รายงานความยั่งยืน

การบริหารความเสี่ยงและภาวะวิกฤติ

ความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจ สภาพสังคม เทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดในยุคปัจจุบัน รวมถึงวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมล้วนมีความเชื่อมโยงกันและสามารถส่งผลกระทบต่อทิศทางของธุรกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ การประเมินและบริหารความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องที่ทางธนาคารให้ความสำคัญ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อธนาคาร รวมถึงแสวงหาโอกาสเพื่อให้ธนาคารดำเนินการและสนับสนุนลูกค้าได้อย่างมั่นคงและมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน

เป้าหมาย

ร้อยละ 100 ของพนักงานและผู้บริหารระดับสูงของธนาคารผ่านการอบรมด้านการบริหารความเสี่ยงองค์กรเบื้องต้น


ผลการดำเนินงาน

ร้อยละ 100 ของพนักงานและผู้บริหารระดับสูงของธนาคารผ่านการอบรมด้านการบริหารความเสี่ยงองค์กรเบื้องต้น


ผลกระทบ โอกาส และความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และสิทธิมนุษยชน

ธนาคารมีการบริหารและจัดการความเสี่ยงที่ครอบคลุมทั้งองค์กร โดยเชื่อมโยงกระบวนการเข้ากับแผนกลยุทธ์ รวมถึงการกำหนดมาตรฐานควบคุม ติดตาม และรายงานความเสี่ยง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน และเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและปรับตัวรับความเสี่ยงต่าง ๆ และลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ธนาคารให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และการทำธุรกรรมออนไลน์ เพื่อป้องกันมิให้ประเด็นดังกล่าวก่อให้เกิดการหยุดชะงักทางธุรกิจและชะลอการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้ ธนาคารได้บูรณาการประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในการพิจารณาสินเชื่อและการลงทุน เพื่อลดผลกระทบทางอ้อมที่อาจเกิดจากการประกอบธุรกิจของธนาคาร ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารสามารถจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับสังคมไทย

เนื่องจากการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีและมีประสิทธิภาพจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ธนาคารจึงคำนึงถึงความเพียงพอของระบบการบริหารความเสี่ยง และประสิทธิผลของการจัดการความเสี่ยง โดยจัดให้มีการพิจารณาทบทวนภายใต้ความเหมาะสม ประเมินจากสภาพแวดล้อม ปัจจัยภายใน และภายนอกอย่างสม่ำเสมอ ผ่านการประเมินโดยคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปกับการสร้างวัฒนธรรมด้านการบริหารความเสี่ยงภายในองค์กร เพื่อให้ระบบการบริหารความเสี่ยงของธนาคารเป็นไปตามแนวปฏิบัติสากลที่ดี


นโยบายและการบริหารจัดการ

การบริหารและควบคุมความเสี่ยงเป็นเรื่องหลักที่ธนาคารให้ความสำคัญ โดยธนาคารได้กำหนดกรอบโครงสร้างการบริหารความเสี่ยง นโยบายบริหารความเสี่ยงองค์กร รวมถึงแนวทางและคู่มือในการบริหารความเสี่ยงองค์กรไว้อย่างชัดเจน ตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แนวทางของ The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission (COSO) ตามกรอบบริหารความเสี่ยง COSO ERM Framework และความเสี่ยงจากธุรกรรมหลัก (Significant Activities) ของธนาคาร

นอกจากนโยบายบริหารความเสี่ยงหลักขององค์กร ธนาคารได้กำหนดแนวทางบริหารความเสี่ยงเฉพาะด้านให้สอดรับกับการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ประกอบด้วย



ธนาคารให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพภูมิอากาศ โดยนำมาบูรณาการเข้าร่วมกับกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเครดิตและการประเมินเครดิตพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร รวมถึงทำการประเมินและจัดหาแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงเกิดใหม่ (Emerging Risk) เพื่อให้พร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ธนาคารได้ผนวกกระบวนการบริหารความเสี่ยงเข้ากับแผนธุรกิจประจำปีของธนาคาร เพื่อสร้างความสอดคล้องในการบริหารและจัดการความเสี่ยงในทุกมิติขององค์กร การบูรณาการครอบคลุมการกำหนดมาตรการควบคุม ติดตาม และรายงานความเสี่ยง เพื่อป้องกัน ควบคุม หรือลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและยอมรับได้ ภายใต้สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกที่มีผลกระทบต่อธนาคารในแต่ละช่วงเวลา การพิจารณาทบทวนความเพียงพอของระบบการบริหารความเสี่ยงและประสิทธิผลของการจัดการความเสี่ยงจะถูกดำเนินการผ่านการประเมินโดยคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการสร้างวัฒนธรรมด้านการบริหารความเสี่ยงภายในองค์กร เพื่อให้ระบบการบริหารความเสี่ยงของธนาคารเป็นไปตามแนวปฏิบัติสากลที่ดี และเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและปรับตัวรับความเสี่ยงต่าง ๆ รวมถึงแสวงหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจจากความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ธนาคารกำหนดกระบวนการบริหารความเสี่ยงองค์กร มีการจัดทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Testing) ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงทางการเงิน เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารมีกองทุนเพียงพอรองรับทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ กำหนด Risk Appetite, Risk Tolerance และ Risk Matrix ที่แสดงโอกาสจะเกิดความเสี่ยงและผลกระทบของความเสี่ยงที่สำคัญ กำหนดตัวชี้วัดด้านความเสี่ยง (Key Risk Indicators: KRIs) และจัดทำมาตรการการลดความเสี่ยง มีระบบการติดตาม (Monitor) ประเมินความเสี่ยง และรายงานความเสี่ยงผ่านแผ่นภาพสรุป (Risk Dashboard) เป็นประจำทุกงวดต่อคณะกรรมการกำกับดูแลความเสี่ยง เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ มีการตรวจสอบภายในในระหว่างกระบวนการเพื่อให้การดำเนินการมีความโปร่งใส นอกจากนี้ ธนาคารยังทบทวนปัจจัยเสี่ยงเป็นประจำปีละ 1 ครั้ง สำหรับกรณีเหตุปัจจัยเสี่ยงฉุกเฉิน ธนาคารกำหนดให้มีการทบทวนและพิจารณาปัจจัยเสี่ยงระหว่างปี เช่น ภาวะวิกฤติทางการเมือง ความขัดแย้งระหว่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารมีการบริหารจัดการความเสี่ยง ควบคุม ติดตามและรายงานอย่างทันท่วงที ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการดำเนินธุรกิจของธนาคารได้



โครงสร้างการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงของธนาคาร

ธนาคารกำหนดโครงสร้างองค์กรและการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดย Cluster Risk รายงานต่อคณะกรรมการกำกับดูแลความเสี่ยง เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระ นอกจากนี้ Cluster Risk จะรายงานต่อคณะกรรมการจัดการ และคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อรับทราบผลการดำเนินงานในรายละเอียด โครงสร้างการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงของธนาคารมีการแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างชัดเจนในแต่ละหน่วยงาน ประกอบด้วยคณะกรรมการระดับที่เป็นคณะกรรมการชุดย่อยของคณะกรรมการธนาคาร ได้แก่ คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการกำกับดูแลความเสี่ยง คณะกรรมการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และคณะกรรมการตรวจสอบ และมีคณะกรรมการชุดย่อยของฝ่ายจัดการเพื่อบริหารจัดการและติดตามความเสี่ยง ซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ คณะกรรมการจัดการ คณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน คณะกรรมการ Governance Risk and Compliance ระดับจัดการ และคณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อ เป็นต้น โดยสรุปภาพรวมโครงสร้างการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงของธนาคารดังนี้




โดยมีนายเอกชัย เตชะวิริยะกุล ประธานบริหารด้านความเสี่ยง เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดในการบริหารความเสี่ยง ตามนโยบายและกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยง และให้การบริหารเงินกองทุน สภาพคล่อง และความเสี่ยงต่าง ๆ เป็นไปตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของธนาคาร รายงานต่อคณะกรรมการกำกับดูแลความเสี่ยงทุกเดือน และรายงานต่อคณะกรรมการธนาคารทุกไตรมาสถึงฐานะความเสี่ยง ประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยง และสถานะการปฏิบัติตามวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงความเสี่ยง ขณะเดียวกัน นายปาณะพันธุ์ หาญกิจวรกุล ประธานบริหารฝ่ายตรวจสอบเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งสูงสุดในการดูแลรับผิดชอบในการติดตามและสอบทานผลการบริหารความเสี่ยงในด้านกลยุทธ์ ด้านสินเชื่อ ด้านตลาด ด้านสภาพคล่อง และด้านปฏิบัติการ รายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดย่อยระดับคณะกรรมการ โดยผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่ใช่กรรมการผู้จัดการใหญ่ และหน่วยงานบริหารความเสี่ยงมีโครงสร้างเป็นอิสระจากสายงานธุรกิจ

ในปี 2566 ธนาคารบริหารจัดการความเสี่ยงโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Risk) อย่างต่อเนื่อง คณะทำงาน ESG Risk Task Force พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของประเด็นความเสี่ยงด้าน ESG ของความเสี่ยงที่มีอยู่เดิมและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) ที่สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น และมีการรายงานต่อประธานผู้บริหาร Risk เป็นประจำทุกเดือน และรายงานต่อคณะกรรมการกำกับดูแลความเสี่ยง และคณะกรรมการจัดการอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งระบุแนวทางการบริหารจัดการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น


การเสริมสร้างวัฒนธรรมด้านการบริหารความเสี่ยง (Risk Culture)

ธนาคารให้ความสำคัญในการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรร่วมกับการบริหารความเสี่ยงทั้งองค์กร โดยจัดให้มีการแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบการบริหารความเสี่ยงออกเป็น Three Lines of Defense ซึ่งประกอบด้วย:

  1. First Line of Defense: หัวหน้าและพนักงานทุกคน ร่วมกันสอดส่องดูแล เพื่อให้องค์กรมีคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต มีกระบวนการทำงานที่ดี ที่สร้างคุณค่าในการทำงาน ภายใต้คุณธรรมจริยธรรมในการปฏิบัติงาน
  2. Second Line of Defense: หน่วยงานด้านบริหารความเสี่ยง ด้านการกำกับกฎเกณฑ์และกฎหมาย
  3. Third Line of Defense: หน่วยงานตรวจสอบภายในและภายนอก

ธนาคารมีคณะกรรมการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และคณะกรรมการตรวจสอบ กำกับดูแลอีกหนึ่งระดับ จึงช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความรัดกุมได้เป็นอย่างดี ซึ่งในส่วนงานกำกับดูแล หรือคณะกรรมการกำกับดูแลความเสี่ยง (Risk Oversight Committee: ROC) รับหน้าที่ผลักดันและกำกับดูแลความเสี่ยงให้เป็นไปตามนโยบายและให้อยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยยึดหลักความเสี่ยงที่ดีและเป็นสากลตามแนวทาง COSO และ Prudent Banking ซึ่งจะสะท้อนอยู่ในรูปแบบโครงสร้างองค์กร นอกจากนี้ เพื่อสร้างบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปฏิบัติงาน และมีการสื่อสารลงไปพนักงานทุกระดับ ธนาคารได้สร้างวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยง (Risk Culture) โดยสรุปดังนี้:

  1. กำหนดนโยบายและกรอบการบริหารความเสี่ยงที่ชัดเจน (Risk Management Policy/Framework)
  2. กำหนดอำนาจอนุมัติเพดานความเสี่ยง (Risk Limit) สำหรับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และระดับความเสี่ยงที่ทนได้
  3. สร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการบริหารความเสี่ยงที่ชัดเจน ผ่านวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยง (Risk Culture) และมีการสื่อสารลงไปยังพนักงานทุกระดับผ่านแผนปฏิบัติการ ตามรายละเอียดดังนี้: 3.1 ประกาศเจตนารมณ์และปฏิบัติตามแนวปฏิบัติตามคุณธรรมอัตลักษณ์ 5 ส ซึ่งคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยง และการควบคุมภายในที่เหมาะสม 3.2 ส่งเสริมคุณธรรมอัตลักษณ์ 5 ส ผ่านกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร เพื่อสร้างความตระหนัก ความเข้าใจการมีพฤติกรรมที่เหมาะสม และเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกระดับ ตั้งแต่กรรมการธนาคารไปจนถึงพนักงานทุกคน 3.3 มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับดูแลความเสี่ยง ซึ่งเป็นคณะกรรมการย่อยขับเคลื่อนและกำกับดูแลความเสี่ยงให้เป็นไปตามนโยบาย และอยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของธนาคาร 3.4 จัดตั้งโครงการกรุงไทยคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจเพื่อความโปร่งใส ครอบคลุมหลักจรรยาบรรณทางธุรกิจ (Code of Conduct) วัฒนธรรมที่ไม่ทนต่อการทุจริต (Zero Tolerance) และนโยบายต่อต้านการให้สินบนและคอร์รัปชัน ให้ตรวจสอบได้และปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) 3.5 มีช่องทางการแจ้งเบาะแสการกระทำผิด (Whistle Blowing Policy) และมีคณะกรรมการ Governance Risk and Compliance (GRC) ระดับจัดการ และระดับปฏิบัติการ ในการติดตามหลังรับแจ้งและเร่งรัดผลอย่างใกล้ชิด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ในการกำกับดูแลความเสี่ยง และสร้างความน่าเชื่อถือในวงกว้าง
  4. มีเครื่องมือที่ดี เพื่อช่วยให้การบริหารความเสี่ยงมีประสิทธิภาพ และมีการทดสอบเครื่องมือประเมินความเสี่ยงเป็นระยะ ในการตรวจสอบความแม่นยำในการประเมินความเสี่ยง
  5. จัดทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Testing) เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารมีเงินกองทุนเพียงพอรองรับทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต
  6. มีระบบการติดตาม (Monitor) ประเมินความเสี่ยง และรายงานความเสี่ยงผ่านแผ่นภาพสรุป (Risk Dashboard) เป็นประจำทุกเดือนต่อคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
  7. การรวมดัชนีชี้วัดการบริหารความเสี่ยง (Key Risk Indicators) เข้ากับการประเมินผลการปฏิบัติงานและค่าตอบแทนของพนักงาน เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับตระหนักและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
  8. การรวมเกณฑ์ความเสี่ยงเข้าไปในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการอนุมัติ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนกลยุทธ์ของธนาคาร
  9. มุ่งเน้นการฝึกอบรมทั่วทั้งองค์กรเรื่องหลักการบริหารความเสี่ยง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจของพนักงานและผู้บริหารในหน่วยธุรกิจภายใต้กลุ่มบริหารความเสี่ยง

การสร้างความตระหนักในการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Awareness)

ธนาคารให้ความสำคัญและสนับสนุนวัฒนธรรมด้านการบริหารความเสี่ยง (Risk Culture) ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมความเข้าใจ สร้างความตระหนัก และสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กร (Risk Awareness) เป็นเรื่องหลักที่ธนาคารสนับสนุนให้แก่ผู้บริหารระดับสูง พนักงาน และหน่วยงานทั่วทั้งองค์กร ในปี 2566 ธนาคารได้จัดให้มีการอบรมด้านการบริหารความเสี่ยงองค์กรเบื้องต้น และทำแบบทดสอบเพื่อวัดผลผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเป็นหลักสูตรบังคับสำหรับพนักงานทุกคน โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้พนักงานสามารถแยกความแตกต่างระหว่างปัญหาในการทำงานกับความเสี่ยงในการทำงาน พร้อมทั้งสามารถระบุ จัดลำดับ และจัดการความเสี่ยงได้อย่างเป็นระบบ มีพนักงานและผู้บริหารระดับสูงของธนาคารผ่านการอบรมด้านการบริหารความเสี่ยงองค์กรเบื้องต้นครบถ้วนร้อยละ 100

นอกจากนี้ ธนาคารยังพัฒนาความเข้าใจของพนักงานและผู้บริหารสังกัดหน่วยงานบริหารความเสี่ยงในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งได้มีการบูรณาการประเด็นดังกล่าวเข้าไปในกระบวนการบริหารความเสี่ยงของธนาคารทั้งในระดับปฏิบัติการและระดับพอร์ตโฟลิโอ ธนาคารได้จัดหลักสูตรการอบรมด้านการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Risk) และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk) ให้แก่ผู้บริหารและพนักงานทุกสายงาน ให้มีความเข้าใจในความเสี่ยงและโอกาสจากประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อาทิ



หลักสูตร

  • Fundamentals of Responsible Banking: M1 การเปิดเผยด้าน ESG
  • Fundamentals of Responsible Banking: M2 ประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญและความเสี่ยงและโอกาสทางการเงินที่เกี่ยวข้อง
  • Fundamentals of Responsible Banking: M3 การนำกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของคุณไปปฏิบัติ
  • ESG: ภาพรวม Thailand Taxonomy

ความเสี่ยงเกิดใหม่ (Emerging Risk)

ธนาคารมีการประเมินความเสี่ยงเป็นประจำเพื่อระบุความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทหรือกลุ่มบริษัททั้งในปัจจุบันและความเสี่ยงที่อาจเกิดใหม่ (Emerging Risk) ในอีก 3-5 ปี เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความเสี่ยงเหล่านั้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถของบริษัทในการดำเนินธุรกิจให้บรรลุเป้าหมาย พร้อมทั้งกำหนดมาตรฐานการบรรเทาผลกระทบเพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารและลูกค้าธนาคาร


ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Transition Risk)

ในปัจจุบัน ปัญหาและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากสภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Event) เช่น คลื่นความร้อน พายุฝนและน้ำท่วม ภัยแล้ง และการเกิดไฟป่าที่มีความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยกว่าในอดีต ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยได้ร่วมมือกันในการกำหนดทิศทาง เป้าหมาย และหลักเกณฑ์เพื่อควบคุมให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจนำไปสู่กฎหมาย กฎระเบียบ และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ธนาคารจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือและบริหารจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Transition Risk) อาทิ

  • ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS) มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ที่จะกระทบภาคธุรกิจซีเมนต์ ไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และไฮโดรเจน และยังมีความเสี่ยงในภาคอุตสาหกรรมภายใต้ระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป (EU ETS) อื่น ๆ ที่อาจปรับเข้ามาในมาตรการเช่นกัน เช่น สารอินทรีย์พื้นฐาน พลาสติกและโพลิเมอร์ แก้ว เซรามิก ยิปซัม และกระดาษ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่อาจจัดเก็บภาษีนำเข้าสำหรับผู้ก่อมลพิษของสหรัฐอเมริกา (Polluter Import Fee) และจัดเก็บภาษีคาร์บอนสำหรับภาคพลังงาน ขนส่ง และอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างภาษีคาร์บอนในประเทศไทย
  • ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้าและการเปลี่ยนนโยบายการลงทุนของนักลงทุน ผู้บริโภคมีความสนใจสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวและยั่งยืน (Green and Sustainable Finance) ในขณะเดียวกันนักลงทุนเล็งเห็นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อความสูญเสียทางการเงินของบริษัทในอนาคต


ผลกระทบ

ความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายหรือกฎระเบียบจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และพฤติกรรมของลูกค้า อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารและลูกค้าของธนาคาร

  • ลูกค้าของธนาคารต้องเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและกฎหมายเช่นเดียวกัน อาทิ ภาษีการปล่อยคาร์บอน CBAM ต้นทุนการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น โดยธุรกิจขนาดใหญ่จะได้รับผลกระทบเป็นหลัก เนื่องจากมีโอกาสที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราถึงเกณฑ์ที่รัฐกำหนดให้เสียภาษี ธนาคารคาดการณ์ว่าธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบ ครอบคลุมถึงภาคธุรกิจต่าง ๆ ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และไฮโดรเจน ซึ่งรวมมูลค่าสินเชื่อของอุตสาหกรรมดังกล่าวอยู่ประมาณระหว่างร้อยละ 1-2 ของสินเชื่อรวมของธนาคาร ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อศักยภาพในการชำระหนี้ รวมถึงการตัดสินใจขยายการลงทุนของลูกค้า
  • หากประเมินความเสี่ยงในกรณีร้ายแรง ภาษีการปล่อยคาร์บอน CBAM สามารถส่งผลกระทบต่อลูกค้าในบางอุตสาหกรรมในภาคธุรกิจที่เข้าเงื่อนไข ส่งผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินการ อาจเกิดการลดกำลังการผลิตและการจ้างงาน ส่งผลในการมองหาแหล่งส่งออกอื่น ๆ หรือจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าให้สมดุลรับกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนส่งผลกระทบโซ่ไปถึงลูกค้า SME และรายย่อย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องไปจนถึงหนี้เสียจากการผิดนัดชำระ เป็นต้น
  • ธนาคารต้องเผชิญกับผลกระทบในเรื่องต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มขึ้น เช่น หากรัฐบาลมีการประกาศใช้มาตรการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในปี 2567 อาจส่งผลให้ธนาคารมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 5 ปีแรก และธนาคารอาจต้องเผชิญกับบทลงโทษที่อาจถูกกำหนดขึ้นจากหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันทางการเงิน


มาตรการบรรเทาผลกระทบ

ธนาคารได้ศึกษา ประเมิน และดำเนินการแผนจัดการความเสี่ยง โดยการบูรณาการร่วมกับการประเมินความเสี่ยง ESG เพื่อลดความเสี่ยง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยธนาคารได้ดำเนินการบรรเทาผลกระทบในส่วนการดำเนินงานของธนาคารและการจัดการพอร์ตโฟลิโอสินเชื่อ

  • ประเมินความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศเป็นประจำอย่างต่อเนื่องผ่าน Task Force on Climate-Related Financial Disclosures (TCFD) เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่เป็นไปได้ผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ โอกาสและแนวทางที่ธนาคารจะใช้ในการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ
  • กำหนดกลยุทธ์และแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ระยะสั้นไปจนถึงระยะยาวสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 และ 2 สำหรับการดำเนินธุรกิจและสินทรัพย์ของธนาคาร และขอบเขตที่ 3 ที่สะท้อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยลูกค้าของธนาคาร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
  • พัฒนาความรู้ และความเข้าใจด้าน ESG ให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น การอบรมเรื่อง Carbon Credit และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขอบเขตที่ 3 การจัดทำ E-learning เรื่อง ESG และจัดกิจกรรมด้าน ESG ใน 3 มิติ ได้แก่ ESG Awareness, ESG Knowledge, และ ESG in Action
  • จัดตั้งคณะทำงาน ESG และกำหนดแผนงาน ESG Risk Infrastructure เพื่อจัดทำแผนการปรับตัว (Transition Plan) ที่สอดคล้องกับแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจปรับตัวและเกิดผลอย่างเป็นธรรม มีการกำหนดกรอบการดำเนินงานและวางกลยุทธ์การบริหารจัดการความเสี่ยง และสนับสนุนแต่ละอุตสาหกรรมตามเกณฑ์ Thailand Taxonomy
  • พัฒนาและกำหนดแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending Guideline) โดยลูกค้าสินเชื่อต้องประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยมี ESG Checklist กำหนดรายการผู้ขอสินเชื่อและกิจกรรมที่ธนาคารไม่ให้การสนับสนุนสินเชื่อ (Exclusion List) และกำหนดรายการสนับสนุนการให้สินเชื่อกับธุรกิจหรือโครงการในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพตามที่ธนาคารกำหนด และสอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Inclusion List) เช่น สินเชื่อเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่มีธรรมาภิบาล สินเชื่อที่ช่วยให้เกิดการสร้างงาน พัฒนาคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม
  • ธนาคารได้ติดตามสภาวะและประเมินความเสี่ยงที่เกิดจากการปรับตัวอย่างสม่ำเสมอสำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ โดยประเมินในระดับภูมิภาค ระดับอุตสาหกรรม และในระดับลูกค้าแต่ละราย เพื่อพิจารณาจัดให้มีมาตรการแก้ไขเพื่อช่วยเหลือลูกค้า
  • ธนาคารเตรียม Transition Plan สำหรับลูกค้าในอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบและลูกค้าในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถปรับตัวได้ พร้อมติดตามผลกระทบอย่างต่อเนื่องเพื่อดำเนินการลดสัดส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบในพอร์ตโฟลิโอของธนาคารได้อย่างทันท่วงที

ความเสี่ยงจากภูมิทัศน์ใหม่ด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Landscape)

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันการเงินนับเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการรับมือกับความท้าทายนี้ผ่านการจัดสรรเงินทุนสำหรับธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวสู่การเปลี่ยนผ่าน รวมถึงช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ในปัจจุบัน การจัดสรรเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านยังมีระดับต่ำกว่าความต้องการเป็นอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลให้ประชาคมโลกรวมถึงประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวสู่การเปลี่ยนผ่านได้อย่างทันการณ์ จากรายงานของ International Energy Agency (IEA) ระบุว่าเงินลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านยังมีเพียงแค่ร้อยละ 30 ของความต้องการ และจากสถานการณ์ในต่างประเทศมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย หลักการ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนเพิ่มสูงขึ้น

ในประเทศไทย การเงินเพื่อความยั่งยืนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และมีสัดส่วนน้อยมาก หน่วยงานกำกับและพัฒนาหลักการเกณฑ์การดำเนินงาน รวมถึงเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของการเงินเพื่อความยั่งยืน นอกจากนี้นักลงทุนให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG และการปรับตัวสู่การเปลี่ยนผ่านและมีความคาดหวังให้ธนาคารมีการปรับตัวและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน เพื่อตอบสนองต่อมาตรฐานสากลและความต้องการของลูกค้า

ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐและเป็นธนาคารชั้นนำของประเทศ มีการแข่งขันในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ซึ่งไม่เพียงให้บริการแก่ลูกค้าของธนาคารเอง โดยยังมีบริการทางการเงินตอบสนองแก่ประชาชนทั้งประเทศผ่าน Digital Open Platform จึงมีความคาดหวังให้ธนาคารเป็นผู้นำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน รองรับการประยุกต์ใช้เครื่องมือใหม่ ๆ ตามมาตรฐานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อธนาคาร ดังนี้

  • การศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า หากธนาคารไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนได้อย่างทันท่วงทีและครอบคลุมตามความต้องการของลูกค้า อาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของธนาคาร
  • การกำหนดนิยามและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนจะต้องมีความชัดเจน เหมาะสม มีหลักการที่น่าเชื่อถือ รองรับ รวมถึงคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสิทธิมนุษยชน ธนาคารอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการกำหนดนิยามและหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีการกำหนดนิยามและหลักเกณฑ์ของกิจกรรมของสินเชื่อสีเขียวเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเป็นกิจกรรมสีเขียวสำหรับภาคพลังงานและขนส่งเท่านั้น (อ้างอิง Thailand Taxonomy ฉบับที่ 1)
  • ธนาคารอาจไม่สามารถระบุ ประเมิน หรือติดตามการใช้สินเชื่อของลูกค้าตามวัตถุประสงค์ของสินเชื่อสีเขียวได้อย่างเข้มงวด รวมถึงยังไม่มีกระบวนการหยุดให้สินเชื่อ กรณีตรวจพบว่าสินเชื่อนั้นไม่เข้าข่ายการเป็นสินเชื่อสีเขียวอีกต่อไป


ผลกระทบ
ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน เพื่อตอบสนองต่อลูกค้าของธนาคารรวมถึงประชาชนทั่วไปที่ใช้บริการผ่าน Digital Open Platform ธนาคารจึงจำเป็นต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนให้สอดคล้องกับกฎระเบียบต่าง ๆ อย่างเหมาะสมและทันท่วงที ซึ่งประเด็นดังกล่าวล้วนมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันกับธนาคารอื่น นอกจากนี้ การกำหนดนิยามและหลักเกณฑ์ของธนาคารที่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์สากลและน่าเชื่อถือ เพื่อให้สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนแก่ลูกค้าและโครงการที่มีวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างแท้จริง และไม่ก่อให้เกิดการฟอกเขียวโดยไม่ได้ตั้งใจ (Unintentional Greenwashing) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของธนาคารได้ รวมถึงต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่หน่วยงานภาครัฐได้บังคับใช้เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเสียค่าปรับกรณีไม่ระมัดระวังในการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่กิจกรรมสีเขียว และหลีกเลี่ยงการสูญเสียโอกาสในการสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม


มาตรการบรรเทาผลกระทบ
ธนาคารได้ดำเนินการศึกษามาตรฐานสากลที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน ได้ขยายผลและประยุกต์ใช้เครื่องมือใหม่ ๆ เช่น Thailand Taxonomy การกำหนดเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อสีเขียว เป็นต้น เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยธนาคารได้ดำเนินการดังนี้:

  • ศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์การปรับตัวของลูกค้าในทุกระดับธุรกิจ สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น ESG Linked Derivatives สำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) เช่น สินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสินเชื่อกรุงไทยเพื่อความยั่งยืน อีกทั้งธนาคารได้จัดทำแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ชัดเจนตามหลักการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลากหลายที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เช่น Sustainability-Linked Loan และ Green Loan ในการช่วยส่งเสริมลูกค้าที่ต้องการเงินทุนสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน
  • จัดทำโมเดลนำร่องเพื่อการออกผลิตภัณฑ์เพื่อการระดมทุน เช่น เงินฝาก (Green Deposit) หุ้นกู้ (Green Bond) หรือตราสารอนุพันธ์ในการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม

ธนาคารอยู่ระหว่างการจัดทำ Green Loan Framework และ Green Financing Framework โดยแผนดังกล่าวจะถูกตรวจทานและรับรองจากผู้ประเมินภายนอกถึงความสอดคล้องและเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานสากล โดยมีรายละเอียดดังนี้:

  • แผนจัดทำ Green Loan Framework พร้อมตัวชี้วัดที่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล เช่น หลักการสินเชื่อสีเขียว (Green Loan Principle) ของ Asia Pacific Loan Market Association (APLMA) และ Loan Market Association (LMA) และกิจกรรมสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านตามกรอบ Thailand Taxonomy ซึ่งจะช่วยกำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินสินเชื่อสีเขียว (Eligible Green Loan Criteria) ของธุรกิจหรือโครงการที่ธนาคารจะสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว โดยจะช่วยคัดกรองความเข้มข้นของกิจกรรม แผนการยกเลิกหรือเปลี่ยนผ่านในบางกิจกรรม และ Green Loan Framework จะต้องสอดคล้องกับองค์ประกอบหลัก 4 ประการ ได้แก่ 1) วัตถุประสงค์ของการใช้เงิน 2) กระบวนการที่ใช้ในการประเมินและคัดเลือกโครงการ 3) การบริหารจัดการเงินที่ได้รับ และ 4) การรายงาน เพื่อให้ธนาคารมีเกณฑ์คุณสมบัติของสินเชื่อสีเขียวที่ชัดเจนและสนับสนุนการจัดทำ Green Financing Framework
  • แผนจัดทำ Green Financing Framework เพื่อกำหนดรูปแบบและกระบวนการที่ชัดเจนในการรองรับการออกผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล เช่น หลักการตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond Principle) ของ International Capital Market Association (ICMA) โดย Green Financing Framework จะต้องสอดคล้องกับองค์ประกอบหลัก 4 ประการ ได้แก่ 1) รายละเอียดการใช้เงินที่ได้จากการระดมทุน 2) กระบวนการประเมินและคัดเลือกโครงการ 3) การบริหารจัดการเงินที่ได้จากการระดมทุน และ 4) การรายงาน เพื่อให้ผู้ฝากเงินหรือนักลงทุนมั่นใจได้ว่าธนาคารมีกระบวนการบริหารจัดการเงินในการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวตามเกณฑ์มาตรฐานอย่างแท้จริง
  • แผนจัดทำนโยบายการลดการให้สินเชื่อกับธุรกิจบางประเภท (Phase Out) เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการผลกระทบด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากบางประเภทธุรกิจ และช่วยให้ธนาคารสามารถบรรลุเป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่กำหนดไว้
  • ธนาคารกำหนดให้มีการทวนสอบจากหน่วยงานภายนอกในการให้สินเชื่อสีเขียวตาม Green Loan Framework และ Green Financing Framework หรือการจัดทำ Second Party Opinion เพื่อให้แน่ใจว่าการให้สินเชื่อสีเขียวมีความเหมาะสมและผ่านเกณฑ์ที่กำหนด

ความเสี่ยงจากเงินดิจิทัล (Central Bank Digital Currency Risk)
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างการพัฒนาเงินดิจิทัล หรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) ซึ่งมีความสามารถเทียบเท่าเงินบาท ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย มีมูลค่าคงที่ โดยเบื้องต้น ธปท. ได้ออกแบบให้ CBDC มีการกระจายผ่านสถาบันการเงิน แต่จะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยในการรับฝาก CBDC และจะจำกัดการถือครอง ดังนี้ CBDC อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่าง ๆ แก่ธนาคาร ดังนี้

  • หากตลาดมีความต้องการ CBDC มาก อาจส่งผลกระทบต่อความเพียงพอของ CBDC ในระบบของธนาคารและในตลาด รวมถึงสภาพคล่องของธนาคารสำหรับ CBDC ได้
  • ธนาคารยังไม่สามารถประเมินค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบเพื่อรองรับการเป็นตัวกลางของ CBDC รวมถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ใช้พัฒนาระบบดังกล่าวและการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่อาจเกิดมากขึ้นจากการใช้เงินดิจิทัล

ผลกระทบต่อธนาคารและลูกค้า

ความเสี่ยงจากเงินดิจิทัลสามารถก่อให้เกิดโอกาสวิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อการเงินของธนาคาร ดังนี้:

  • การขาดสภาพคล่องของ CBDC ทำให้ธนาคารจำเป็นต้องจัดหาเงินทุนเพิ่มเติม และนำกลับมาใช้ในรูปแบบของ CBDC เพื่อไม่ให้เกิดการชะงักงันในการดำเนินธุรกิจ อาจส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของธนาคาร
  • ด้วยค่าใช้จ่ายในการศึกษาพัฒนาและปรับปรุงระบบให้รองรับการเป็นตัวกลางของ CBDC ที่สูง อย่างไรก็ตาม ธนาคารต้องพัฒนาระบบให้ได้อย่างทันท่วงที เพื่อรักษาฐานลูกค้า CBDC และลูกค้าเงินฝากด้วยเช่นกัน


มาตรการบรรเทาผลกระทบ

ธนาคารมีการวางแผนและติดตามในการประเมินความเสี่ยงทางการเงินดิจิทัล เพื่อเป็นการหาแนวทางป้องกัน และยังช่วยประเมินหาวิธีการลดผลกระทบจากความเสี่ยงอีกด้วย

  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในธนาคารติดตามความคืบหน้าของโครงการอย่างใกล้ชิด ศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบที่อาจเกิดกับธนาคาร รวมถึงพัฒนาแผนการดำเนินงานเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เช่น ศึกษาและจัดหาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาระบบของธนาคาร
  • ธนาคารกำหนดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามสภาพคล่องของ CBDC ในกรณีที่มีการใช้ CBDC ในระบบการเงินของไทย รวมทั้งมีการกำหนดเพดานอัตรา (Trigger) เพื่อใช้ควบคุมความเสี่ยงด้านสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ รวมถึงรายงานฐานะสภาพคล่องอย่างสม่ำเสมอ
  • ธนาคารเพิ่มสถานการณ์จำลองในการทดสอบสภาวะวิกฤติความเสี่ยงด้านสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อทราบผลกระทบและจัดเตรียมมาตรการรองรับกรณีที่ธนาคารไม่สามารถระดมเงินฝากได้ในระดับเดิม และจัดทำแผนฉุกเฉินสภาพคล่องเพื่อรองรับภาวะวิกฤติเพื่อให้ธนาคารสามารถลดผลกระทบในเชิงลบจากปัญหาสภาพคล่องที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีด้วยค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่สมเหตุสมผล
  • ธนาคารแสวงหาพันธมิตร (Partner) เพื่อร่วมมือกันเสริมสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีหรือ Business Model ใหม่ ๆ

ความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk)
ความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จากการขยายตัวของสงครามในบางภูมิภาคของโลกซึ่งมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารในภูมิภาคดังกล่าว ทำให้ธนาคารไม่สามารถวางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การชุมนุม เหตุการณ์ประท้วง อาจสร้างความเสียหายหรือเป็นเหตุให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินงาน


ผลกระทบต่อธนาคารและลูกค้า
ปัจจุบันธนาคารดำเนินธุรกิจผ่านสาขาต่าง ๆ ในหลายประเทศ ได้แก่ จีน สิงคโปร์ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมาร์ และอังกฤษ แม้จะเป็นประเทศที่ยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ แต่หากสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น การดำเนินธุรกิจของธนาคารในภูมิภาคที่มีปัญหาภูมิรัฐศาสตร์อาจหยุดชะงัก ทรัพย์สินของธนาคารเกิดความเสียหายจากการชุมนุมประท้วง พนักงานไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่สามารถดำเนินงานตามแผนธุรกิจที่วางไว้ ส่งผลให้ธนาคารมีรายได้และกำไรลดลงไปจนถึงการขาดทุนจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น


มาตรการบรรเทาผลกระทบ

ติดตามสภาวะและประเมินความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ โดยรวมไปถึงกระบวนการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Due Diligence) และกระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) เพื่อให้ธนาคารสามารถรับมือกับความเสี่ยงได้ทุกรูปแบบ และสามารถให้คำแนะนำแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ

ความเสี่ยงจากวิกฤติหลากหลายมิติ (Polycrisis Risk)
วิกฤติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสามารถส่งผลกระทบต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ ทำให้เกิดความท้าทายที่ธนาคารต้องเตรียมความพร้อมรับมือและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ อาทิ วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤติโรคระบาดอุบัติใหม่ วิกฤติการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาทางการเมือง ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน วิกฤติเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้ออย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างก่อให้เกิดวิกฤติหนี้ ทั้งในระดับครัวเรือน องค์กรเอกชน สถาบันการเงิน และแม้กระทั่งภาครัฐบาลของประเทศ อาจเกิดจากการรับมือไม่ทันต่อเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค (Regional Connectivity) ซึ่งเป็นเรื่องของ Digital Transformation หรือการเปลี่ยนแปลงใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่งกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจโลกยุคใหม่กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม


ผลกระทบ
ธนาคารได้รับผลกระทบจากวิกฤติหลากหลายมิติ ผ่านทางคุณภาพของลูกค้าของธนาคารทั้งในประเทศและต่างประเทศ แบ่งกลุ่มลูกค้าได้ดังนี้:

  • ลูกค้าธุรกิจ ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเผชิญทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น การขาดรายได้ในการส่งออกในประเทศที่ถูกคว่ำบาตร ส่งผลให้เกิดการขาดสภาพคล่อง และไม่สามารถชำระหนี้ให้ธนาคารได้ตามกำหนด หรือการถูกควบคุมการนำเข้าสินค้า ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบสูงขึ้นและกำไรลดลง ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง การปรับตัวไม่ทันต่อเศรษฐกิจกระแสใหม่ (New Economy) และความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค (Regional Connectivity) ส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของลูกค้าเพิ่มขึ้น ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง
  • ลูกค้ารายย่อย ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติค่าครองชีพสูงขึ้น ส่งผลให้ลูกค้ามีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง


มาตรการบรรเทาผลกระทบ
วิกฤติดังกล่าวยากต่อการคาดเดาและส่งผลกระทบทั่วโลก การเตรียมตัวรับมืออย่างล่วงหน้าจึงเป็นสิ่งจำเป็น ธนาคารเตรียมความพร้อมในการรับมือความเสี่ยงจากวิกฤติหลากหลายมิติ ผ่านกระบวนการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตอย่างรัดกุมรอบคอบ ทันเหตุการณ์ และเป็นไปตามการกำกับดูแลที่ดี รายละเอียดมาตรการดังนี้:

  • การอนุมัติสินเชื่อ ธนาคารปฏิบัติตามนโยบาย แนวทาง และอำนาจการอนุมัติสินเชื่ออย่างรัดกุม โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดำเนินธุรกิจอย่างเคารพสิทธิมนุษยชน ความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น สงคราม การคว่ำบาตร กฎเกณฑ์ข้อบังคับต่าง ๆ ที่ลูกค้าของธนาคารจะได้รับผลกระทบ
  • การติดตามคุณภาพสินเชื่อ ธนาคารมีการบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อเชิงรุก โดยพยากรณ์คุณภาพสินเชื่อเป็นรายสัปดาห์ และนำเสนอคณะผู้บริหารเพื่อพิจารณาแนวทางการป้องกันก่อนการเกิดหนี้เสีย เช่น เสนอการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ ให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าก่อนจะเกิดการขาดสภาพคล่อง
  • การจัดชั้นและกันสำรอง ธนาคารพิจารณาการจัดชั้นและกันสำรองเพิ่มเติมให้แก่ลูกค้าที่มีความเปราะบาง และลูกค้าที่มีสัญญาณของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการ Override & Overlay Management เป็นรายเดือน เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารจะมีเงินสำรองที่เพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงในอนาคต
  • การทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress Testing) อย่างสม่ำเสมอ โดยธนาคารคำนึงถึงความครอบคลุมความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญทุกด้าน รวมถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในการพิจารณาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้มีการจัดการเงินกองทุนอย่างเหมาะสม ทั้งในกรณีภาวะเศรษฐกิจปกติ และในกรณีที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง
  • ธนาคารร่วมมือกับพันธมิตรทุกกลุ่ม ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนใน “Total Solutions” ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ครอบคลุมทุกกิจกรรมในชีวิตลูกค้า เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุดและทั่วถึง
  • ติดตามแนวทางอันเกิดจากความท้าทายใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อพิจารณาปรับปรุงแนวทางการประเมินสินเชื่อให้สอดคล้องกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ครอบคลุมทั้งประเด็นเศรษฐกิจกระแสใหม่ (New Economy) และความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค (Regional Connectivity) เพื่อให้สามารถทราบและประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและโครงสร้างของสังคม

การบริหารความเสี่ยงในกระบวนการออกผลิตภัณฑ์

ธนาคารให้คณะกรรมการผลิตภัณฑ์ (Product Committee) ทำหน้าที่อนุมัติผลิตภัณฑ์ใหม่และทบทวนผลิตภัณฑ์ให้อยู่ภายใต้กรอบการบริหารจัดการความเสี่ยงและสอดคล้องกับนโยบายหรือแผนยุทธศาสตร์ของธนาคาร นอกจากนี้ ธนาคารได้กำหนดกระบวนการ Product Assessment เพื่อให้การออกและทบทวนผลิตภัณฑ์มีการพิจารณาความเสี่ยงและประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ อย่างรอบด้าน


ข้อมูลเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ