เรียนรู้การเงิน

Digital Banking โอกาสเพิ่มกำไรของ SME

อัพเดทวันที่ 12 ก.ค. 2567

Digital Banking โอกาสเพิ่มกำไรของ SME

“ระหว่างกระเป๋าสตางค์กับโทรศัพท์มือถือ ถ้าต้องออกจากบ้านโดยเอาไปได้แค่ 1 อย่าง คุณจะเลือกอะไรครับ?” หากเป็นช่วง 5 ปีก่อน คำตอบจะมีสัดส่วนไม่ต่างกันมากนัก แต่ช่วงหลัง ๆ คนส่วนใหญ่ “เลือกโทรศัพท์มือถือมากกว่ากระเป๋าสตางค์” พร้อมกับเหตุผลง่าย ๆ คือ “เราสามารถรับจ่ายเงินผ่านโทรศัพท์ได้หมด” ต้องบอกว่าเรื่องราวทั้งหมดนี้สืบเนื่องจากระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้ชื่อ National e-Payment ที่ถูกขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน และมันคือที่มาของการใช้งาน Digital Banking ผ่านระบบของธนาคารต่าง ๆ เช่น

  • ระบบการชำระเงินผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะบัตรเดบิตที่มีค่าธรรมเนียมต่ำแทนการใช้เงินสด
  • ระบบการชำระเงินแบบ Any ID หรือ พร้อมเพย์ จากแนวคิดว่าการมีระบบบริการโอนเงินที่สะดวกรวดเร็วและปลอดภัย เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปได้อย่างคล่องตัว รวมถึงช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในการดำเนินธุรกิจของประเทศ โดยในปัจจุบันสามารถโอนเงินผ่านหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ เลขประจำตัวประชาชน เลขประจำตัวนิติบุคคล หมายเลขกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet ID) โดยลงทะเบียนผ่านสถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการชำระเงิน เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน
  • ระบบการชำระเงินแบบ QR Code ที่มีการแสกนกันอย่างแพร่หลาย เพิ่มความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอยจนถึงทุกวันนี้

Digital Banking ส่งผลกับภาษีธุรกิจ SMEs อย่างไร

ระบบต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลดีต่อยอดขายของธุรกิจ ทั้งเพิ่มโอกาสในการได้รับเงินจากลูกค้าตามช่องทางที่ลูกค้าสะดวกในการชำระเงิน แต่ก็มีหลายคนตั้งคำถามต่อว่า แล้วจะส่งผลกระทบต่อภาษีอย่างไร ? ธุรกิจต้องรับภาระภาษีมากขึ้นหรือเปล่า?

“ถ้าบอกว่าไม่กระทบต่อภาษีเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่เจ้าของธุรกิจจะบริหารจัดการก็ง่ายขึ้นตามไปด้วย” ผมมองว่าควรตอบคำถามนี้ด้วยภาพรวมของธุรกิจ ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ธุรกิจมี “กำไร” เพิ่มขึ้นหรือเปล่า แม้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น แต่ถ้ามี “กำไรเพิ่มขึ้น” ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ลองคิดตัวอย่างง่าย ๆ อย่างการเปลี่ยนมาใช้ พร้อมเพย์สำหรับนิติบุคคล หรือ พร้อมเพย์ธุรกิจ ที่ทำให้หน่วยงานที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล สามารถใช้เลขประจำตัวนิติบุคคล 13 หลัก เป็นเลขที่รับโอนเงินแทนบัญชีธนาคาร แทนการโอนเงินแบบเดิมที่ต้องเปิดบัญชีไว้หลายธนาคารเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า ซึ่งช่วยลดค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้ธนาคารได้ส่วนหนึ่ง การลดค่าใช้จ่ายนี้ก็ย่อมทำให้กำไรที่มีเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน


ปรับระบบภาษีตอบโจทย์ยุคดิจิทัล

นอกจากนั้น ระบบการตรวจสอบภาษีในปัจจุบันก็มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการยื่นแบบผ่านระบบ (e-Filing) หรือการตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ที่มีการใช้เทคโนโลยีมาเกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น ไปจนถึงระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ในการออกเอกสารต่าง ๆ โดยไม่ต้องใช้กระดาษ เช่น ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ระบบการหักภาษี ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) และอากรสแตมป์ (e-Stamp Duty) ซึ่งทั้งหมดนี้คือการเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องกับระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ในอีกด้านหนึ่งของทางภาครัฐ เพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงระบบชำระเงินของประเทศไทย ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์นี้ ทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายช้อปดีมีคืนตอนช่วงต้นปี 2566 ซึ่งกระตุ้นให้การซื้อของที่ได้รับใบกำกับภาษีในรูปแบบ e-Tax Invoice ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นอีก 10,000 บาท หรือรวมสูงสุดถึง 40,000 บาท เมื่อเทียบกับใบกำกับภาษีแบบกระดาษที่ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีเพียง 30,000 บาท ตรงนี้ถือเป็นโอกาสของธุรกิจที่เตรียมพร้อมและรับมือการเปลี่ยนแปลงไว้ล่วงหน้า


แนวทางการปรับตัวของ SMEs

  • พิจารณาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการเปลี่ยนแปลงระบบต่าง ๆ ให้สอดรับกับการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับโอกาสที่เพิ่มขึ้นจากการขายสินค้าหรือให้บริการ ถ้าหากมองแล้วว่าคุ้มค่าและส่งผลต่อกำไรของธุรกิจ ก็ควรคิดแนวทางปรับตัวเพื่อรองรับเรื่องดังกล่าวไว้แต่เนิ่น ๆ
  • พิจารณานโยบายภาษีที่เป็นประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่ช่วยเพิ่มรายจ่ายทางด้านภาษีให้กับธุรกิจ เช่น รายจ่ายเพื่อการลงทุนในระบบการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือการจัดซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เก็บใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อื่นใดที่ใช้ร่วมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการจัดทำ ส่งมอบ รับ หรือเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารถใช้เป็นรายจ่ายได้เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่า (100%) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2568 (อ้างอิง: พระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 766)

มาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนคงจะพอมองเห็นบทสรุปของเรื่องนี้ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงของระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย และรัฐบาลก็พยายามสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้อย่างเต็มระบบ เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจและระบบภาษีของประเทศไทย สิ่งสำคัญคือ การมองหาโอกาสและมองเห็นช่องทางในการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจของเรา ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการทุกท่านที่จะปรับตัวไปด้วยกันครับ คอลัมน์


กรุงไทย SME FOCUS Issue 41| Tax & Law
โดย TAXBugnoms บล๊อกภาษีข้างถนน

#เคล็ดลับธุรกิจ #กรุงไทย #Krungthai #DigitalBanking #Tax #Law #KrungthaiSME #กรุงไทยSME #พลิกธุรกิจสู่โลกดิจิทัล