายทางของกลุ่ม Digital Nomad คือ 1) ค่าครองชีพต่ำและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (56%) 2) ความปลอดภัย (15%) 3) แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ (11%) 4) วีซ่าที่เหมาะสม (9%) 5) ร้านกาแฟ/Co-working Space (3%) โดยเรื่องค่าครองชีพและอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่สุด เนื่องจากมีผลต่อกำลังซื้อและประสิทธิภาพในการทำงานโดยตรง ขณะที่เรื่องความปลอดภัย ทั้งความปลอดภัยด้านอาชญากรรมและสภาพแวดล้อมมีความสำคัญรองลงมา

จากรายงาน Global Digital Nomad Study ของ ABrotherAbroad.com ประเมินว่า กลุ่ม Digital Nomad ทั่วโลก สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 787 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณปีละ 26.8 ล้านล้านบาท โดยในปี 2565 จำนวน Digital Nomad ทั่วโลก พุ่งขึ้นแตะระดับ 35 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.3 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีจำนวนเพียง 15.2 ล้านคน และมีโอกาสแตะระดับ 60 ล้านคน ในปี 2573



ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad เป็นอย่างมาก สะท้อนจากการที่กรุงเทพฯ ติดอันดับ 2 ของการจัดอันดับสถานที่ทำงานที่ดีที่สุดสำหรับชาว Digital Nomad ในปี 2566 ของ ETHRWorld รองจากเมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ขณะที่ผลการจัดอันดับเมืองที่ดีสุดในเอเชียสำหรับชาว Digital Nomad ของ nomadlist.com พบว่า ประเทศไทยติดอันดับ Top-10 ถึง 3 แห่ง ได้แก่ 1. เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี (อันดับ 1) 2. กรุงเทพฯ (อันดับ 2) 3. จ.เชียงใหม่ (อันดับ 9) ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ไทยจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านนี้เพื่อไขว่คว้าโอกาสจากการเติบโตของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad ที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต และเป็นอีกหนึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพที่มีจุดเด่นในเรื่องระยะเวลาพำนักในไทยที่ค่อนข้างนาน ทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปสูงกว่านักท่องเที่ยวโดยรวมอย่างชัดเจน โดยข้อมูลจากบทความ Revitalising Thailand’s tourism sector ของ BOT และ VISA ชี้ให้เห็นว่านักท่องเที่ยวกลุ่ม Business รวมถึงกลุ่ม Work from Anywhere ที่เข้ามาทำงานในไทย มีระยะเวลาพำนักนานกว่า 14 วัน โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อทริปกว่า 75,000 บาท ซึ่งสูงกว่าค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปโดยรวมที่เฉลี่ยอยู่ประมาณ 48,000 บาท กว่า 56%

การเติบโตของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจหลักหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรง อย่าง 1) ธุรกิจที่พักแรม และร้านอาหาร 2) ธุรกิจบริการเช่ารถจักรยานยนต์ 3) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง Community เช่น การจัดกรุ๊ปทัวร์ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เดินป่า ปีนเขา ดำน้ำ รวมถึงคลาสออกกำลังกาย เช่น โยคะ มวยไทย และ 4) ธุรกิจโทรคมนาคม แต่ยังผส่งผลดีต่อธุรกิจต่อเนื่อง ได้แก่ 1) ธุรกิจค้าปลีก ทั้งในกลุ่มร้านสะดวกซื้อ ไฮเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้า 2) ธุรกิจสถานบันเทิง และ 3) ธุรกิจการแพทย์ ทั้งสถานพยาบาลและร้านขายยา

ผู้ประกอบการที่สนใจทำตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad ควรมี 1) บริการ Hi Speed Internet 24 ชม. ที่เสถียร และปลอดภัยจากการโจมตีทางไซเบอร์ 2) Co-Living Space ที่เอื้อต่อการทำงานทั้งแบบส่วนตัวและแบบกลุ่ม และ 3) ส่งเสริมให้มี Community สำหรับกลุ่ม Digital Nomad เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad

#เคล็ดลับธุรกิจ #KrungthaiCompass #DigitalNomad #โอกาสท่องเที่ยวไทย #กรุงไทยSME #ติดปีกให้ธุรกิจคุณ

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่ คลิก

อ่านมุมมองเศรษฐกิจอื่นๆ คลิก

Krungthai Compass คลิก