เรียนรู้การเงิน

3 เรื่องสำคัญสำหรับ SMEs ไทยให้ก้าวไกลในระเบียงเศรษฐกิจ

อัปเดตวันที่ 4 ต.ค. 2566

3 เรื่องสำคัญสำหรับ SMEs ไทยให้ก้าวไกลในระเบียงเศรษฐกิจ

ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) คือหนึ่งในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจสำคัญที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือประชาคมอาเซียน ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากความเป็นระเบียงหรือ Corridor ตามความหมายแบบ British English หมายถึง a belt of land linking two other areas แถบของแผ่นดินที่เชื่อม 2 พื้นที่เข้าด้วยกัน พื้นที่ในที่นี้หมายความได้ตั้งแต่จากห้องสู่ห้อง จากภายในสู่ภายนอก จากศูนย์กลางการผลิตสู่การบริโภค จากศูนย์กลางอำนาจสู่พื้นที่ชายขอบ จากโรงงานสู่ฐานการขนส่งเพื่อส่งออกสู่ตลาดโลก และแนวปฏิบัติที่ถูกต้องเกี่ยวกับระเบียง หรือ Corridor คือการเปิดกว้างให้คน สิ่งของ สินค้า ฯลฯ สามารถผ่านเส้นทางได้อย่างปลอดภัยที่สุด รวดเร็วที่สุด และไม่มีสิ่งใดกีดกันให้กระแสการหมุนเวียนต้องติดขัด

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นการปลดล็อกกฎกติกา กฎหมาย แนวทางการปฏิบัติ เพื่อให้คน สินค้า บริการ และระบบโลจิสติกส์ สามารถเชื่อมโยงจุดศูนย์กลางอำนาจจากกรุงเทพฯ และจุดศูนย์กลางการผลิต อาทิ สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ปทุมธานี และอยุธยา ผ่านระเบียงในฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เข้าสู่ท่าเรือ สนามบิน รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สระแก้วและตราด รวมทั้งเชื่อมโยงสู่ประเทศกัมพูชาและภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก ที่เป็นทั้งแหล่งวัตถุดิบและตลาดผู้บริโภคระดับนานาชาติ ผ่านโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกแห่งนี้

และหากพิจารณาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกเป็นเพียงจุดเริ่มต้นสู่การสร้างระเบียงเศรษฐกิจ เพื่อเชื่อมศูนย์กลางการผลิตจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลสู่พื้นที่ห่างไกลที่สุดคือ พื้นที่ชายแดนซึ่งปัจจุบันกลายเป็น Gateway เชื่อมโยงสู่ประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก นั่นคือ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones: SEZs) อีก 10 พื้นที่ ได้แก่ ภาคเหนือที่เชียงรายและตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร ภาคตะวันออกที่สระแก้วและตราด ภาคใต้ที่สงขลาและนราธิวาส รวมทั้งภาคตะวันตกที่กาญจนบุรี ในอนาคตเราจะได้เห็น 5 ระเบียงเศรษฐกิจ นั่นคือ 1) ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่เริ่มต้นและดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการลด ละ เลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และเริ่มส่งเสริมให้มีการลงทุนแล้ว 2) ระเบียงเศรษฐกิจภายใต้การเชื่อมประจวบคีรีขันธ์เข้าสู่ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการศึกษาพัฒนาโครงการ 3) ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ 4) ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 5) ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลางที่จะเป็นแกนกลางเชื่อมโยงเหนือ อีสาน และตะวันออกเข้าด้วยกัน




คำถามคือ เมื่อเราเห็นแล้วว่าแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยจะพัฒนาตามแนวทางเช่นนี้ SMEs ไทยจะเตรียมความพร้อมได้อย่างไร

  1. Internationalisation ผู้ประกอบการต้องมีทัศนคติที่ถูกต้องว่า การค้าระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนี่คือโอกาสนำเข้าวัตถุดิบขั้นต้น ขั้นกลาง แรงงาน และบริการราคาถูกที่มีคุณภาพดี เมื่อผลิตเสร็จนี่คือโอกาสเข้าสู่ตลาดโลก ดังนั้น การหาองค์ความรู้เรื่องการค้าระหว่างประเทศ การเปลี่ยนทัศนคติ ยอมลงทุนสร้างองค์ความรู้ ทำงานหนักเพื่อแสวงหาโอกาสคือเรื่องจำเป็น หน่วยงานของรัฐอย่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสถาบันการเงินที่คุณเป็นลูกค้าจะเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด เพื่อแนะนำให้เข้าใจได้ว่า การเข้าสู่ตลาดโลกต้องดำเนินการอย่างไร
  2. Digitalisation ปัจจุบันระบบการให้บริการตั้งแต่โลจิสติกส์ การวางแผนผลิต การวางแผนตลาด ระบบบัญชี ระบบภาษี ระบบบริหารทรัพยากรในองค์กร ฯลฯ กลายเป็น Cloud Computing ที่มีผู้ให้บริการจำนวนมาก ซึ่งแข่งขันกันด้านราคาและบริการ ทำให้ท่านไม่ต้องลงทุนแม้แต่ Hardware ราคาแพง ทั้งยังจ่ายค่าบริการเป็นรายเดือนและไม่แพงอีกด้วย ทัศนคติที่ถูกต้องคือ เราต้องอัปเกรดตนเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ ให้ระบบดิจิทัลทำงานแทน แล้วเอาเวลาไปโฟกัสเรื่องการผลิต การออกแบบ การพัฒนาสินค้า และบริการที่เป็นธุรกิจหลักดีกว่า
  3. Green Mindset ปัจจุบันลูกค้าไม่ได้สนใจเฉพาะราคาถูกที่สุดอีกต่อไป ในต่างประเทศและกลุ่มลูกค้า Generation Z (ผู้ที่เกิดหลังปี 2000) สนใจในรายละเอียดว่า ตลอดการผลิตคุณปล่อยก๊าซเรือนกระจก มากหรือน้อยแค่ไหน คุณแก้ไขชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไร ถ้าไม่สนใจเรื่องเหล่านี้จะไม่สามารถเป็นผู้รับช่วงการผลิต (Sub-contractor / outsourcing) จากผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ คุณจะเจอมาตรการทางสิ่งแวดล้อมที่จะกลายเป็นข้อกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะจากลูกค้ายุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งอนาคตคุณอาจไม่มีลูกค้าก็เป็นไปได้

เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกกำลังจะมาลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจประเทศไทย ยุทธศาสตร์เหาฉลาม คือ เกาะกันไป เติบโตกันไป ควบคู่กับบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่เหล่านั้น เราต้องก้าวเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าระดับนานาชาติ (Global Value Chains: GVCs) ให้ได้ และหากทำได้เช่นนั้นคุณจะไม่ใช่ SMEs อีกต่อไป แต่คุณกำลังจะกลายเป็น SGBs: Small and Growing Business

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

#เคล็ดลับธุรกิจ #อีอีซี #EEC #ระเบียงเศรษฐกิจ #กรุงไทยSME #ติดปีกให้ธุรกิจคุณ


แนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับธุรกิจท่าน