กรุงไทยกำไรก่อนตั้งสำรองปี63 เพิ่มขึ้น 9% รุกกันสำรองเข้มรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
อัพเดทวันที่ 21 ม.ค. 2564
ธนาคารกรุงไทยและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงาน ก่อนการตั้งสำรองปี 2563 กว่า 68,783 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อานิสงส์สินเชื่อเติบโตกว่าร้อยละ 12 และการคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและต้นทุนการเงิน หนุน Cost to Income ratio ลดลงเหลือร้อยละ 43.7% รุกตั้งสำรองเข้มเพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 88.6% รองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงที่อาจจะเกิด NPLs Cliff หลังเดินหน้าออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานสำหรับปี 2563 เท่ากับ 68,783 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ในระดับเดียวกันกับปี 2562 แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยพิเศษที่เพิ่มขึ้น สินเชื่อที่เติบโตดีร้อยละ 12 ซึ่งธนาคารขยายสินเชื่อด้วยความระมัดระวัง และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ช่วยลดผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ประกอบกับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงมากถึงร้อยละ 14.4 ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 43.7 ลดลงจากร้อยละ 49.7 ในปี 2562
ธนาคารและบริษัทย่อยทยอยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่สูง จำนวน 44,903 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 88.6 เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญฯ ในปี 2562 โดยพิจารณาอย่างรอบคอบถึงปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและมีความไม่แน่นอนสูงที่อาจส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อ หรือ NPLs Cliff ซึ่งธนาคารได้เดินหน้าออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อัตราส่วน Coverage Ratio ณ 31 ธันวาคม 2563 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 147.3 จากร้อยละ 131.8 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ควบคู่กับการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารโดยมี NPLs Ratio-Gross เท่ากับร้อยละ 3.81 ลดลงจากร้อยละ 4.33 ณ 31 ธันวาคม 2562
จากผลประกอบการดังกล่าวและการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับสูงส่งผลให้ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 16,732 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 42.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับไตรมาส 4/2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 14,634 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงเล็กน้อย ประกอบกับการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ทำให้กำไรจากการดำเนินงานลดลง แม้ว่าธนาคารได้บริหารจัดการลดค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงร้อยละ 16.1 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ในไตรมาส 4/2563 ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 9,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 91.8 ตามหลักการพิจารณาอย่างรอบคอบส่งผลให้กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 3,453 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 53.7 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2562
ณ 31 ธันวาคม 2563 ธนาคารมียอดสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ 2,197,674 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 12 จากสิ้นปี 2562 โดยธนาคาร (งบการเงินเฉพาะ) มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 15.35 และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงที่ร้อยละ 18.76 ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
ในปี 2563 ธนาคารได้เผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ธนาคารได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการดำเนินการมาตรการต่างๆ อีกทั้งได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัวภายใต้สภาวะ New Normal ได้โดยเร็ว
นอกจากนี้ ธนาคารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ การให้บริการด้านการพัฒนา Innovation & Digital Platform เพื่อเข้าสู่ Open Banking, Virtual Digital Banking Service รวมถึง New Business Model อย่างเต็มรูปแบบ ผ่านบริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย จำกัด (Infinitas by Krungthai) ที่จัดตั้งขึ้นในเดือนตุลาคม 2563
ทีม Marketing Strategy
21 มกราคม 2564
แนะนำสำหรับคุณ