สมาคมธนาคารไทย” ผนึก“ธปท.- เครือข่ายภาคเอกชน” พัฒนาเทคโนโลยีช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่ออย่างยั่งยืน
อัพเดทวันที่ 15 ธ.ค. 2564
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภาครัฐให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการเสริมศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย อีกทั้งกระทรวงการคลังยังได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินมาตรการของรัฐบาล ดังนั้นโครงการ Digital Supplychain Finance ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการยกระดับธุรกิจ SMEs เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่พยายามผลักดันให้ธุรกิจรายย่อยมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรมอย่างยั่งยืน ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานในระบบการเงินที่สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอีกทางหนึ่ง
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าในยุคที่โลกเศรษฐกิจและการเงินต้องเผชิญกับกระแสดิจิทัล ธนาคารแห่งประเทศไทยเร่งส่งเสริมและผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาประสิทธิภาพระบบการชำระเงินและบริการทางการเงิน ให้ตอบโจทย์ความต้องการของทุกภาคส่วน ตัวอย่างที่สำคัญ คือ การพัฒนาระบบพร้อมเพย์ ที่ทำให้การโอนเงินและชำระเงินของคนไทยเป็นเรื่องง่าย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีต้นทุนที่ถูกลง ถือเป็นจุดเปลี่ยนของการชำระเงินของคนไทย สะท้อนจากการเติบโตที่รวดเร็วของการชำระเงินดิจิทัล
มาถึงวันนี้ โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business จะเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ ภาคธนาคาร และภาคธุรกิจ ร่วมกันพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลการค้า การชำระเงินของภาคธุรกิจ ข้อมูลผู้ให้บริการทางการเงินและระบบภาษีของภาครัฐเข้าด้วยกันผ่านกระบวนการดิจิทัล
โครงการนี้ ประกอบด้วยบริการหลัก 2 ด้าน ด้านแรก คือ บริการด้านการค้าและการชำระเงิน ที่จะเชื่อมข้อมูลข้างต้นอย่างครบวงจร ด้านที่สอง คือ บริการด้านสินเชื่อ หรือ Digital Supplychain Finance เป็นการนำข้อมูลจากบริการด้านการค้าและการชำระเงินมาใช้ประโยชน์ในการให้สินเชื่อเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิ-19 ได้อย่างทันการณ์และพร้อมปรับตัวสู่โลกใหม่
ถ้าจะเปรียบ “พร้อมเพย์” เป็น game changer ที่ช่วยผลักดันการชำระเงินดิจิทัลของภาคประชาชน “โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business” ที่มีบริการ Digital Supplychain Finance เป็นองค์ประกอบ ก็จะสามารถเป็น game changer ที่จะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่กระแสดิจิทัลได้ดีเช่นกัน
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและซ้ำเติมข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบเดิมๆ ของผู้ประกอบการ SMEs สมาคมธนาคารไทยจึงได้หารือกับธปท. สภาหอการค้า ส.อ.ท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น ผ่านโครงการ Digital Supply Chain Finance ภายใต้แผนงาน Smart Financial and Payment Infrastructure for Business ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับธุรกรรมการซื้อ-ขายในรูปแบบดิจิทัล ทดแทนการออกและรับเอกสารทางการค้าในรูปแบบกระดาษ ที่มีความไม่คล่องตัว มีข้อกังวลเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร และการใช้เอกสารเวียนขอสินเชื่อซ้ำซ้อน (Double Financing) ทำให้ยากต่อการพิจารณาสินเชื่อ โดยแพลตฟอร์มนี้จะเป็นตัวกลางช่วยลดช่องว่างระหว่างกลุ่มธุรกิจที่เป็นผู้ซื้อ ซึ่งมีสภาพคล่องและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่า ให้มีโอกาสช่วยเหลือซัพพลายเออร์ของตน เพราะขั้นตอนการขายสินค้าหรือบริการของ SMEs หลังจากออกใบแจ้งหนี้ (Invoice) ต้องรอรับการชำระเงินตามเครดิตเทอม อาจมีผลต่อสภาพคล่อง ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ขาย (SMEs) เพื่อให้ได้รับเงินค่าขายสินค้าทันทีเมื่อการส่งสินค้าเสร็จสิ้น หรือเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ซื้อเพื่อชำระเงินให้คู่ค้าได้เร็วขึ้น โดยในอนาคตข้อมูลพฤติกรรมผู้ขายและผู้ซื้อภายใต้โครงการ Digital Supplychain Finance รวมถึงข้อมูลทางเลือกอื่นๆ เช่น ประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายรายเดือนโทรศัพท์มือถือ การซื้อขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น จะถูกจัดส่งให้บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) และด้วยเทคโนโลยี AI และ Data Analytics ในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) จะสามารถพัฒนาขีดความสามารถทางด้าน Alternative Credit Scoring สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีของสมาคมธนาคารไทย ทั้งหมดนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงิน และจะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ให้กลับมามีศักยภาพในการแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน และแสดงถึงเจตนารมณ์ของภาคธนาคารในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ และโปร่งใส
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมฯ มีพันธกิจหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “Service Organization” เพื่อประสานความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการและสมาชิกให้สามารถดำเนินธุรกิจผ่านวิกฤติโควิด-19 โดย 1 ใน 6 ของยุทธศาสตร์ที่ ส.อ.ท. ให้ความสำคัญคือเรื่อง Finance ที่ให้คำปรึกษาด้านการเงินและภาษี การขอกู้เงินและการจัดทำบัญชี การนำเข้าและส่งออก รวมถึงเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ส.อ.ท. พยายามผลักดันเสนอมาตรการต่างๆ ต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สมาชิกรวมถึงผู้ประกอบการ SMEs ในเครือข่ายเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้ อาทิ โครงการ FTI Faster Payment ที่ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ชำระค่าสินค้าหรือบริการให้แก่คู่ค้าที่เป็น SMEs ภายใน 30 วัน รวมถึงการผลักดันเรื่องสินเชื่อ Supply Chain Factoring ซึ่งได้มีการเสนอไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยให้ผลักดันมาตั้งแต่ต้นรวมถึงความร่วมมือกับสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนให้สมาชิกเข้าถึงบริการสินเชื่อ Supply Chain Financing ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดยสภาอุตสาหกรรมฯ มีสมาชิกที่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ มีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง ซึ่งจะสามารถเข้ามาเป็น Buyer ในระบบได้ ขณะนี้มีหลายบริษัทที่แสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการแล้ว โดย ส.อ.ท. ขอเชิญชวนผู้ประกอบการให้เข้ามาใช้บริการ Digital Supplychain Finance Platform กันให้มากขึ้นอีก รวมถึงเชิญชวนผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็น Buyer ให้เข้าร่วมในโครงการนี้ด้วย เพื่อช่วยเหลือซัพพลายเออร์ในเครือข่ายให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจ สร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ Supply Chain ของแต่ละธุรกิจต่อไป โดยขอให้ระบบสามารถออกแบบให้รองรับการใช้งานที่ง่ายทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสินค้า เพื่อที่จะมีผู้ประกอบการเข้ามาใช้กันให้มากขึ้น
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญ SMEs ที่เป็นกลไกและรากฐานสำคัญของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ที่มีคุณญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการบริหาร หอการค้าไทย เป็นประธานสมาคมฯ โดยมุ่งที่จะช่วยเหลือ SMEs โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองปิดธุรกิจ ซึ่งหลายๆ ธุรกิจมีศักยภาพที่จะกลับมาฟื้นตัวได้ ให้เข้าถึงสินเชื่อต้นทุนต่ำได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภารกิจ 99 วันที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยก่อนหน้านี้ ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้ผนึกกำลังกับเครือข่าย ทั้งสมาคมการค้า และ ธนาคารพาณิชย์ในการดำเนินโครงการนำร่องเพื่อเป็นแนวทางในการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าปลีกตลอด Supply Chain ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลที่จำเป็นของผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นคู่ค้า มาประกอบการพิจารณาสินเชื่อของภาคธนาคาร ซึ่งเป็นการทดลองทำ Sandbox มีผลลัพธ์ที่ดี เห็นภาพของการดำเนินการ ทำให้ธนาคารเห็นศักยภาพของผู้ประกอบการ มีข้อมูล เข้าใจธุรกิจ ประเมินความเสี่ยงได้ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการเพื่อให้มีสภาพคล่องในการทำธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งผลของการทดลองในวันนั้นก็มีส่วนในการผลักดันให้เกิดโครงการ Digital Supplychain Finance ขึ้น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เชื่อมั่นว่าจะช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสิทธิประโยชน์จากภาคการธนาคารได้จริงและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังอำนวยประโยชน์ในการสร้างฐานข้อมูลทางธุรกิจที่เป็น Big Data อย่างแท้จริงให้เกิดขึ้น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ต้องขอขอบคุณ สมาคมธนาคารไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานที่ทำให้โครงการนี้เดินหน้าและช่วย SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า SMEs มีความสำคัญต่อระบบเศษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย ที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยในภาคการค้าและบริการ มีจำนวนผู้ประกอบการ SMEs อยู่ในระบบกว่า 1.4 ล้านราย คิดเป็น 45% ของ SMEs ทั้งประเทศ มีการจ้างงานเกือบ 10 ล้านคน และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 2.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13 % ของ GDP การบริโภคทั้งประเทศ ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ SMEs ขาดรายได้กระทันหัน กระทบต่อการจ้างงาน สมาคมผู้ค้าปลีกไทยจึงได้ริเริ่มทำโครงการซอฟต์โลนแซนด์บ็อกซ์เพื่อให้ความช่วยเหลือ SMEs อย่างเร่งด่วน พร้อมร่วมกับ สมาคมธนาคารไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย NITMX หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมศูนย์การค้าไทย และสมาคมต่างๆ ในเครือข่ายทั่วประเทศ สร้างแพลตฟอร์ม Digital Supplychain Finance โดยสมาคมฯ จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ขายและสถาบันการเงิน เนื่องจากสมาชิกของสมาคมฯ ถือว่าเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด ทั้งนี้ ผู้ซื้อดังกล่าวจะเชื่อมโยงข้อมูลการสั่งซื้อสินค้าและการจ่ายเงินของผู้ขายที่ได้รับความยินยอมแล้ว เข้าไปไว้บน Platform เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปใช้เป็นหลักฐานการประกอบการพิจารณาสินเชื่อ และอาศัยเครดิตของผู้ซื้อรายใหญ่ ซึ่งจะสามารถอนุมัติสินเชื่อได้สะดวก รวดเร็ว ด้วยต้นทุนต่ำ มีความเสี่ยงหนี้เสียน้อยลง และตรวจสอบ ป้องกันการให้สินเชื่อซับซ้อน (Double Invoicing) แพลตฟอร์มนี้ จึงเป็นการสร้างมาเพื่อประโยชน์สำหรับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง และถือเป็นฟันเฟืองหลักให้ SMEs ก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องแหล่งเงินทุน สร้างแต้มต่อในการทำธุรกิจและขยายการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งเป็นการเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้กับ SMEs ไทย เป็นการต่อลมหายใจให้กับ SMEs ให้พลิกฟื้นธุรกิจ ยกระดับเศรษฐกิจทั้งระบบให้กลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ขอเชิญชวนผู้ประกอบการรายใหญ่ทางธุรกิจ เข้าร่วมในโครงการเพื่อช่วยเหลือซัพพลายเออร์ในเครือข่ายให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้ โดยสามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่ ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ และผู้ประกอบการ SMEs (Seller) ที่ต้องการร่วมใช้บริการระบบ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business สามารถแจ้งความประสงค์หรือติดต่อสอบถามได้ที่ ผู้ประกอบการคู่ค้าของท่าน โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทคู่ค้าที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมธนาคารไทย www.tba.or.th
สมาคมธนาคารไทย
15 ธันวาคม 2564
แนะนำสำหรับคุณ