นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ปาฐกถาพิเศษบนเวที ABAC-SFDN ROUNDTABLE ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนการเงินเพื่อความยั่งยืน: บทบาทของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน” ภายใต้การประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปค ซึ่งจัดโดย Sustainable Finance Development Network (SFDN) หนึ่งในคณะทำงานของ Asia-Pacific Financial Forum (APFF) ภายใต้ สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (ABAC) ว่า ปัจจุบันความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยการจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค (APEC) และ ABAC ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายนนี้ มุ่งเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาด้านความยั่งยืนร่วมกัน สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มุ่งสู่แนวทาง Bio-Circular-Green Economy (BCG) เป็นสำคัญ และแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมฯที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน
ทั้งนี้ การเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) มีความสำคัญมากต่อการสนับสนุนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ตามวิสัยทัศน์ปุตราจายาภายใต้กรอบเอเปค ปี ค.ศ. 2040 (APEC Putrajaya Vision 2040) ซึ่งกำหนดทิศทางของเอเปคในอีก 20 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2563 และจะมีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อองค์กรต่างๆ ในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญในการสร้างโลกที่ยั่งยืน จึงนับเป็นเรื่องดีที่สมาชิกเอเปคมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการขับเคลื่อนเรื่อง Sustainable Finance เพราะหากขาดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภาคการเงินอาจจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนได้
เครื่องมือที่สำคัญคือ การระดมทุนเพื่อผลักดันโลกสู่อนาคตสีเขียว คือ ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถใช้แพลตฟอร์มการหารือเวทีต่างๆ ของ ABAC ร่วมกันในการสนับสนุนประเทศสมาชิก เพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบู (Cebu Action Plan) ซึ่งเป็นแผนงานสำหรับกรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค มีระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี (พ.ศ. 2558-2567) เพื่อเสริมสร้างให้ภูมิภาคเอเปคมีการรวมกลุ่มทางการเงินที่เพิ่มขึ้น โปร่งใส มั่นคง และเชื่อมโยงกันยิ่งขึ้น รวมถึงร่วมมือกับองค์กรพหุภาคี ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานกำกับดูแล สมาคมอุตสาหกรรม บริษัท องค์การทางวิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคม ที่มุ่งหารือเกี่ยวกับความคิดริเริ่มเพื่อขับเคลื่อน Sustainable Finance ระหว่างประเทศสมาชิก
Sustainable Finance จะช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดความเสี่ยง เพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากร ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม ที่ช่วยสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน และโอกาสในการสร้างรายได้ใหม่ ๆ รวมถึงการพัฒนาบุคลากร ตลอดจนช่วยสร้างประโยชน์ให้สังคม โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น ภาคธนาคารจำเป็นต้องตื่นตัวมากขึ้น ในการผลักดันเรื่องการธนาคารเพื่อความยั่งยืน การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ และการจัดสรรทรัพยากรเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพื่อความยั่งยืน ซึ่งความร่วมมือไปสู่เป้าหมายเดียวกันนี้ จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสังคม ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น มุ่งสู่อนาคตที่ดีกว่าเดิม
“ผมหวังว่าการหารือในวันนี้ จะนำไปสู่การขยายความร่วมมือของภาคธุรกิจในประเทศสมาชิกของเอเปค ในการผลักดันเรื่อง Sustainable Finance เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่า เราสามารถสร้างความแตกต่าง และเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายจะต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการทุ่มเททรัพยากร และทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องโลกใบนี้ มนุษยชาติ และสังคมที่เราเรียกว่าเป็น “บ้าน” เพื่อให้มั่นใจว่าคนรุ่นหลังจะได้อาศัยอยู่ในโลกที่ดีกว่า มีโอกาสมีชีวิตที่ดีกว่า และมีอนาคตที่รุ่งโรจน์อย่างยั่งยืน” นายผยง ศรีวณิช กล่าว
สมาคมธนาคารไทย
22 ตุลาคม 2565