เรียนรู้การเงิน

เรื่องต้องรู้ ของ SME ไทย ก่อนลงสนามส่งออกสินค้าเกษตรไปยังตลาดโลกในปี 2567

อัปเดตวันที่ 20 พ.ค. 2567

เรื่องต้องรู้ ของ SME ไทย ก่อนลงสนามส่งออกสินค้าเกษตรไปยังตลาดโลกในปี 2567

ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 4 ปี 2566 พลิกกลับมาขยายตัว 3.7%YoY เทียบกับไตรมาสก่อนที่หดตัว 0.3%YoY โดยการส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ทยอยปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น ตลาดอาเซียน และสหรัฐฯ ขยายตัว 20.3%YoY และ 14.9%YoY ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังจีนหดตัว 4.4%YoY จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ขณะที่การส่งออกไปยังสหภาพยุโรป หดตัวที่ 3.5%YoY ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อนในกลุ่มสินค้าหลักอย่างอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป


สถานการณ์ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรและตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย

การส่งออกข้าว และสิ่งปรุงรสอาหารขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกมันสำปะหลังหดตัวแรง


ที่มา: กระทรวงพาณิชย์
หมายเหตุ:
1) เป็นอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกไทยในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
2) แถบสีขึ้นอยู่กับระดับการเติบโตของการส่งออก โดยแบ่งเป็น 6 ช่วง (มากกว่า 20% เขียวเข้ม/10%-20% เขียว/0%-10% เขียวอ่อน/(-10%)- (0%) เหลือง/(-20%)-(-10%) แดง /มากกว่า -20% แดงเข้ม)



Krungthai COMPASS ประเมินสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในกลุ่มสินค้าสำคัญ ดังนี้

  1. ข้าว ในปี 2567 คาดว่าปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ 8.8 ล้านตัน หรือขยายตัว 0.5%YoY จากปัญหาอุปทานข้าวโลกที่ยังตึงตัวจากปัจจัยเอลนีโญ ทำให้ประเทศคู่ค้ายังมีการสะสมสต็อกข้าว อีกทั้งราคาส่งออกยังได้รับผลดีจากราคาข้าวในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น จากการคงนโยบายการจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดียที่คาดว่าจะมีผลไปจนถึงช่วงกลางปี 2567
  2. ยางพารา ในปี 2567 คาดว่ามูลค่าส่งออกยางแผ่นและยางแท่งจะอยู่ที่ 0.91 แสนล้านบาท ลดลง 5.8% YoY ตามปริมาณส่งออกที่คาดว่าจะลดลง จากภาคการผลิตในจีนที่ยังจะชะลอตัว ขณะที่มูลค่าส่งออกน้ำยางข้นจะอยู่ที่ 2.82 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.0%YoY ตามปริมาณส่งออกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากอุปทานของถุงมือยางโลกกลับมามีเสถียรภาพ ส่วนราคาส่งออกยางแผ่น ยางแท่ง และน้ำยางข้นจะมีทิศทางทรงตัวตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลก
  3. มันสำปะหลัง ในปี 2567 คาดว่าปริมาณส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ด และแป้งมันสำปะหลังของไทยจะอยู่ที่ 4.3 ล้านตัน และ 3.8 ล้านตัน ตามลำดับ หรือหดตัว 4.0%YoY และ 3.0%YoY ตามลำดับ จากผลผลิตมันสำปะหลังได้รับความเสียหายจากปัญหาภัยแล้ง แม้ว่าราคาส่งออกจะยังอยู่ในระดับสูง จากผลผลิตในประเทศที่มีจำกัด
  4. ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ในปี 2567 คาดว่ามูลค่าส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งจะอยู่ที่ 259,247 ล้านบาท หรือขยายตัว 9.4%YoY จากความต้องการบริโภคในจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังได้รับประโยชน์จากรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง ขณะที่ปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบต่อผลผลิตน้อยกว่าที่คาด
  5. ไก่เนื้อ ในปี 2567 คาดว่ามูลค่าส่งออกไก่เนื้อจะอยู่ที่ 146,401 ล้านบาท หรือขยายตัว 4.0%YoY เนื่องจากการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปยังคงขยายตัว เพราะได้อานิสงส์จากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกไก่จากยูเครนเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป อีกทั้งยังได้รับผลดีจากการระบาดของโรคไข้หวัดนกในจีน นอกจากนี้การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในจีนและเวียดนาม ทำให้มีการนำเข้าไก่เนื้อเพื่อทดแทนสุกรมากขึ้น


Krungthai COMPASS มองว่า แม้ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2567 จะขยายตัวได้ แต่ยังมีปัจจัยที่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนี้

  • ปัญหาการสู้รบในทะเลแดงที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ อาจส่งผลกระทบทำให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทยต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น
  • เศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักสินค้าเกษตรไทยเติบโตต่ำกว่าคาด อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังการส่งออกสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของจีน เช่น ยางพารา เป็นต้น
  • ความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้ง โดยปริมาณน้ำหลังสิ้นสุดฤดูฝนในปีนี้จะยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ช่วงครึ่งปีแรกนี้อย่างใกล้ชิด
  • ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อาจกดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการ เช่น ต้นทุนแรงงานและต้นทุนทางการเงิน ที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนต่ำกว่ารายใหญ่
  • ประเทศคู่ค้ามุ่งเน้นมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กฎหมายที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้เข้าสู่ตลาดของสหภาพยุโรป (EU Deforestation-free products) ส่งกระทบต่อ SMEs ที่อาจมีข้อจำกัดในการปรับตัว เมื่อเทียบกับผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่เริ่มปรับตัวเพื่อรับมือกับกับเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมไปบ้างแล้ว
  • ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย โดยเฉพาะกับ SMEs ในธุรกิจเกษตรซึ่งมีกำไรที่บางอยู่แล้ว

ที่มา: ส่งออกสินค้าเกษตรไทยในปี 2567 ยังคงขยายตัวได้แต่ต้องจับตาวิกฤตทะเลแดง
โดย อังคณา สิทธิการ Krungthai COMPASS

#เคล็ดลับธุรกิจ #KrungthaiCompass #กรุงไทยSME #พลิกธุรกิจไทยสู่ความยั่งยืน