เรียนรู้การเงิน

ใช้ชีวิตอย่างไร ให้มีเงินเก็บขั้นต่ำเดือนละ 30%

อัพเดทวันที่ 20 ส.ค. 2563

       การเก็บออมเป็นทักษะการเงินขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรทำให้ได้ ส่วนใหญ่เราจะถูกสอนให้ออมเงินก่อนใช้จ่าย เพราะถ้าใช้จ่ายก่อนก็มีความเสี่ยงที่จะไม่มีเงินเหลือให้เราได้ออม และวินัยการเงินก็จะไม่เกิดขึ้นหากไม่เริ่มด้วยการออมก่อนใช้ โดยอัตราส่วนเงินออมต่อรายได้ก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนให้ความสำคัญกับเป้าหมายทางการเงิน และมีภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไร แต่ตัวเลข 10% ของรายรับต่อเดือนก็ถูกพูดถึงในวงกว้าง เพราะถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีสำหรับคนที่อยากออมเงินในระดับ “เริ่มต้น” แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราจะพบว่าตัวเลขการเก็บออมมีส่วนสำคัญกับแผนการเงินเพื่อเป้าหมายต่างๆมาก ทั้งในระยะสั้น กลาง ยาว ดังนั้นแล้วอัตราส่วนเงินออมที่ 10% ต่อเดือนก็ดูจะไม่เพียงพอสำหรับคนที่มีเป้าหมายหลากหลายและสำคัญในอนาคต

ตัวเลขอัตราส่วนเงินออมสามารถขยับขึ้นไปอยู่ที่ 30-50% ต่อเดือน แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเก็บเงินจากรายรับต่อเดือนได้มากมายขนาดนี้ เพราะสำหรับบางคนแล้วการใช้จ่ายด้วยสัดส่วนรายได้ที่เหลือ 50-70% ยังเป็นเรื่องยากอยู่ ส่วนหนึ่งก็มาจากค่าใช้จ่ายประจำเทียบกับรายได้แต่ละเดือนออกมามีสัดส่วนค่อนข้างสูงขณะที่บางคนตั้งใจทำให้ได้ 30% เพื่อแบ่งเงินก้อนนี้ไปเก็บออมและลงทุนสำหรับเป้าหมายต่างๆได้มากขึ้น เช่นเงินเดือน 30,000 บาท ก็เก็บออมไว้ 9,000 บาท ให้เงินก้อนนี้กระจายไปอยู่ในบัญชีเงินฝาก กองทุนรวม หรือหุ้น ตามความเหมาะสมของแผนการเงินที่วางเอาไว้ แต่ก่อนจะพูดกันถึงเรื่องการลงทุน เราควรต้องมีวิธีใช้ชีวิตให้ตัวเองสามารถเก็บเงินขั้นต่ำให้ได้ 30% ก่อน

1. ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

เวลาพูดถึงวิธีเพิ่มเงินออม หลายคนจะนึกถึงวิธีประหยัดการใช้จ่ายก่อนเป็นส่วนใหญ่ เพราะสามารถทำได้ง่ายและควบคุมได้ดีกว่าวิธีอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายที่สามารถลดหรือตัดออกได้ก็จะเป็นค่าใช้จ่ายจำพวกของฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นกับชีวิตประจำวันสักเท่าไร เช่น แทนที่จะกินเลี้ยงสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนทุกสัปดาห์ ก็ลดเป็นเดือนละ 2 ครั้ง หรือลดปริมาณเสื้อผ้าหรือเครื่องสำอางที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้งาน เป็นต้น จากตัวอย่างข้างบน หากเรามีเงินเดือนอยู่ที่ 30,000 บาทและต้องการออมเงิน 30% ที่ 9,000 บาทต่อเดือน เมื่อออมได้อยู่แล้ว 3,000 บาท ที่เหลือก็คือดูว่า 6,000 บาทที่ต้องการ สามารถลดค่าใช้จ่ายส่วนไหนเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินออมได้บ้าง

นอกจากนี้เราสามารถลดค่าใช้จ่ายคงที่ก้อนใหญ่ได้ด้วยการไม่สร้างหนี้บริโภคก้อนโต ในขณะที่หนี้สินหรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการซื้อบ้านหรือรถยนต์ก็ต้องดูตามความเหมาะสมด้วยว่าจำเป็นกับชีวิตมากน้อยขนาดไหน

2. หารายได้เสริมเพิ่มเงินออม
แบบไม่มีจำกัด

หากรู้สึกว่างานที่ทำอยู่ให้รายได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของชีวิต เราสามารถใช้เวลาชีวิตนอกเวลางานเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับตัวเองได้ โดยตั้งเป้าหมายขั้นต่ำสำหรับส่วนที่ขาด เช่น เดิมทีมีรายรับจากเงินเดือน 30,000 บาท ออมเงินได้เพียง 3,000 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 10% เพราะมีค่าใช้จ่ายต้องรับผิดชอบเยอะ แต่อยากออมให้ได้ 9,000 บาท ก็ควรสร้างรายได้เสริมให้มากกว่า 6,000 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้การหารายได้เพื่อออมเงินให้มากขึ้นเราสามารถทำได้แบบไม่มีขีดจำกัด เพียงแต่ต้องมีเวลา ทักษะ และความชำนาญเฉพาะสำหรับหารายได้เสริม จะรับจ้างเป็นฟรีแลนซ์ หรือสร้างธุรกิจเล็กๆที่พอจะทำกำไรให้เราตามต้องการก็ได้ แต่ก็ต้องทำความเข้าใจตัวเองด้วยว่าสามารถทำอะไรเพิ่มได้บ้าง

3. ใช้เงินคนอื่นทำงาน
เพิ่มรายได้จากสินทรัพย์

สองวิธีแรกเป็นวิธีที่เลือกปรับตามความสามารถและความพอใจส่วนตัว แต่วิธีสุดท้ายเป็นวิธีที่ต้องใช้เวลานานแต่ให้ผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาว นั่นคือการใช้เงินคนอื่นทำงานหรือสร้างสินทรัพย์ที่ช่วยเพิ่มเงินออมให้กับเราจากตัวอย่างเดิม เมื่อเราต้องการออมเงินเพิ่มเดือนละ 6,000 บาท หรือคำนวณดูแล้วเราต้องการเก็บเงินเพิ่ม 72,000 บาทต่อเดือน แต่ไม่สามารถหาเวลาไปสร้างรายได้เพิ่ม หรือประหยัดค่าใช้จ่ายไม่ได้อีก วิธีที่ทำได้คือใช้เครดิตของตัวเองให้เป็นประโยชน์

ลองหาสินทรัพย์ที่สามารถสร้างกระแสเงินสดหลังหักค่างวดได้เดือนละ 6,000 หรือปีละ 72,000 บาท แล้วยื่นธนาคารเพื่อขอกู้บ้าน หรือคอนโดมือสองที่ปล่อยเช่าได้เดือนละ 10,000 บาท โดยผ่อนชำระ 4,000 บาท ต่อเดือน อาจจะซื้อหลายๆที่หรือมองหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนในลักษณะใกล้เคียงกันก็ได้ นอกจากจะได้กระแสเงินสดเพิ่มแล้วยังมีสินทรัพย์ไว้ในครอบครองอีก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีนี้จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อเราสามารถประเมินความเป็นไปได้ที่ใกล้เคียงความเป็นจริงด้วย

วิธีเหล่านี้สามารถใช้ร่วมกันเพื่อสร้างเงินออมที่ 30% ได้ หรือบางคนที่คาดหวังอัตราส่วนการออมมากกว่านี้ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม หากต้องการลงทุนในกองทุน สำหรับรองรับกระแสเงินสดเพื่อใช้จ่ายหมุนเวียน หรือพักเงินเพื่อรอจังหวะการลงทุน แนะนำกองทุนเปิดกรุงไทย ธนทรัพย์ พลัส (KTPLUS)


หรือสร้างวินัยการออม ด้วยการฝากเงินจำนวนเท่าๆกันทุกเดือน กับเงินฝาก Krungthai ZERO TAX MAX รายละเอียด คลิก หากทำตามเงื่อนไขของธนาคาร ไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก