เรียนรู้การเงิน

7 เคล็ดลัดการบริหารเงินในธุรกิจไม่ให้ขาดทุน

อัพเดทวันที่ 20 ธ.ค. 2565

7 เคล็ดลัดการบริหารเงินในธุรกิจไม่ให้ขาดทุน

ปีนี้ขอกำไรทะลุเป้า! เป้าหมายใหญ่ที่เจ้าของธุรกิจต่างหวังไว้ แต่กว่าจะสำเร็จได้ต้องงัดวิชาบริหารธุรกิจทุกอย่างมาใช้ ทั้งบริหารงาน บริหารคน และการบริหารเงินในธุรกิจ โดยเฉพาะการบริหารเงินสด เพราะการมีกำไรที่เป็นเงินสด นั่นหมายถึงการรักษาสภาพคล่องของธุรกิจ ทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างไม่สะดุดและไม่ขาดทุนนั่นเอง


ข้อดีของการบริหารเงินในธุรกิจ

  1. คาดการณ์รายรับรายจ่ายในอนาคตได้
  2. มีเงินสดเหลือในบริษัทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
  3. สร้างโอกาสในการเติบโต
  4. รับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น


7 วิธีการบริหารเงินในธุรกิจไม่ให้ขาดทุน

วิธีการบริหารเงินในธุรกิจมีหลายวิธี ลองมาดูตัวอย่างที่กรุงไทยหยิบมานำเสนอให้ทุกคนได้ลองปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองกัน


1. แยกบัญชีเงินส่วนตัวและเงินในการทำธุรกิจ

สำหรับผู้ที่ริเริ่มทำธุรกิจต้องขจัดความคิดที่ว่าธุรกิจกับชีวิตคือสิ่งเดียวกัน และสามารถใช้กระเป๋าเงินร่วมกันได้ เพราะจะก่อปัญหาตามมาสารพัด

ขั้นตอนแรกของการบริหารเงินในธุรกิจ คือ การเปิดบัญชีธนาคารแยกเงินส่วนตัวและเงินทุนสำหรับทำธุรกิจ เพราะหากรวมเงินทุกอย่างไว้ในบัญชีเดียวจะทำให้ไม่รู้รายได้ที่แท้จริงของธุรกิจ และจะใช้เงินปะปนกัน ซึ่งมีผลต่อการวางแผนธุรกิจในอนาคต

เจ้าของธุรกิจอาจจะแบ่งเงินส่วนตัวจากเงินของธุรกิจได้ผ่านทางเงินเดือนหรือเงินปันผลที่กำหนดขึ้นเอง เช่น กำไรจากธุรกิจต่อเดือนประมาณ 30,000 บาท แบ่งเป็นเงินเดือน 10,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว


2. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย

ถัดมาคือการทำบัญชีรายรับและรายจ่ายที่ชัดเจน โดยสรุปยอดเป็นรายวัน ป้องกันการหลงลืม ซึ่งข้อดีของการทำรายรับรายจ่ายคือทำให้ทราบแหล่งที่มาของรายได้ รายจ่ายที่ไม่จำเป็น รวมถึงทราบว่าเงินที่เรียกเก็บจากลูกค้าเข้ามาตามระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่

นอกจากนี้ยังทำให้เห็นความผิดปกติทางการเงิน และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที และที่สำคัญคือทำให้ทราบฐานะทางการเงิน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจด้านธุรกิจในอนาคต

ในปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่เข้ามาช่วยสร้างความสะดวกอย่างแอปพลิเคชัน Krungthai Business ที่เจ้าของธุรกิจสามารถดูสรุปรายรับรายจ่ายทุกสิ้นวัน มองเห็นภาพรวมทางการเงินของธุรกิจตลอดเวลา ตรวจสอบการเคลื่อนไหวของทุก ๆ บัญชีได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังสามารถโอนเงิน รับเงิน จ่ายบิล หรือจะสร้าง QR Code เพื่อรับเงิน รวมถึงสแกนจ่ายผ่าน QR Code ก็ทำได้เช่นกัน


3. ให้ความสำคัญกับกระแสเงินสด

การบริหารเงินในธุรกิจโดยเฉพาะเงินสด เจ้าของธุรกิจต้องบริหารเงินโดยให้มีเงินเข้ามากกว่าเงินออก และต้องรู้ว่ากระแสเงินสดไหลเข้าและไหลออกไปกับอะไรบ้าง เพราะมีประโยชน์ต่อการคาดการณ์รายรับและรายจ่ายในอนาคต

  1. กระแสเงินสดเข้า หรือเงินสดรับ มาจากรายการที่ทำให้มีเงินเข้ามาในธุรกิจ ทั้งการขายสินค้า การขายสินทรัพย์ การขายเครื่องมือ การขายของเก่า การให้บริการ หรือการกู้เงินจากธนาคาร ฯลฯ
  2. กระแสเงินสดออก หรือการจ่ายเงิน เป็นรายการที่ต้องมีการจ่ายเงินออกจากกิจการไปชำระค่าใช้จ่ายประจำวัน เช่น การซื้อสินค้าเข้ามาขาย การจ่ายค่าโฆษณา การจ่ายเงินเดือน การชำระเงินกู้ที่ไปขอยืมมา ฯลฯ

การบริหารเงินในธุรกิจด้วยการให้ความสำคัญกับกระแสเงินสด



4. สำรองเงินไว้ในกรณีฉุกเฉิน

ปัญหาที่ไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ทันตั้งตัว เจ้าของธุรกิจจึงควรมีเงินสำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินสักหนึ่งก้อน โดยเงินสำรองอาจอยู่ในรูปแบบของเงินสดในบัญชีธนาคาร หรือสินทรัพย์ที่แปรสภาพเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับเจ้าของธุรกิจที่อยากมีเงินทุนสำรองไว้ให้อุ่นใจหรือกังวลว่าเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจเริ่มไม่เพียงพอ กรุงไทยขอแนะนำสินเชื่อ SME ไซส์เล็ก สินเชื่อธุรกิจ SME ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ให้กู้ได้สูงสุดถึง 3 ล้านบาท โดย บสย. ค้ำประกันเต็มวงเงิน พร้อมขั้นตอนการกู้ยืมง่าย เป็นทางเลือกและทางรอดให้กับเจ้าของธุรกิจ


5. ติดตามผลของการลงทุน

เงินต่อเงินคือคำที่ได้ยินกันบ่อย ๆ เพราะเมื่อทำบัญชีรายรับและรายจ่ายแล้วเจ้าของธุรกิจเห็นว่ามีกำไรก็มักจะนำเงินก้อนนั้นแบ่งไปลงทุมเพิ่ม เช่น การซื้อสินค้ากักตุนไว้เพื่อขายในอนาคต หรือซื้อเครื่องจักรใหม่ ฯลฯ

ทั้งนี้เจ้าของธุรกิจควรวางแผนการลงทุนเพิ่มอย่างรอบคอบ และต้องติดตามผลการลงทุนเพิ่มทุกครั้ง เพื่อดูว่าผลตอบแทนที่ได้รับคุ้มค่าหรือไม่ พร้อม ๆ กับวางแผนการเงินในอนาคตควบคู่กัน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการลงทุนครั้งต่อไป


6. ให้ความสำคัญกับการทำบัญชีการเงิน

นับว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการบริหารเงินในธุรกิจ สำหรับธุรกิจที่มีขนาดไม่ใหญ่มากสามารถจ้างสำนักงานบัญชีปีละหนึ่งครั้ง เพื่อมาช่วยตรวจสอบรายรับ รายจ่าย เงินภาษี และรายงานให้กรมสรรพากรทราบ ป้องกันการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังในกรณีที่ดำเนินการไม่รัดกุม


7. ตั้งเป้าหมายของกิจการให้ชัดเจน

ขอให้ยอดขายทะลุเป้า เจ้าของธุรกิจมักพูดคำนี้กันบ่อย ๆ เพราะเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งที่วางไว้ ซึ่งเป้าหมายของกิจการไม่ได้มีเพียงแค่ยอดขายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจเป็นการตั้งเป้าหมายถึงสิ่งที่ตั้งใจดำเนินการให้สำเร็จ เช่น จำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น การขยับขยายพื้นที่ การเพิ่มเมนูหรือสินค้าใหม่ ฯลฯ เพราะการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนจะทำให้เจ้าของธุรกิจสามารถดำเนินงานได้ตามแผนที่วางไว้

ทั้งนี้เจ้าของธุรกิจต้องไม่ลืมหัวใจสำคัญในการบริหารเงินในธุรกิจ นั่นคือ การมีวินัยทางการเงินที่เคร่งครัด เมื่อวางแผนทางการเงินที่รัดกุมและเริ่มลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง กรุงไทยเชื่อว่าธุรกิจของทุกคนจะสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน

7 เคล็ดลัดการบริหารเงินในธุรกิจไม่ให้ขาดทุน | ธนาคารกรุงไทย อุดรูรั่วทางการเงินให้กับกิจการของคุณด้วย 7 วิธีการบริหารเงินในธุรกิจให้มีประสิทธิ์ภาพ มีเงินทุนหมุนเวียน เติบโตได้อย่างไม่สะดุด