เรื่องเด่น

จากพ่อค้าผักในตลาด สู่ธุรกิจท่อเหล็กมาตรฐานโลกยอดขายได้กว่า 10,000 ตัน/เดือน ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และ ESG

อัพเดทวันที่ 30 ก.ค. 2567

ทำธุรกิจโรงแรมอย่างไร ให้มีอัตราคนเข้าพักมากกว่า 90% ทุกสาขา


Business Hightlights

  • คุณสงวน สกุลวรรัตน์ - ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยคูณสตีล จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายท่อเหล็ก เหล็กฉาก และบริการปั๊มขึ้นรูป เจาะรู เคลือบสี โดยสานต่อความสำเร็จจากรุ่นคุณพ่อ ที่ปลุกปั้นไทยคูณสตีลขึ้นมาตั้งแต่ปี 2500 และดำเนินธุรกิจต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ยาวนานกว่า 66 ปีการบริหารของคุณสงวนได้ถอดแบบการทำธุรกิจของคุณพ่อ ทั้งในแง่การผลิตสินค้าคุณภาพ การดูแลใส่ใจลูกค้าอย่างมีคุณธรรม พร้อมผสมผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย จนเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มจากเดิมได้ถึง 3 เท่า
  • จากการประกาศจุดยืนของประเทศไทยเรื่อง Net Zero ในการประชุม COP26 คุณสงวนจึงนำแนวคิด ESG Model เข้ามาใช้กับธุรกิจในทุกมิติ นำไปสู่การสร้างสรรค์สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการเปิดตัว “ท่อเหล็กรักษ์โลก (Eco Friendly Pipe)”เป็นรายแรกของประเทศ
  • ไทยคูณสตีลได้ปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่ให้สอดรับกับแนวคิด ESG Model โดยในส่วนของพนักงาน (Green People) ได้วางรากฐานตั้งแต่ทัศนคติ การบริหารจัดการการทำงาน จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร ผสานกับการยกระดับกระบวนการผลิต (Green Process) ที่นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ จนสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงจากเดิมถึง 20% และลดของเสียจากการผลิตเหลือเพียง 2% เท่านั้น เพื่อสร้างสินค้า (Green Product) ที่เป็นมิตรต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
  • ด้วยการดำเนินชีวิต ทั้งส่วนตัว การทำงานด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเท การอุทิศตนทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ทำให้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัล “บุคคลตัวอย่างภาคธุรกิจแห่งปี 2022 (Quality Person of the Year 2022) ภาคธุรกิจวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร” จากมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.) โดยมี ศ.ดร.เกษม จันทร์แก้ว องคมนตรี เป็นประธานพิธีมอบโล่รางวัล
  • รวมถึงความร่วมมือกับ Context Studio สร้างสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรมจากท่อเหล็กและโซ่เหล็กด้วยคอนเซปต์ “Steel for Tomorrow” จนคว้ารางวัล The Thematic Pavilion of the Year 2023 จากงานสถาปนิก’66

รับช่วงสานต่อความสำเร็จ จากรุ่นสู่รุ่น

เริ่มต้นจากรุ่นคุณพ่อ (คุณบักคุง แซ่ตั้ง) ที่ผันตัวจากพ่อค้าขายผัก-ปลามาจับธุรกิจโรงเหล็ก ด้วยเห็นว่าอุตสาหกรรมเหล็กน่าจะไปได้ดี โดยกู้เงินมาลงทุนซื้อเครื่องจักรและตั้งโรงงานแถวคลองเตย เริ่มจากการผลิตโซ่เหล็ก สปริง ตู้เหล็ก และสินค้าเกี่ยวกับโลหะ จนเมื่อปี 2518 ได้ย้ายมาตั้งโรงงานใหม่ที่สมุทรปราการ

“คุณพ่อเห็นโรงงานจักรยานใกล้ ๆ ใช้ท่อเหล็กในการประกอบชิ้นงาน ดูแล้วน่าจะทำกำไรดี จึงซื้อเครื่องจักรสำหรับใช้ผลิตท่อมาเพิ่ม ปรากฏว่าขายดีจริง ๆ เพราะท่อเหล็กเอาไปใช้งานได้หลากหลายในกลุ่มโครงสร้างเบา ทั้งเฟอร์นิเจอร์ เก้าอี้ โต๊ะ ทำชั้นวางของ ร้านคาเฟ่ รีสอร์ท นั่งร้าน กันสาด ประตูรั้ว งานตกแต่งภายในต่าง ๆ ตอนนั้นมีเครื่องจักรผลิตท่ออยู่ 3 เครื่อง กิจการก็โตจนทำไม่ทัน เราจึงเริ่มขยายธุรกิจ สร้างโรงงานเพิ่มอยู่ใกล้ ๆ กันในจังหวัดสมุทรปราการทั้งหมด

“เมื่อ 30 กว่าปีก่อน เราขยายธุรกิจโดยใช้วงเงินจากธนาคารกรุงไทย จากวงเงินเริ่มต้น 58 ล้านบาท ถึงตอนนี้วงเงินเพิ่มขึ้นเป็นพันล้าน เรียกได้ว่าเราเติบโตมาด้วยกันกับธนาคารกรุงไทยตลอดมา คอยสนับสนุนมาโดยตลอด ต้องขอขอบคุณธนาคารกรุงไทยที่ทำให้ไทยคูณสตีลเป็นเหมือนครอบครัวมากกว่าเป็นคู่ค้าที่ไม่เคยทิ้งกัน เพราะธุรกิจเหล็กมีความเสี่ยงสูง แต่ธนาคารกรุงไทยก็พร้อมสนับสนุนเราเสมอ การให้สินเชื่อ การเพิ่มวงเงินและให้บริการอื่น ๆ ที่ครบวงจร จนธุรกิจเราผ่านวิกฤติมาได้ถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ และโควิด 19 ตอนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ธนาคารกรุงไทยก็ออกแคมเปญอัศวินม้าขาวมาช่วยผู้ประกอบการ ไม่ทิ้งเอสเอ็มอีไทย พอมาวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ไทยคูณขาดทุนเป็นร้อยล้าน หนักกว่าปี 2540 มาก แต่ธนาคารกรุงไทยก็ไม่เคยตัดวงเงินเราเลย ทั้งหมดนี้ช่วยให้กลุ่มบริษัทไทยคูณสตีล กลับมายืนหยัดและเติบโตอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้””



ไทยคูณยุคเปลี่ยนผ่าน สร้างวัฒนธรรมองค์กรเพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน

ด้วยความคลุกคลีกับโรงงานมาตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ ประกอบกับการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์โดยตรง จึงสามารถมารับช่วงต่องานของคุณพ่อได้ทันที โดยคุณสงวนดูแลส่วนโรงงานเป็นหลักและพี่สาวดูแลงานทรัพยากรบุคคลและบัญชี เริ่มมีการจัดระบบต่าง ๆ ของโรงงาน นำคอมพิวเตอร์มาใช้มากขึ้น แบ่งแผนกเป็นการผลิต วางแผน จัดส่ง และคลังสินค้าอย่างชัดเจน รวมถึงปรับปรุงเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพ

“ทุกวันนี้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิม 3 เท่า เมื่อเทียบจากยุคคุณพ่อ มีการเพิ่มกะในการทำงาน สามารถสร้างยอดขายจากเดือนละ 2,000 – 3,000 ตัน มาเป็น 10,000 ตัน เรามี DNA ของการเป็นผู้ผลิตมาตั้งแต่ยุคคุณพ่อ รู้ว่าจะผลิตสินค้าอย่างไร บริหารคนอย่างไร จะบริหารต้นทุนอย่างไรให้แข่งขันได้ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้เป็นจุดแข็งของเรา เพราะการเป็น Manufacturing ที่ดีเลิศ หัวใจหลักคือการบริหารการจัดการผลิตที่มีประสิทธิภาพ Minimize Waste และเป็น Cost Leadership (กลยุทธ์ผู้นำด้านต้นทุน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน)

“สมัยคุณพ่อทำธุรกิจมีคู่แข่งไม่ได้เยอะมาก ผลิตออกมาได้เท่าไรก็จะมีคนมารับซื้อไปขายต่อทันที ธุรกิจเป็นแบบเถ้าแก่คุยกับเถ้าแก่ ปัจจุบันก็เพิ่มเรื่องเอกสารมากขึ้น ลูกค้าหลายรายตั้งแต่รุ่นคุณพ่อก็ยังซื้อขายและเติบโตมาด้วยกัน เพราะสำหรับเราการรักษาคำพูด ความรับผิดชอบ ยังสำคัญเสมอ สินค้ามีปัญหาเราแก้ไขให้ทันที จึงทำให้ไทยคูณได้รับความไว้วางใจเสมอมา ถ้าราคาเท่ากันหรือแพงกว่าคู่แข่งนิดหน่อย ลูกค้าก็จะตัดสินใจซื้อโดยไม่ลังเลเพราะ Positioning ของไทยคูณคือ คุณภาพ เราขายสินค้าพรีเมียม เป็นอันดับหนึ่งในเรื่องท่อเหล็กโครงสร้างเบา ลูกค้าจะพูดถึงสินค้าจากไทยคูณว่า สวย คุณภาพดี ซื้อแล้วสบายใจ ใช้แล้วไม่มีปัญหา ดั่งคำพูดที่ว่า “โลกธุรกิจของถูกและดีไม่มีในโลก ทุกอย่างมีต้นทุนที่ต้องจ่าย” เพราะฉะนั้นเรื่องคุณภาพที่ดีด้วยราคาที่เหมาะสม พร้อมความซื่อสัตย์ และจริงใจ มีความสำคัญทุกยุคสมัย”



ESG Model สร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจ

หลังการประกาศจุดยืนของประเทศไทยในที่ประชุม COP26 (Conference of the Parties ครั้งที่ 26 จัดขึ้นที่ประเทศสกอตแลนด์ เป็นการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) เพื่อเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Net Zero ทำให้เกิดการตั้งเป้าสู่องค์กรร้อยปีของไทยคูณ และได้ใช้เป็นจุดเปลี่ยนในการ Rebranding องค์กรใหม่

“เราเริ่มกันทันทีและเป็นเจ้าแรกในธุรกิจท่อเหล็กที่ประกาศเรื่อง Net Zero และดีไซน์องค์กรใหม่ขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้าด้วยบริบท ใหม่ของคำว่า Steel “Thai Koon Steel For Tomorrow” ด้วยการทำธุรกิจเหล็กด้วยความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ เดินหน้าสู่องค์กรแห่งอนาคต (Digital and Smart Organization) และขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน เริ่มทำการตลาด สร้างการรับรู้เรื่อง Go Green with our Product เราออกสินค้า Thai Koon Eco Friendly Pipe ท่อเหล็กที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน ด้วยคอนเซปต์ Green Product, Green Process by Green People

“ความหมาย Green Process ของเราคือ การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ด้วยธุรกิจเหล็กเป็นธุรกิจที่ใช้ปริมาณไฟฟ้ามาก เราจึงเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดจาก Solar Cell ลงทุนตู้ไฟที่ใช้เทคโนโลยีสูงซึ่งลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ถึง 20% ต่อปี และทุก ๆ กระบวนการผลิตใช้วัสดุที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด พร้อมทั้งปรับปรุงกระบวนการผลิตจนเกิด Waste ในระดับที่น้อยมากเพียง 2% เท่านั้น ซึ่งมาจากการบริหารจัดการและการนำเครื่องจักรประสิทธิภาพสูงมาใช้ Transform เป็นองค์กรดิจิทัล ด้วยการนำเทคโนโลยี AI ต่าง ๆ เช่น นำ RPA (Robotic Process Automation) และ Chat Box มาใช้ในงาน Routine เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดความผิดพลาด ลดการใช้คน เพื่อลดค่าใช้จ่ายขององค์กร และนำโปรแกรม SAP มาใช้เป็น Infrastructure ช่วยเรื่องการจัดระเบียบ การเก็บข้อมูล เพื่อเชื่อมต่อเป็น Smart Office ให้ผู้ใช้เรียกดูเรียลไทม์ทั้งระบบการผลิต การขาย ส่วนลูกค้าก็สามารถตรวจสอบสินค้าได้แบบเรียลไทม์ เชื่อมต่อกับระบบการเงินและการทำ E-Payment ต่าง ๆ โดยการลงทุนของบริษัททุกครั้งจะครอบคลุมเรื่องการเพิ่ม Productivity และลดการใช้พลังงานเป็นหลัก

“ขณะเดียวกันการจะเป็นองค์กรยั่งยืน พนักงานทุกคนต้องเป็น Green People มี Mindset การทำงานที่ถูกต้อง เพราะ ESG คือยุคใหม่ของการทำธุรกิจ เมื่อ DNA เราคือผู้ผลิต ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้แข่งขันได้ด้วย ลูกค้าที่ซื้อสินค้าก็ได้เรื่อง สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สามารถนำไปแข่งขันต่อได้ ทางเราสามารถรับรองผลิตภัณฑ์ได้ว่าใช้ส่วนประกอบที่เป็น Green Product ซึ่งหลังจากเราสื่อสารเรื่องเหล่านี้ออกไป ก็เริ่มมีบริษัทใหญ่ ๆ ติดต่อมาเพราะไม่เคยมีใครทำมาก่อน การทำธุรกิจคำว่า First to the Market เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราได้การรับรอง Carbon Footprint ของสินค้าแล้ว และเรากำลังขอการรับรองCarbon Footprint ขององค์กรเป็นลำดับต่อไป ตอนนี้โรงงานได้รับการรับรอง Green Industry ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) คือ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ มีการติดตามประเมินผลและทบทวนเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้สินค้าของเราเป็น Green Product โดยอัตโนมัติ และเรามีแผนจะพัฒนาองค์กรไปถึง Green Industry ระดับที่ 5 ในอนาคตอีกด้วย”



ตั้งเป้าหมายธุรกิจ เติบโตบนฐานคิดแบบ ESG

ปัจจุบันไทยคูณสตีลมีฐานลูกค้ากระจายอยู่ทั่วประเทศใน 3 ช่องทางการขายคือ Traditional Trade เป็นสัดส่วนใหญ่ 85% ในกลุ่มดิสทริบิวเตอร์คือ ลูกค้าดั้งเดิมที่ทำธุรกิจมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และกลุ่ม Modern Trade กับกลุ่ม End User อีกประมาณ 10% และ 5% ตามลำดับ

“ธุรกิจเหล็กถือเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง ผลิตภัณฑ์เดิมเราอาจจะถูก Disrupt ได้ตลอดเวลา เราจึงเลือกที่จะ Disrupt ตัวเองก่อน มีการตั้งแผนก New Model ขึ้นมาเพื่อสร้างความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ด้วยการเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ในการผลิตระแนงเหล็กลายไม้ที่เปิดตัวไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะเอาศักยภาพการเป็นผู้ผลิตเหล็กของเราไปอยู่ในกลุ่มงานสถาปัตยกรรมให้มากขึ้น เป็นการวางแผนในระยะยาวที่คาดว่าจะสร้างมูลค่าได้มหาศาล

“นอกจากนี้เรายังมีบริษัทในเครือคือ บริษัท ไทยคูณเชน จำกัด ที่ Spin-off มาตอนปี 2561 ผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทโซ่เหล็กเป็นหลัก ซึ่งเราตั้งใจจะเติบโตเป็น 1 ใน 10 Global Chain Company ด้วยในอนาคต และก็มีการนำ ESG Model มาใช้ในการดำเนินธุรกิจเช่นกัน โดยจะลงทุนอย่างต่อเนื่องใน 3 ด้านที่สำคัญของธุรกิจสำหรับทศวรรษนี้คือ เทคโนโลยี นวัตกรรม และ ESG ตั้งเป้าให้องค์กรที่คุณพ่อสร้างมา เป็นองค์กรร้อยปีที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ เป็นองค์กรที่กะทัดรัด เป็นบริษัทธุรกิจเหล็กยุคใหม่ที่คนรุ่นใหม่อยากเข้ามาร่วมงานด้วย มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี มีความปลอดภัยสูงสุด

“สำหรับ SME ผมคิดว่าถ้าใครยังไม่เริ่มทำเรื่อง ESG ตั้งแต่ตอนนี้ ในอนาคตก็จะไม่สามารถเชื่อมต่อกับองค์กรใหญ่ ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ จะเสียโอกาสทางธุรกิจไปมาก เราต้องยอมรับว่า ESG คือกติกาใหม่ของโลกธุรกิจ ที่เขาพูดกันว่า ‘เป็นทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก’ ถ้าไม่ทำก็ตกขบวนเพราะวงล้อนี้ได้เริ่มหมุนไปแล้ว แม้ในไทยอาจจะยังหมุนช้าอยู่ แต่หากจะส่งสินค้าไปขายที่ยุโรป ธุรกิจต้องแสดงเรื่อง Carbon Footprint และกิจกรรมที่เกี่ยวกับ ESG ด้วย ผมจึงอยากให้ SME ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ต้องเป็นนักสร้างโอกาสให้ตัวเอง ต้องมองหาพันธมิตรทางธุรกิจ ต้องเปิดกว้างแล้ว Synergy กัน เรื่องการเงินต้องรักษาสภาพคล่องและบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ ให้ดี ในวงการเหล็กจะมีคำพูดว่า ขาดทุนยังอยู่ได้ แต่ถ้าขาดเงินหรือขาดสภาพคล่องจะอยู่ไม่ได้” คุณสงวนกล่าวทิ้งท้าย กลุ่มบริษัท ไทยคูณสตีล มุ่งมั่นที่จะนำอุตสาหกรรมท่อเหล็กไทย ไปสู่บริบทใหม่ของคำว่า Steel for Tomorrow ด้วยนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ พร้อมกับสร้างคุณค่ากลับสู่ เศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนที่แท้จริง



Lesson Learned

  • คุณสงวนมองข้อดีเรื่องหนึ่งในธุรกิจว่า สินค้าประเภทท่อเหล็กมีการใช้งานได้หลากหลายในหลายอุตสาหกรรม มีกลุ่มลูกค้าอยู่ทั่วประเทศ เปรียบเสมือนการกระจายความเสี่ยงในตัวเอง เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจพ้นวิกฤติมาได้ ควบคู่กับการบริหารจัดการที่ดี
  • Key Success Factor ที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จเติบโตมาถึงทุกวันนี้ มาจากปรัชญาเรื่องความซื่อสัตย์ ตามสโลแกน “เหนือกว่าคุณภาพ คือคุณธรรมและความใส่ใจ” การไม่เอาเปรียบคู่ค้า การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทั้งหมดนี้คือ Soft Power ที่โดดเด่นของ กลุ่มบริษัท ไทยคูณสตีล
  • ทำงานโดยยึดหลักกล้าคิด กล้าริเริ่ม เพื่อเป็น “First to the market, time to the market คือเป็นรายแรกของตลาดในเวลาที่เหมาะสม” บนพื้นฐานความซื่อสัตย์และมีคุณธรรม วัฒนธรรมองค์กรทั้งหมดจะถูกสร้างขึ้นจากสิ่งเหล่านี้
  • บทเรียนที่ได้รับหลังผ่านวิกฤติมาหลายครั้งคือ การทำธุรกิจอย่างมีศีลธรรมและคุณธรรม ต้องไม่หาทางล้มบนฟูก (Money Siphoning - การยักย้ายถ่ายเทผลประโยชน์ของบริษัทไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว) มีความตั้งใจทำธุรกิจ หากมีปัญหาก็เจรจาหาทางออกด้วยวิธีที่ถูกต้อง
  • โลกธุรกิจไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ ทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย การมีทัศนคติที่ดี มีความพยายาม ความอดทน ฝ่าฟันอุปสรรค มองหาแรงบันดาลใจจากบุคคลต่าง ๆ แล้วหยิบโมเดลเหล่านั้นมาสร้าง Passion และกำลังใจให้ตัวเองเพื่อก้าวต่อไป
  • ร่วมกับ หลักสูตรภาพยนตร์ และดิจิทัล มีเดีย ภาควิชานิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หรือ ฟิล์มลาดกระบัง จัดงาน Connect & Share Thai Koon Chain for Tomorrow เปิดมิติใหม่แห่งนวัตกรรมข้ามอุตสาหกรรม (Cross Industry Innovation) ระหว่างอุตสาหกรรมการผลิตท่อเหล็กและสถาบันการศึกษาในประเทศไทย โดยสร้างสรรค์เนื้อหาถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์สั้น เรื่อง “Thai Koon Chain for Tomorrow” อีกทั้งเชิญชวนคู่ค้าทางธุรกิจร่วมสนับสนุนภาคการศึกษาและโรงพยาบาลเพื่อสาธารณประโยชน์

ที่มา: กรุงไทย SME FOCUS Issue 40 คอลัมน์ Successful Business “ไทยคูณสตีล” มุ่งสู่การเป็นองค์กรร้อยปีด้วยแนวคิดธุรกิจ ESG Model

#เคล็ดลับธุรกิจ #ไทยคูณสตีล #กรุงไทยSME #กรุงไทย #Krungthai #พลิกธุรกิจไทยสู่ความยั่งยืน