เรียนรู้การเงิน

Digital Detox บำบัดอาการเสพติดดิจิทัลกันเถอะ

อัพเดทวันที่ 20 ส.ค. 2563

       สิ่งแรกที่เราทำหลังจากตื่นนอนคืออะไร? บางคนอาจจะเป็นการลุกไปอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน แต่สำหรับหลายๆ คนในยุคนี้แล้ว อุปกรณ์ชิ้นแรกที่มองหาหลังตื่นนอนก็คงจะเป็นโทรศัพท์มือถือแน่ๆ ลองสไลด์หน้าจอ เช็กไลน์ อินสตาแกรม เฟซบุ๊กสัก 10 นาทีแล้วค่อยลุกไปอาบน้ำละกัน แต่รู้ตัวอีกทีคุณก็จิ้มๆ กดๆ มาเกือบชั่วโมงแล้ว! ยิ่งไปกว่านั้นก่อนเข้านอนโทรศัพท์มือถือก็ดันกลายเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราใช้งานไปอีก นอกจากการรับแสงสีฟ้าก่อนและหลังตื่นนอนที่ไม่ดีต่อสุขภาพตาของเราแล้ว อาการแบบนี้ยังบ่งบอกถึงภาวะการเสพติดโซเชียลมีเดียที่อาจก่อให้เกิดภาวะโรคซึมเศร้าและโรคเครียดวิตกกังวล

แต่อาการติดโซเชียลมีเดียก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากจนสายเกินแก้ คงไม่ถึงกับต้องเลิกขาดเพราะการสื่อสารผ่านช่องทางเหล่านี้ก็ยังจำเป็นอยู่ เพียงแต่อาจจะใช้วิธีลดปริมาณการเข้าถึงดูบ้าง หรือเปลี่ยนมุมมองในการใช้งานดู ซึ่งวันนี้เราก็มีวิธีดิจิทัล ดีทอกซ์ ทำตามง่ายๆ มาฝากกัน

1.ตั้งเวลาสำหรับทำดิจิทัล ดีทอกซ์

ขั้นแรกให้ลองหยิบปฏิทินขึ้นมากางดูก่อนว่า วันไหนบ้างที่เราไม่ต้องยุ่งเรื่องงาน ไม่ได้มีนัดสำคัญๆ ลองเลือกมาสัก 1 วันในเดือนนั้นแล้วเซ็ตให้เป็นวันที่เราจะทำดิจิทัล ดีท็อกซ์กัน โดยลองปิดแจ้งเตือนทุกแอพพลิเคชั่นดูก่อนในเบื้องต้น หรือถ้ารู้สึกว่า วิธีนี้ยังตึงจนเกินไปให้ลองตั้งเวลากับตัวเอง หรือใช้แอพพลิเคชั่นแจ้งเตือนเข้าช่วย อาทิเช่น กำหนดเวลาเลิกใช้งานก่อนนอน 2 ชั่วโมง หรือตั้งเวลาช่วงในการเข้าใช้แอพพลิเคชั่นโซเชียล มีเดีย ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ให้มีช่วงที่จำกัดมากกว่าวันทำงาน

2.ใช้นาฬิกาปลุกแทนโทรศัพท์มือถือ

มีผลการสำรวจของสหรัฐอเมริการะบุว่า ผู้คนมากกว่า 68% ใช้โทรศัพท์มือถือตั้งปลุกตอนเช้า และวางไว้ข้างๆ ตัวขณะเข้านอน ซึ่งการวางมือถือไว้ใกล้ๆ หมอนก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลายคนมองหน้าจอ และจับโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งสุดท้ายก่อนหลับตาเสมอ นอกจากปัญหาเรื่องแสงสีฟ้าแล้ว การวางมือถือไว้ใกล้หมอนแบบนี้ยังกระตุ้นให้เราหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูทั้งหลังตื่น และก่อนนอนเป็นประจำแทนที่วิถีชีวิตประจำวัน ที่เราจะต้องลุกจากที่นอนไปอาบน้ำ และกินข้าวเช้า ฉะนั้นแล้วลองหันกลับไปสู่พื้นฐานที่สุดเหมือนตอนเด็กๆ คือ ใช้นาฬิกาปลุกแทน น่าจะช่วยลดอาการงัวเงียตื่นนอนแล้วคลำหามือถือก่อนเป็นสิ่งแรกได้ด้วยนะ

3.งดเล่นโทรศัพท์มือถือขณะทานข้าว

กลายเป็นว่า ในช่วงเวลาทานข้าวกลางวันหลายๆ คนเลือกที่จะหยิบมือถือขึ้นมาเช็กความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย หรือบางครั้งก็ดูหนัง-ซีรีส์ไปด้วยเลย ถ้ากำลังมีอาการเหล่านี้อยู่น่าจะเป็นสัญญาณที่ชัดแล้วล่ะว่า คุณติดมือถือมากๆ แล้ว ช่วงเวลากินข้าวเราควรปล่อยให้ตัวเองได้ผ่อนคลาย และลดการมองแสงสีฟ้าที่มองจอคอมพิวเตอร์จากการทำงานมาแล้วบ้าง เราควรจะโฟกัสกับการกินข้าว รวมถึงผู้ร่วมโต๊ะอาหารในมื้อนั้นแทนจะดีกว่านะ

4.หากิจกรรมอื่นทดแทน

พอโทรศัพท์มือถือ และโซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปแล้วก็ทำให้เราคิดไม่ออกเลยว่า กิจกรรมอื่นๆ นอกจากการอยู่หน้าจอแชตกับเพื่อน ดูหนัง-ซีรีส์แล้ว จะมีงานอดิเรกอะไรให้ทำอีกล่ะ จริงๆ แล้วกิจกรรมอื่นที่ช่วยผ่อนคลายยังมีอีกมากมาย อาทิเช่น การทำความสะอาดบ้าน ฟังแล้วอาจจะดูหนักหรือเหนื่อยเกินไป แต่จริงๆ แล้วมีงานวิจัยหลายชิ้นให้ข้อสรุปตรงกันว่า การทำงานบ้านช่วยให้เราผ่อนคลายได้ดีทีเดียว อาจจะไม่ต้องทำให้ครบทุกส่วนของบ้าน เริ่มจากการทำทีละเล็กทีละน้อยไปก่อน ให้เราได้เห็นความสำเร็จบางส่วนที่พอจะจับต้องได้ หรือจะเป็นกิจกรรมผ่อนคลายๆ หน่อยอย่างการอ่านหนังสือที่เราชอบ ตั้งเป้าเล็กๆ ว่าเราจะอ่านเล่มนี้ให้จบภายในกี่วันๆ หลังจากซื้อมากองไว้นานหลายเดือน ความสำเร็จชิ้นเล็กๆ พวกนี้ช่วยเยียวยาจิตใจเราได้ดีเชียวล่ะ

5.ใส่ใจคนที่อยู่ตรงหน้าเป็นอันดับแรก

โซเชียลมีเดียช่วยให้เราเชื่อมต่อกับผู้คนที่อยู่ห่างไกลกันได้ครั้งละหลายๆ คนก็จริง แต่สิ่งสำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ บางครั้งเรามักจะหลงลืมคนสำคัญที่อยู่ใกล้ๆ ตัว อย่างคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทเองก็ดี  กระทั่งบางครั้งที่มีการนัดเจอกับกลุ่มเพื่อนเราก็มักจะเห็นอาการที่เรียกว่า ‘สังคมก้มหน้า’ อยู่บ่อยๆ ที่แม้จะมีเพื่อนสนิทนั่งอยู่ด้วยกัน แต่เรากลับเลือกกดโทรศัพท์มือถือแทน อาจจะด้วยความเคยชินหรืออะไรก็ตาม ในส่วนนี้ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ให้ลองวางโทรศัพท์มือถือไว้ไกลๆ ตัวเมื่อคุณออกไปเที่ยวกับกลุ่มเพื่อน แทนที่จะสนใจใครก็ตามบนโซเชียลมีเดีย ลองเปลี่ยนมาโฟกัสคนที่อยู่ตรงหน้าแทน หรืออาจจะลองใช้ยาแรงด้วยการไม่พกโทรศัพท์ติดตัวไปเลยก็จะช่วยให้เราโฟกัสสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ดีขึ้น