"
กลับ
สัญลักษณ์และร่องรอยแห่งอารยธรรม

สัญลักษณ์และร่องรอยแห่งอารยธรรม

สุวัฒน์ บุญธรรม

รางวัลที่ 3

ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2557

ผลงานวาดเส้น "สัญลักษณ์และร่องรอยแห่งอารยธรรม" โดยสุวัฒน์ บุญธรรม นำเสนอทัศนียภาพในจินตนาการแห่งหนึ่งจากมุมสูงซึ่งเกิดขึ้นจากการขูดขีด แกะ และสร้างร่องรอยบนพื้นระนาบที่ถูกทำขึ้นจากดินสอพอง ผสมผสานกับเทคนิคการวาดเส้นจนเกิดเป็นผลงานกึ่งนามธรรมขาวดำ ที่แสดงความงามจากการประกอบกันของเส้นโค้งที่เลื่อนไหลสอดแทรกตัดสลับกับเส้นตรงของโครงสร้างสถาปัตยกรรมrn

การขูดขีดและสร้างร่องรอยลงบนพื้นระนาบหนึ่งจนเกิดเป็นรูปร่างรูปทรงขึ้นมาในลักษณะดังกล่าวนี้ ชวนให้นึกถึงการสร้างภาพพิมพ์แกะไม้ หรือภาพพิมพ์โลหะ ซึ่งมีกระบวนการทางเทคนิคที่ค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากต้องอาศัยเครื่องมือและวิธีการบางอย่าง ในการสร้างรูปทรงและน้ำหนักของภาพที่สัมพันธ์กับขนาดหรือความลึกของร่องที่แกะลงไป ก่อนที่จะนำไปผ่านกระบวนการพิมพ์ในขั้นตอนสุดท้าย ทว่าในผลงานชิ้นนี้ ศิลปินได้ดึงเอาเพียงวิธีการสร้างรูปโดยอาศัยการ "แกะออก" เช่นเดียวกับที่พบในงานภาพพิมพ์และรวมถึงที่คล้ายกับเทคนิคการแกะสลักหรือกระบวนการลดรูป (subtractive) ในงานประติมากรรม โดยใช้เพียงเครื่องมือขูดขีด แกะ เซาะ จนเกิดเป็นภาพขึ้น วิธีการวาดเส้นที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมาเช่นนี้ ชวนให้นึกถึงเมื่อครั้งที่เราเป็นเด็กขณะใช้แท่งชอล์ควาดลวดลายลงบนกระดานดำ หรือใช้กิ่งไม้ปลายแหลมขูดขีดลงบนพื้นดินจนเกิดเป็นภาพวาดลายเส้นขึ้นมาrn

ทุกขณะที่เส้นแต่ละเส้นค่อย ๆ จรดลง และลากผ่านกินเนื้อที่สีดำซึ่งถูกระบายเอาไว้บนผิวหน้าของดินสอพองนั้นเผยให้เห็นความเพียรพยายามของศิลปิน และการเพ่งสมาธิไปยังปลายแหลมของวัตถุ ซึ่งกำลังก่อร่างทัศนียภาพบางอย่างขึ้นตามจินตนาการของศิลปิน จากเส้นหนึ่งไปยังอีกเส้นหนึ่ง ในทิศทางที่แตกต่างและเลื่อนไหลถึงกันอย่างไร้ขอบเขต ราวกับไม่มีจุดเริ่มต้นและไร้ที่สิ้นสุด ประกอบกับการผ่อนหรือควบคุมแรงมือที่นำไปสู่ค่าน้ำหนักอ่อนแก่ของเส้นสีขาว ทิศทางที่ขัดแย้งกันของเส้นตรงและเส้นโค้งทำให้เกิดจังหวะ (Rhythm) ที่ทั้งพลิ้วไหวและหนักแน่น ราวกับภาษาอันไพเราะของบทกวีที่กำลังพรรณนาถึงดินแดนอันงดงาม รุ่งเรือง อย่างที่ไม่อาจใช้ภาษาใดๆ อธิบายได้rn

ผลงานวาดเส้นเทคนิคผสมชิ้นนี้ดูราวกับภาพของอาณาจักรทางศาสนาในจินตนาการของศิลปิน เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมเรียบง่าย นิ่งสงบในบรรยากาศพิศวง เมื่อสำรวจรายละเอียดภายในภาพ ผู้ชมจะรู้สึกถึงโครงเส้นนำสายตาที่ศิลปินจงใจวาดเพื่อนำทางให้เข้าไปยังส่วนกลางของภาพซึ่งมีสถาปัตยกรรมทรงสูงคล้ายเจดีย์และประตูทรงโค้งที่ชวนให้นึกถึงอาคารสำคัญสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ศิลปินได้สร้างทัศนียภาพในลักษณะกึ่งเมืองกึ่งชนบทดังกล่าวนี้ ผ่านโครงสร้างของอาคารซึ่งแทรกตัวอยู่ระหว่างเนินดินต่างระดับคล้ายกับที่เราพบเห็นในพื้นที่เกษตรกรรมrn

ผลงาน "สัญลักษณ์และร่องรอยแห่งอารยธรรม" แม้จะเป็นการนำเสนอทัศนียภาพในจินตนาการของศิลปิน แต่ความรุ่งเรือง ความเป็นระเบียบ สงบ และยิ่งใหญ่ ก็คือภาพตัวแทนที่สุวัฒน์พยายามถ่ายทอดให้เห็นการอยู่ร่วมกันอย่างผสานกลมกลืนของวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ซึ่งผูกพันใกล้ชิดกับความเชื่อทางศาสนา และวิถีชีวิตแบบสมัยใหม่ของสังคมไทยในปัจจุบันอย่างน่าประทับใจ

ขนาดตัวอักษร