หุ้นจีนเริ่มตั้งหลักได้หรือยัง?
หุ้นจีนที่บอบช้ำในปีที่แล้ว ราคาวันนี้ปฏิเสธได้ยากว่าน่าสนใจ หุ้นดี ๆ P/E ไม่ถึง 20 เท่า แต่จะถูกลงอีกหรือไม่ นโยบาย Common Prosperity นั้นไม่เปลี่ยนทิศทางแน่ แต่ท่าทีของปักกิ่งที่ในการกดดันบริษัทเทคโนโลยีได้บรรเทาลงบ้างหรือไม่ เราในฐานะนักลงทุนจะมองเรื่องนี้ และประเมินทิศทางหุ้นจีนอย่างไร Investment Talks ขอสรุปให้ฟังดังนี้ครับ ...
ถ้าทุกท่านยังพอจำกันได้ ปีที่แล้วถือเป็นปีทองของตลาดหุ้นเกือบทั้งโลก ด้วยผลตอบแทนระดับสองหลักกันมากมาย ดัชนีดาวโจนส์ +19% ดัชนีแนสแดกซึ่งเป็นกลุ่มเทคโนโลยี +21% ขนาดหุ้นไทยปีที่แล้วยัง +14% แต่หุ้นจีนกลับติดลบ ปี 2021 ดัชนี CSI300 -5% หั่งเส็ง -14% MSCI China -22% แต่หลังเข้าสู่ปีใหม่นี้ ทิศทางดูจะเปลี่ยนไปบ้าง ขณะที่หุ้นฝั่งสหรัฐกลับบอบช้ำ ดัชนีดาวโจนส์ -4% ดัชนีแนสแดก -10% ขณะที่ MSCI China ไม่เปลี่ยนแปลง และหั่วเส็ง +4%
คำถามสำคัญมีอยู่ว่า ภาพที่ดูเหมือนว่าหุ้นจีนเริ่มจะตั้งหลักได้แล้ว รองรับด้วยปัจจัยพื้นฐานที่เหมาะสมแล้ว เราด่วนสรุปไปหรือไม่ หรือมันอาจจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ??
ย้อนไปปีที่แล้ว หุ้นจีนถูกกดดันจากบรรยากาศความสัมพันธ์อันร้อนระอุระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับจีน แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือการที่รัฐบาลจีนใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดกับบริษัทเทคโนโลยี ตัดตอนธุรกิจเทครายแล้วรายเล่า รัฐบาลจีนดำเนินมาตราการเหล่านี้ในนามของนโยบาย Common Prosperity ที่อาจจะแปลเป็นไทยว่า ‘เจริญรุ่งเรืองร่วมกัน’
มีคำอธิบายจากทั้งนักวิชาการในจีน ในเอเชีย และตะวันตกว่า นอกจากการมุ่งเน้นกระจายความมั่งคั่งให้ทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำและการผูกขาด รัฐบาลจีนต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตในภาคการผลิตมากกว่าภาคบริการที่มีการจ้างงานน้อย มีผลิตภาพทางเศรษฐกิจน้อยกว่า
นักวิเคราะห์หุ้นชี้ว่า รัฐบาลจีนไม่ได้ถึงกับเป็นปฏิปักษ์ต่อบริษัทเทคโนโลยีเอกชนไปเสียทั้งหมด เงินลงทุนจากต่างประเทศที่เข้าไปในประเทศจีนไม่ได้ลดลงเลย เพียงแต่หลีกเลี่ยงกลุ่มที่คาดว่าจะเป็นเป้าในการตัดตอนของรัฐ เช่น ภาคบริการ บริษัทโลจิสติก เช่น รถแท็กซี่ โรงเรียนติวเตอร์ ที่เรียกว่าซอฟท์เทค แต่มุ่งเน้นไปที่ภาคการผลิตที่จับต้องได้ และมีการจ้างงาน เช่น โรงงานผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ รถไฟฟ้า หรือที่เรียกว่าฮาร์ดเท็ค
หลายปีมาแล้วที่จีนพยายามนำเสนอไอเดียการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้ปฏิเสธทุนนิยม แต่เป็นทุนนิยมที่อาจแตกต่างไปจากทุนนิยมตะวันตก ที่เน้นการแข่งขันเสรี ปลดปล่อยพลังความคิดความสร้างสรรค์ เน้นประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือต้องจบลงที่กำไรสูงสุด ซึ่งบางครั้งก็มีความมืดหม่น จนบางครั้งถลำไปจนถึงคำว่าใครมือยาวสาวได้สาวเอา
รัฐบาลปักกิ่งจึงนำเสนอทุนนิยมที่ดูเหมือนชูจุดขายเอาใจชนชั้นกลางและล่าง ตัดตอนมหาเศรษฐีที่ชนะเกมธุรกิจด้วยอำนาจผูกขาด Network effect อันเป็นที่สรรเสริญในโลกตะวันตก แต่ถ้าอยู่ในจีนจะกลายเป็นเป้าตัดตอน
ดังนั้น ทั้ง ๆ ที่ Common Prosperity มีท่าทีแทรกแซงกลไกตลาดเสรีชัดเจน ทำเอานักลงทุนบาดเจ็บไม่มากมาย แต่เรื่องนี้กลับมีเสียงตอบรับในด้านบวกอย่างกว้างขวาง แม้ทั้งในหมู่นักลงทุน แวดวงวิชาการ รวมถึงคนทั่วๆไป ที่เห็นว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องอาจต้องยอมเจ็บเพื่อการเดินหน้าต่อไปอย่างมีคุณภาพ โดยอาจแลกกับการควบคุมโดยรัฐ ลดทอนความคิดสร้างสรรค์ ประสิทธิภาพ และรวมไปถึงปัญหาสิทธิมนุษยชน คือมีข้อดีข้อเสียด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งเราจะไม่ถกเถียงถึงความถูกผิดในที่นี้
กลับมาสู่คำถามที่ว่า แล้วหุ้นจีนยังคงน่าลงทุนหรือไม่ จึงมาถึงบทสรุป 3 ประการ
ประการที่ 1 นักลงทุนทั่วโลก คงไม่สามารถไม่มี exposure ในประเทศจีนที่มีสัดส่วน GDP ราว 1 ใน 5 ของทั้งโลกไปได้
ประการที่ 2 ให้เลือกลงทุนในกลุ่มที่สอดคล้องกับทิศทางของ Common Prosperity หลีกเลี่ยงกลุ่มบันเทิง เกมส์ สินค้าฟุ่มเฟือย อสังหาริมทรัพย์ และมุ่งเน้นกลุ่มภาคการผลิต เช่น การผลิตชิป พลังงานทางเลือก รถไฟฟ้า
และประการสุดท้าย นักลงทุนต้องมองว่า หุ้นจีนอาจจะไม่ใช่ตลาดหวือหวาที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด แต่จะเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม และ fair กับทุกๆคนที่เกี่ยวข้อง และนั่นก็คือ message แบบจีนๆ จากปักกิ่งถึงนักลงทุนทั่วโลกครับ
Reference :