Digital Banking = บันไดเลื่อน ส่ง SME เข้าถึงบริการทางการเงินออนไลน์ได้สะดวก
ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เคยดำรงตำแหน่ง Group Chief Economist และกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท Sea Group เจ้าของ Garena, Shopee, Sea Money (Shopee Pay ในไทย) เคยเป็นผู้บริหารสูงสุดของทีมเศรษฐกิจเอเชียที่ธนาคาร Credit Suisse มีหน้าที่วิเคราะห์พยากรณ์เศรษฐกิจและให้คำแนะนำการลงทุนใน 10 เศรษฐกิจในเอเชีย และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจอนาคตให้กับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่ง ดร.สันติธาร มีมุมมองและคำแนะนำที่น่าสนใจเกี่ยวกับพัฒนาการ ความท้าทาย และโอกาสของเศรษฐกิจดิจิทัลและ Digital Banking ที่จะช่วยขับเคลื่อนเอสเอ็มอีไทยให้โตไกล
Digital Banking เปรียบเหมือนบันไดเลื่อน ส่งเอสเอ็มอีเข้าถึงบริการทางการเงินออนไลน์ได้สะดวก
ดร.สันติธารอธิบายภาพรวมภาคการเงินไทยในปัจจุบันว่า “ถ้าวาดภาพออกมาจะเหมือนตึกสูงที่มีคนอยู่มากพอสมควรแล้ว แต่ส่วนใหญ่อยู่ชั้นล่าง ก็อยากจะขึ้นไปชั้น 5 แต่ไม่สะดวก เพราะไม่มีทั้งลิฟต์และบันไดเลื่อน ซึ่งบริการทางการเงินที่แอดวานซ์ทั้งหลาย เช่น สินเชื่อต่าง ๆ จะอยู่ชั้น 5 คือตอนนี้คนไทยส่วนใหญ่มีบัญชีธนาคาร มีเพียงส่วนน้อยที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unbanked Population) เมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ฯลฯ ที่คนจำนวนมากยังไม่มีบัญชีธนาคาร แต่ปัญหาที่บ้านเราเผชิญอยู่คือ ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้บริการทางการเงินแค่ผิวเผิน (Underbanked) มีบัญชีธนาคารแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ของธนาคารสักเท่าไร อะไรที่อยู่ชั้น 5 นี่ไม่ได้ใช้เลย และไม่รู้จะขึ้นไปอย่างไร เนื่องจากติดอุปสรรคหลายอย่าง เช่น ต้นทุนที่สูง เข้าไม่ถึงเพราะดอกเบี้ยแพง มีค่าธรรมเนียมในการลงทุน เปิดบัญชียาก ไม่มีหลักประกัน ไม่มีใบรับรองเงินเดือน เข้าไม่ถึงสาขา หรือขาดความรู้ทางการเงิน ต้องวิ่งไปกู้นอกระบบและลงทุนนอกระบบ ซึ่งทำให้เกิดการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต (Scam)
“Digital Banking เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เปรียบเหมือนบันไดเลื่อน ทำให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น และต้องชื่นชมเลยว่าเราทำได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะระบบการชำระเงินออนไลน์ จากเคยทำวิจัยพบว่า e-Payment Adoption ของประเทศไทยอยู่ในระดับแถวหน้าของอาเซียน และมีความแข็งแกร่งในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ในขณะที่ Virtual Bank แม้แบงก์ชาติจะมีการพูดถึงและเล็งเห็นถึงประโยชน์ของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาก็ตาม แต่ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ”
3 ประเด็นหลัก หนุน Digital Banking ให้โตไว
เมื่อถามถึงเหตุผลหรือปัจจัยสำคัญใดบ้างที่จะช่วยให้ Digital Banking ของประเทศไทยโตไวแบบติดลมบน ดร.สันติธารวิเคราะห์ว่ามี 3 ประเด็นหลัก “ประเด็นแรกคือ ต้นทุนในการให้บริการลดลง เพราะการใช้ดิจิทัลช่วยลดต้นทุนมหาศาลที่ใช้บริหารจัดการตู้เอทีเอ็มและสาขาลงไปได้เยอะมาก และส่งผ่านเป็นผลประโยชน์ด้านต่าง ๆ ให้กับลูกค้า จากเดิมอาจเก็บค่าธรรมเนียมแพง หรือเพิ่มค่าดอกเบี้ย เข้าไป เพื่อธนาคารจะได้คัฟเวอร์ต้นทุน ทำให้ลูกค้าต้องจ่ายแพง แต่ตอนนี้ไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะต้นทุนถูกกว่าเดิมมาก ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กร จากการลดต้นทุนดังกล่าว
“ประเด็นที่สองคือ ความสามารถในการเข้าถึงบริการทางการเงินต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อ ทำให้เอสเอ็มอีที่อาจยังไม่มีหลักประกัน หรือสินทรัพย์ที่จับต้องได้ สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ปัจจุบัน Digital Lending (กระบวนการให้กู้ยืมเงินที่ดำเนินงานผ่านช่องทางดิจิทัล) ก็เป็นโซลูชันที่เข้ามาแก้ปัญหานี้ได้พอสมควร เพราะไม่ได้ใช้ข้อมูลที่เป็นเงินเดือนหรือหลักประกันเท่านั้น แต่สามารถดูได้ว่าข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นข้อมูลทางเลือก เช่น การชำระค่าผ่อนบ้าน ค่าไฟ ตรงเวลาหรือเปล่า มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งหรือเปล่า หรือกรณีอีคอมเมิร์ซก็ดูยอดขายจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ กระแสเงินสดเป็นอย่างไร ทำให้ธนาคารทราบว่าลูกค้ารายนั้น ๆ มีความสามารถที่จะจ่ายเงินคืนได้แน่นอน หรือการลงทุนก็เช่นกัน เมื่อก่อนอาจจะเข้าไม่ถึงหรือเข้าถึงยาก เพราะต้องไปเปิดบัญชีผ่านโบรกเกอร์ ต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำ แต่ WealthTech ยุคใหม่ไม่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำแล้ว จะเทรดก็ง่ายและสะดวกขึ้น ถ้าไม่มีความเชี่ยวชาญก็มี AI เป็นที่ปรึกษา แค่บอกพฤติกรรมการลงทุนของตัวเอง เช่น ชอบความเสี่ยงสูงหรือต่ำ AI ก็จะ Customization ให้ทันที
“ประเด็นที่สามคือ มอบประสบการณ์ที่ดีขึ้น เพราะเมื่อผู้สร้างสรรค์บริการดิจิทัลพัฒนาผลิตภัณฑ์ใด ๆ มักจะคิดถึงผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) และออกแบบ Customer Journey ตั้งแต่เข้าสู่แพลตฟอร์มว่าต้องคลิกกี่ครั้ง ก่อนจะเข้าถึงหน้าขอสินเชื่อหรือถึงจะลงทุนได้ และพยายามลด Pain Point ในแต่ละจุดให้เหลือน้อยที่สุด ทำให้ทั้งผู้บริโภคทั่วไปและเอสเอ็มอีใช้งานง่ายและสะดวก โดยผู้ให้บริการ Digital Banking จะมีทีมงานคอยคิดว่า Customer Journey จะเป็นอย่างไร เพื่อทำให้ประสบการณ์ของลูกค้าแต่ละรายดีขึ้น เมื่อใช้เทคโนโลยีดิจิทัลง่ายขึ้น เอสเอ็มอีจึงสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินดิจิทัลเร็วขึ้น เห็นผลลัพธ์เร็วขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาไปที่สาขาของธนาคาร มีเวลา ไปบริหารธุรกิจและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทำให้เขาแฮปปีขึ้น”
Financial & Digital Literacy ความท้าทายที่เอสเอ็มอีต้องข้ามผ่านให้ได้
ทักษะความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) และทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) คือความท้าทายสำคัญที่ ดร.สันติธารชี้ว่าเอสเอ็มอีจะต้องเอาชนะให้ได้ “ต้องเข้าใจก่อนว่าดิจิทัลไม่ได้มาแก้ปัญหาเรื่องความรู้ทางการเงิน เพราะการจะใช้บริการ Digital Financial Service, FinTech หรือ Digital Banking ได้ ต้องเข้าใจดิจิทัลก่อน เพราะถ้าไม่รู้เรื่องการเงินแล้วจะบริหารจัดการการเงินได้อย่างไร ดังนั้น ความรู้พื้นฐานทางการเงินยังจำเป็นอยู่มาก Financial Literacy สำคัญมาก ตอนนี้เอสเอ็มอีทำบัญชีธุรกิจแยกจากบัญชีส่วนตัวหรือบัญชีครัวเรือนหรือยังบริหารจัดการข้อมูลต่าง ๆ เป็นระบบดีหรือยัง ถ้ายังไม่ทำอะไรเลย ปัญหาก็ยังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนพื้นที่ไปอยู่ในโลกดิจิทัล ต่อมาถ้าเข้าใจเรื่องการเงินแล้ว ก็ต้องเข้าใจเรื่องดิจิทัลด้วย แต่แค่การใช้งานพื้นฐานไม่พอ ต้องมีภูมิคุ้มกันด้วย เพราะในโลกดิจิทัลมีความเสี่ยงที่มาพร้อมกับโอกาส เช่น การหลอกโอนเงิน ดูดพาสเวิร์ด โจรกรรมข้อมูลส่วนตัว แฮกบัญชีธนาคาร ฯลฯ ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนามากเท่าไร มิจฉาชีพก็ยิ่งเก่งขึ้นเท่านั้น ทำให้มีอันตรายเพิ่มมากขึ้น การใช้เครื่องมือเหล่านี้จึงต้องมีความรู้ความเข้าใจ
“ผลสำรวจปี 2565 พบว่าอุปสรรคสำคัญที่สุดในการใช้ Digital Financial Service คือ ความปลอดภัย คนกลัวและกังวล ดังนั้น จึงต้องมีความรู้ที่ดีพอ โดยแบงก์และภาคการเงินควรเข้ามามีบทบาทให้ความรู้กับผู้บริโภคและเอสเอ็มอี เพราะจากผลสำรวจที่เคยทำมา กลุ่มตัวอย่างจากประเทศไทยบอกว่า ถ้าได้เรียนรู้จากคนที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญย่อมเป็นเรื่องดี แต่พวกเขาก็อยากเรียนรู้จากพนักงานธนาคารที่แนะนำและขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ ทั้งธนาคารและ FinTech ควรจะต้องดำเนินการเรื่องนี้ให้มาก มองลูกค้าเป็นพาร์ตเนอร์ในระยะยาว ไม่ใช่แค่คนมาขอกู้เงิน โดยเฉพาะที่ปรึกษาด้านการลงทุน หรือเจ้าหน้าที่สินเชื่อ (RM) ต้องมีชุดทักษะใหม่ ๆ ศึกษาความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้า รวมถึงอัปเดตสถานการณ์โลก และนอกจากความเข้าใจเทคโนโลยีแล้ว ความเข้าใจใน Human Skill ก็สำคัญมากเช่นกัน เพราะภาคการเงินคล้ายกับโรงพยาบาลตรงที่ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาร้อนใจ การที่มี Human Skill มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ จึงมีความสำคัญมาก”
นอกจากนี้พบกับบทความดีๆ ในหัวข้อ "Digital Banking" จาก E-Magazine กรุงไทย SME FOCUS ฉบับเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน 2567
1. ช่องทาง Website : Krungthai SME
2. ช่องทาง Application : Meb
3. ช่องทาง Application : Okkbee
#เคล็ดลับธุรกิจ #กรุงไทย #Krungthai #DigitalBanking #KeytoBusinessSuccess #SMEFocus #KrungthaiSME #กรุงไทยSME #พลิกธุรกิจสู่โลกดิจิทัล