ข่าวและประกาศ

สมาคมธนาคารไทย เร่งขับเคลื่อนมาตรการตั้งเป้าสินเชื่อฟื้นฟูเฟสแรก 1 แสนล้านบาท

อัปเดตวันที่ 25 พ.ค. 2564

       สมาคมธนาคารไทย เร่งขับเคลื่อนมาตรการเพิ่มสภาพคล่อง ตั้งเป้าสินเชื่อฟื้นฟู 6 เดือนแรก 1 แสนล้านบาท เผยอีก 2 อาทิตย์ เห็นยอดอนุมัติสินเชื่อพุ่ง จับมือ กกร. เดินหน้าช่วยผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่ยังเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือ พร้อมหาข้อสรุปแนวทางช่วยเพื่อก้าวผ่านวิฤกตไปด้วยกัน
ย้ำธนาคารตระหนักถึงปัญหาและต้องการช่วยลูกหนี้อย่างเร่งด่วนและทั่วถึงต้องการให้เป็นการฟื้นฟูกิจการเพื่อที่ลูกหนี้จะได้ไปต่อในระยะยาว     

       หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมธนาคารไทย ออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มีผลเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 ซึ่งธนาคารสมาชิกแต่ละแห่งได้ขานรับนโยบายและดำเนินการจัดทำแพ็กเกจการช่วยเหลือ การออกแบบ Product  Program เพื่อให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม การเข้าไปพูดคุยกับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้ตรงกับโจทย์ความเดือดร้อนของลูกค้า
จะได้ช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด อีกทั้งมีการปรับกระบวนการขั้นตอนการทำงานเพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกรวดเร็ว   

       นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก
ได้ตระหนักถึงปัญหาและความเร่งด่วนที่จะต้องช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนให้ได้อย่างรวดเร็ว
และครอบคลุมผู้ประกอบการทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs รายกลางและรายเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบ
แต่ยังมีศักยภาพ ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือ จึงหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 เพื่อเร่งให้การช่วยเหลือ โดยร่วมมือกับ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยขอให้
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวบรวมรายชื่อข้อมูลของผู้ประกอบการที่สนใจขอสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเสริมสภาพคล่องและหาแนวทางข้อสรุปในการช่วยเหลือแต่ละราย ซึ่งสมาคมธนาคารไทยจะได้
ส่งต่อให้กับธนาคารสมาชิกต่อไป

       “สิ่งสำคัญเร่งด่วนในตอนนี้  คือการทำให้ผู้ประกอบการที่เข้าเงื่อนไขและมีศักยภาพเข้าถึงมาตรการสนับสนุนทางการเงิน ตอบโจทย์ตามความต้องการสภาพคล่องได้อย่างทั่วถึง ตรงจุด และทันเวลากับสถานการณ์ ทั้งหมด
จึงเป็นภารกิจเชิงรุกที่ลดความบอบช้ำทางเศรษฐกิจ ช่วยเสริมสภาพคล่องควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าธุรกิจ ร่วมกับความช่วยเหลืออื่นๆของแต่ละธนาคารที่ออกแบบมาเพื่อบรรเทาปัญหาให้ภาคธุรกิจสามารถประคับประคองกิจการต่อไปได้ และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการพลิกฟื้นกิจการเมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิดเริ่มคลี่คลายเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ระยะฟื้นตัวต่อไป”

       อย่างไรก็ตาม นายผยง ศรีวณิช กล่าวว่า แม้ระยะเวลาที่เปิดให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการ
ไม่นานนัก เพียงแค่ 3 สัปดาห์ ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้ว 15,000 ล้านบาท ให้กับผู้ประกอบการ SMEs
5 พันกว่าราย ซึ่งจำนวนนี้ เป็นการช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมกับธนาคาร ทั้งรายเล็ก กลาง และใหญ่ ครอบคลุมทุกธุรกิจทั่วประเทศ และขณะนี้ ธนาคารต่างๆ กำลังเร่งพิจารณาคำขออนุมัติสินเชื่อที่สามารถเข้าร่วมโครงการสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท. ได้ คาดว่าภายใน 2 อาทิตย์นี้จะเห็นยอดตัวเลขสินเชื่อฟื้นฟูเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นไปตามเป้า 1 แสนล้านบาท ใน 6 เดือนแรก”

       นอกจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูแล้ว ยังมีอีกมาตรการที่ผู้ประกอบการธุรกกิจให้ความสนใจอย่างมาก 
คือ โครงการพักทรัพย์พักหนี้ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ปรกอบธุรกิจสามารถหยุดการดำเนินกิจการชั่วคราว เพื่อรอเศรษฐกิจฟื้นตัวโดยไม่สูญเสียกิจการไป แต่เนื่องจากการให้ความช่วยเหลือนี้เป็นเรื่องใหม่ มีรายละเอียดเงื่อนไขเฉพาะธนาคาร มีกระบวนการค่อนข้างซับซ้อน ต้องอาศัยความเข้าใจและความเห็นชอบของลูกหนี้และเจ้าหนี้ อีกทั้งยังมีเรื่องสำคัญเกี่ยวกับภาษี ค่าธรรมเนียมในการโอนทรัพย์เพื่อพักชำระหนี้ ซึ่งต้องอาศัยระเบียบวิธีการปฏิบัติต่างๆ 

       “ขณะนี้ ธนาคารแต่ละแห่งกำลังดำเนินการในเรื่องของความชัดเจนแนวทางปฏิบัติ เช่น เรื่อง ภาษี ค่าธรรมเนียมการโอนเพื่อให้ถูกต้อง คาดว่าอีกไม่นานจะเห็นผู้ประกอบการ เช่น กลุ่มโรงแรม หรือกลุ่มธุรกิจการผลิต
ที่มีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างมาเป็นหลักประกัน ที่ยื่นขอเข้าโครงการนี้ทันท่วงที” 

       นอกจากนี้ นายผยง ศรีวณิช กล่าวว่า จากการเรียนรู้ปัญหาและข้อจำกัดต่างๆที่เกิดขึ้นในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือรอบแรก ดังนั้น สมาคมธนาคารไทย เตรียมการและมีกลไกเพื่อเข้ามาช่วยการขับเคลื่อนมาตรการ  ตั้งแต่การสื่อสารในทุกช่องทาง การให้ความรู้และทำความเข้าใจกับพนักงานธนาคารเพื่อตอบโจทย์กับผู้ที่สงสัย รวมถึงการเข้าไปพูดคุยกับลูกหนี้ปัจจุบันและลูกค้าที่สนใจจะเข้ามาขอรับความช่วยเหลือด้วย


25 พฤษภาคม 2564

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง