เรียนรู้การเงิน

รู้จัก ‘Kakeibo’ วิธีออมเงินที่ทำง่ายได้ผลจริงแบบคนญี่ปุ่น

อัพเดทวันที่ 5 มิ.ย. 2563

การแบ่งรายรับส่วนหนึ่งไปกับการออมเงินน่าจะเป็นสิ่งที่เราได้ยินและคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่พอโตขึ้น รายจ่ายเพิ่มขึ้น เราก็อาจจะหลงลืมการออมเงินกันไปบ้าง หรือบางคนพยายามเก็บเงินแล้วแต่ก็มีเผลอยืมเงินตัวเองออกมาใช้จ่ายอยู่ดี ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทั่วโลกเลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อปี 2016 สถาบันนีลเส็น ผู้วิจัยด้านการตลาดชั้นนำของโลกได้เปิดเผยข้อมูลว่า ทวีปเอเชียเป็นทวีปเดียวที่มีผู้คนกว่า 50% ตั้งใจออมเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ขณะที่ฝั่งละตินอเมริกามีสัดส่วนที่ 30% เท่านั้น

ดูเหมือนว่าตัวเลขฝั่งเอเชียจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่กับบ้านเราเองโดยเฉพาะในหมู่คนมิลเลนเนียลก็ยังพบปัญหาการบาลานซ์รายรับรายจ่ายค่อนข้างสูง ซึ่งวิธีเก็บออมเงินที่เราจะมาแนะนำในวันนี้เป็นวิธีของประเทศญี่ปุ่นแต่แพร่หลายในฝั่งยุโรปสุดๆ เพราะช่วยให้การออมเงินมีประสิทธิภาพ และเห็นผลจริง ซึ่งวิธีการทำตามก็ง่ายมากๆ ด้วย เตรียมแค่สมุด 1 เล่ม กับปากกา 1 ด้าม หรือถ้าใครที่ถนัดใช้สมาร์ทโฟนมากกว่าก็เปิดแอปพลิเคชั่นจัดการการเงินแล้วลองทำตามกันได้เลย

Kakeibo คืออะไร?

คำว่า Kakeibo อ่านว่า คะเคโบะ มาจากภาษาญี่ปุ่นแปลว่า สมุดบัญชีครัวเรือน Kakeibo ถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกในปี 1904 โดยฮานิ โมโตะโกะ นักหนังสือพิมพ์หญิงคนแรกของญี่ปุ่น ที่ต้องการหาวิธีการออมเงินและจัดการงบประมาณรายรับรายจ่ายให้ครอบครัวได้ดียิ่งขึ้น ย้อนกลับไปยุคนั้น ผู้หญิงญี่ปุ่นยังไม่ได้รับการอนุญาตให้ทำงานนอกบ้านเหมือนทุกวันนี้ได้ เงินออมของพวกเธอในตอนนั้นจึงได้มาจากรายรับทางเดียวคือ เงินของสามีที่เหลือจากการใช้จ่ายภายในบ้านทั้งหมด และแม้ว่าปัจจุบันผู้หญิงญี่ปุ่นจะทำงานนอกบ้าน และมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยจัดการสภาพคล่องในครัวเรือนแล้ว แต่คนญี่ปุ่นก็ยังเลือก Kakeibo เป็นตัวช่วยสำหรับการบันทึกรายรับรายจ่ายอยู่ดี

วิธีเก็บเงินแบบ ‘Kakeibo’

หลักการของ Kakeibo ไม่ยาก แต่ต้องอาศัยความสม่ำเสมอและความพยายามในช่วงแรก เริ่มต้นด้วยการจดบันทึกรายรับรายจ่ายแบบรายวัน และรายสัปดาห์ หรืออาจจะเปลี่ยนไปใช้แอปพลิเคชั่นจัดการแทนก็ได้ โดยให้แบ่งการบันทึกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น (ค่าเดินทาง, ค่าเช่าบ้าน, ค่าน้ำค่าไฟ, ค่าอาหาร) รายจ่ายเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และรายจ่ายพิเศษอื่นๆ เป็นต้น ยิ่งบันทึกรายรับรายจ่ายละเอียดมากเท่าไร ก็จะช่วยให้เราคำนวนเงินคงเหลือช่วงสิ้นเดือนได้ดี ยกตัวอย่างเช่น เงินซองที่ได้ช่วงปีใหม่หรือตรุษจีน ก็ควรจดบันทึกลงในส่วนของรายรับด้วย หรือการซื้อกินขนมจุกจิกช่วงระหว่างทำงานในแต่ละวัน ที่หากนำมารวมกันแล้วก็คงไม่ใช่จำนวนน้อยๆ  พวกนี้ก็สามารถบันทึกลง Kakeibo ได้ด้วยเหมือนกัน

ปรัชญาของ ‘Kakeibo’

สิ่งสำคัญและกลายเป็นข้อแตกจากการออมเงินด้วยวิธีอื่น คือ ปรัชญาของ Kakeibo เราต้องตอบคำถามแต่ละข้อก่อนซื้อของทุกครั้ง โดยแต่ละคำถามจะเน้นให้เราได้พูดคุยกับตัวเองทุกครั้งก่อนซื้อของสักชิ้นว่า เราซื้อสิ่งนี้เพราะจำเป็น หรือซื้อเพียงเพราะอยากได้กันแน่

  • คุณสามารถอยู่ได้โดยไม่มีของชิ้นนี้ได้ไหม?
  • สถานการณ์ทางการเงินของคุณตอนนี้ ซื้อของชิ้นนี้ได้หรือไม่?
  • คุณจะใช้สินค้าชิ้นนี้จริงๆ เหรอ?
  • บ้านคุณมีพื้นที่พอสำหรับมันรึเปล่า?
  • คุณเจอสินค้าชิ้นนี้ได้อย่างไร? (คุณเคยเห็นมันตามแม็กกาซีน หรือเข้าไปพบโดยบังเอิญในช่วงเวลาที่กำลังเดินเบื่อๆ ในห้าง)
  • อารมณ์ของคุณในวันนี้เป็นแบบไหน? (ใจเย็น มีความเครียด อยู่ในช่วงเทศกาล หรือกำลังรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง)
  • คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อซื้อมาแล้ว? (มีความสุข ตื่นเต้น เฉยเฉย)

จะเห็นได้ว่า การออมเงินแบบ Kakeibo ช่วยให้เราได้ทบทวนตัวเองเพิ่มขึ้นอีกหลายชั้น จากเดิมที่เห็นของชิ้นนี้แล้วอาจจะหยิบไปจ่ายตังในทันที Kakeibo จะทำให้เราฉุกคิดการใช้จ่ายแต่ละครั้ง และถึงแม้ว่าจะช่วยให้เราออมเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องตัดความสุขในการใช้จ่ายออกไปทั้งหมด อะไรที่ชอบ และยังอยากใช้เงินซื้อเพื่อให้รางวัลกับตัวเอง คุณยังสามารถทำได้ เพียงแต่ให้คิดก่อนซื้อ และไม่ตามใจตัวเองมากเกินไปเท่านั้นเอง

Kakeibo ไม่ได้โรยราไปตามกาลเวลาแต่อย่างใด เพียงคุณหยิบหลักการมาปรับใช้ให้เข้ากับชีวิตประจำวันตอนนี้ก็สามารถทำได้เช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ การใช้แอปพลิเคชั่น Krungthai NEXT จากธนาคารกรุงไทย อีกหนึ่งตัวช่วยในการจัดสรรการใช้จ่ายได้ เพราะ Krungthai NEXT ครอบคลุมทั้งการเติมเงิน จ่ายบิล และยังสมัครเปิดบัญชีกองทุน พร้อมมีกราฟสรุปพอร์ตการลงทุนแบบเข้าใจง่ายให้มือใหม่ทำตามกันได้ไม่ยาก