เรื่องเด่น

7 แนวทาง SME ไทยรับมือทุนจีน ควรทำอย่างไร เพื่ออยู่รอด!

อัพเดทวันที่ 23 ก.ย. 2567

ส่องกลยุทธ์และแนวทางในการทำธุรกิจแบบฉบับ “จิ้วฮวด”


การเข้ามาของทุนจีน ทั้งคนจีน สินค้าจีน และธุรกิจจีน SME ไทย จะปรับตัวอย่างไรเพื่อให้สามารถอยู่รอด แข่งขันได้ และมีโอกาสเติบโตต่อไปในอนาคต โจทย์นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย มีผู้ประกอบการธุรกิจไทยจำนวนไม่น้อยปิดตัวไป ข้อมูลที่มีการเปิดเผยออกมา 6 เดือนแรกของปี 2567 มีโรงงานปิดตัวไปกว่าพันแห่ง ยังไม่นับถึง SME รายย่อยอีกจำนวนมากที่ต้องเลิกกิจการไป เพื่อรับมือกับเรื่องนี้ ลองมาทำความเข้าใจภาพรวมไปพร้อมกัน


คนจีน สินค้าจีน ธุรกิจจีน ไม่เหมือนกัน

เริ่มต้นอยากให้คนทำธุรกิจเข้าใจก่อนว่า คนจีน สินค้าจีน และธุรกิจจีน แตกต่างกัน สำหรับสินค้าจีนมีการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ หมายความว่า ในมุมของโรงงานไทยต้องยอมรับว่า “แพ้” มานานแล้ว เพราะโรงงานจีนมีต้นทุนที่ดีกว่า การนำสินเค้าเข้ามาขายจึงทำราคาได้ต่ำกว่า

สินค้าจีน เข้ามาทำตลาดไทยตั้งแต่ Facebook เริ่มยิง Ads ตามมาด้วยแพลตฟอร์มอย่าง Shopee, Lazada จนมาถึง TikTok ซึ่งช่วงแรกผลกระทบอาจยังไม่มากเพราะเป็นลักษณะนำเข้า (Import) พ่อค้าแม่ค้าคนไทยหลายคนก็นำเข้ามาขาย เงินยังหมุนเวียนอยู่กับคนไทยเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่ง คนจีนเริ่มเข้ามาทำธุรกิจจีนในประเทศไทย



คนจีนทำธุรกิจกับคนจีนในไทยคือจุดเปลี่ยนสำคัญ

คนจีนเข้ามาไทย รัฐบาลอาจมองว่าเป็นนักท่องเที่ยวที่ดีกับภาคบริการและการท่องเที่ยว สร้างรายได้เข้าประเทศ แต่อย่าลืมว่ามีคนจีนจำนวนไม่น้อยย้ายเข้ามาตั้งรกรากในไทย จุดเด่นของคนจีนกลุ่มนี้คือ พูดได้หลายภาษา จีน ไทย อังกฤษ มีทักษะด้านคอมพิวเตอร์ที่โดดเด่น และที่สำคัญมีความขยัน เมื่อเข้ามาทำธุรกิจในไทย ก็มีการติดต่อค้าขายกับจีนได้สะดวก จนถึงกับดึงธุรกิจจากจีนมาเปิดสาขาที่ไทย ผลคือ ผู้ประกอบการไทยตั้งตัวไม่ทัน

คนจีนในไทยทำธุรกิจกับคนจีนในจีน โดยมีคนไทยเป็นลูกค้า สรุปเงินไม่เข้าไทย ไทยไม่ได้อะไรเลย เป็นเพียงพื้นที่ที่เขามาทำธุรกิจกัน และที่น่ากังวลอีกประการคือ จีนเก็บข้อมูลการซื้อขายของคนไทยไว้หมด นิยมซื้ออะไร ราคาเท่าไร ผ่าน e-Marketplace ยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไร ยิ่งได้เปรียบทางธุรกิจ

ยิ่งตอนนี้ระบบขนส่งโลจิสติกส์ดีมากแล้ว ถ้าข้อมูลบอกว่าคนไทยชอบซื้ออะไรราคาเท่าไร จีนสามารถส่งสินค้าเข้ามาขายได้ทันที ทำราคาต่ำกว่า ขนส่งถึงมือรวดเร็ว และแพลตฟอร์มออนไลน์ยังปิดการมองเห็นร้านค้าของไทยได้ด้วย แบบนี้ยิ่งลำบากมากขึ้นอีก


ธุรกิจไทยและอาชีพอะไรบ้าง ที่ได้รับผลกระทบ

สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทันที คือ ของใช้ประจำวัน, สินค้าที่เป็น Mass Product เช่น ประเภทงานพลาสติก และ งานโลหะ จะได้รับผลกระทบที่รุนแรง เพราะจีนมีโรงงานที่สามารถผลิตจำนวนมากได้ มีต้นทุนต่ำ และสามารถส่งออกมาขายได้ทันที ขณะที่ธุรกิจที่ยังได้รับผลกระทบน้อย เช่น ธุรกิจเสื้อผ้า สไตล์การแต่งตัวและความนิยมของคนไทยแตกต่างจากคนจีน ดังนั้น จีนจึงทำหน้าที่เป็นโรงงานผลิตเท่านั้น แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะเขาอาจพลิกจากผู้ผลิตเพียงอย่างเดียวแล้วทำแบรนด์มาแข่งก็เป็นได้

อีกส่วนคือ ธุรกิจร้านอาหาร ที่แม้จะมีอาหารจีนเข้ามาเปิดจำนวนมาก แต่คนไทยยังคุ้นเคยกับอาหารไทยมากกว่า และสุดท้ายคือ กลุ่มธุรกิจบริการ ที่ต้องการ Service Mind แบบไทย เช่น พี่เลี้ยงเด็ก, การดูแลผู้สูงอายุ ยังต้องการคนไทย (หรือประเทศเพื่อนบ้านเรา) เป็นคนดำเนินการอยู่



ธุรกิจไทยจะรับมือกับธุรกิจและสินค้าจีนอย่างไร?

เวลานี้ธุรกิจจีนและสินค้าจีนถาโถมเข้ามาเรียบร้อยแล้ว ตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน อย่างล่าสุด Temu แพลตฟอร์มขายของโดยตรงจากผู้ผลิตและโรงงานจีนถึงผู้บริโภคไทย โหมยิงโฆษณาในทุกช่องทาง เป็นการประกาศให้รู้ว่า จีนกำลังเดินเกมรุกเต็มตัว ดังนั้น มาดูคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการปรับตัวเพื่อเตรียมรับมือกับการแข่งขัน

  1. เปลี่ยนวิธีคิด เจาะตลาดจีนในไทย - หลายพื้นที่ในประเทศไทยมีคนจีนเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก ต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เพราะนี่คือกลุ่มลูกค้าใหม่ หาให้เจอว่า คนจีนชอบอะไร กินอะไร ใช้อะไร และสร้างสินค้าที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้นให้ได้ ไม่ต้องบุกไม่เจาะตลาดถึงประเทศจีน เพราะที่ไปส่วนใหญ่ล้มเหลวกลับมาทั้งนั้น เพราะมีอุปสรรคเรื่องภาษา วัฒนธรรม กฎระเบียบ ดังนั้นมาโฟกัสคนจีนในไทยดีกว่า ถ้าโชคดีคนจีนอาจพาสินค้าของเรากลับไปขายที่จีนด้วย
  2. สร้างสรรค์สินค้าที่ยากจะลอกเลียนแบบ - เมื่อจะจับตลาดคนจีนในไทย ก็ต้องเรียนรู้พฤติกรรม ความต้องการ มีสินค้าหลายตัวที่คนจีนนิยม เช่น ยาดม, ผ้าลายไทย, นมอัดเม็ด, ทุเรียนอบแห้ง ถ้าไม่สามารถผลิตเองได้ ก็ต้องรู้แหล่งผลิต ที่จะสร้างสรรค์สินค้าที่ตรงใจคนจีน
  3. สร้างจุดแข็ง ไม่งั้นก็ปล่อยวาง - อย่างที่บอกว่า งานพลาสติก งานโลหะ ไทยสู้ต้นทุนและราคาจีนไม่ได้ ดังนั้น เราต้องสู้ด้วยการใช้จุดแข็ง เช่น เน้นคุณภาพ เพิ่มความปราณีตความสร้างสรรค์ เข้าไปในผลงาน รวมถึงธุรกิจอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า, งานแฮนด์เมด และอีกมากมายที่เราสามารถทำได้ แต่สุดท้ายถ้าสู้ไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องปล่อยวาง ถ้าดันทุรังสู้ในสงครามที่ยากจะชนะ ถอยมาตั้งหลักและหาลู่ทางใหม่ อาจได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
  4. อย่าปล่อยให้ลูกค้าไทยหลุดมือ - อย่าลืมว่าเราคนไทยด้วยกัน ต้องเข้าใจ Insight ของผู้บริโภค เข้าใจความต้องการ ต้องกลับมาศึกษาอย่างละเอียดว่า สินค้าของเรามีประโยชน์อะไรให้กับลูกค้าและสื่อสารออกไปให้ชัดเจน
  5. ใช้โซเชียลมีเดียให้เกิดประโยชน์ - จุดอ่อนหนึ่งของ SME ไทยคือ ขาดการสื่อสารไปยังผู้บริโภค การใช้สื่อโซเชียลนำเสนอเชิงความรู้ในรูปแบบคอนเทนต์ 1 สินค้าอาจจะทำ 10 คอนเทนต์ ปัจจุบันมีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็สามารถทำทุกอย่างได้ นั่นแปลว่าทักษะด้านดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญ มีแพลตฟอร์มอยู่มากมายหลากหลาย อย่ายึดติดกับแพลตฟอร์มเดียว แต่จงใช้ทุกเครื่องมือที่มี ใช้ข้อมูลที่ได้ เพื่อเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น
  6. ใช้เทคโนโลยีเพิ่มพลังให้ธุรกิจ - สำหรับคนเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ หรือกำลังปรับปรุงธุรกิจเดิม ขอแนะนำให้ใช้จำนวนคนให้น้อย ใช้เทคโนโลยีให้มาก เพื่อให้ต้นทุนน้อยที่สุดและมีประสิทธิภาพสูงสุด
  7. อย่าลืมทำบัญชีให้ถูกต้อง - SME ไทยมองข้าม การทำบัญชี หลายคนทำธุรกิจแต่ไม่ทำบัญชีให้ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น กลายเป็นจุดจบของธุรกิจในเวลาไม่นาน การทำบัญชีจะทำให้รู้รายรับรายจ่ายที่ชัดเจน รู้จุดแข็งจุดอ่อน เงินรั่วไหลตรงไหน และจะได้จัดการแก้ไขได้ทันท่วงที


สรุป: เปลี่ยนความกลัวเป็นความพร้อม แล้วสู้ต่อ

ไม่แปลกที่จะกลัวทุนจีนที่เข้ามาแข่งขันในไทย ซึ่งมีข้อได้เปรียบธุรกิจไทยไม่น้อย ส่วนหนึ่งอาจต้องรอมาตรการจากภาครัฐ แต่ระหว่างนั้น เราต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม เปลี่ยนความกลัวที่มี เป็นกลยุทธ์สร้างความพร้อม ให้ธุรกิจอยู่รอด แข่งขันได้และมีโอกาสเติบโต ถ้ามีไอเดีย มีแนวคิดในการทำธุรกิจ ลองมาปรึกษากับธนาคารกรุงไทยได้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่งได้ในอนาคต

#เคล็ดลับธุรกิจ #รับมือทุนจีน #สินค้าจีน #TEMU #Krungthai #กรุงไทย #KrungthaiSME #กรุงไทยSME #พลิกธุรกิจไทยสู่ความยั่งยืน


แนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับธุรกิจท่าน