การต่อต้านคอร์รัปชัน
ได้รับการรับรองการต่ออายุเป็นองค์กรสมาชิกของแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย
(Collective Action Against Corruption: CAC)
ต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 3
เป้าหมายการดำเนินงานระยะยาว
- องค์กรมีธรรมาภิบาลด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และได้รับการยอมรับตามมาตรฐานระดับสากล
- พัฒนากระบวนการป้องกันความเสี่ยงและปราบปรามทุจริตเชิงรุกผ่านกระบวนการ Three Lines of Defense
ผลการดำเนินงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน
รายละเอียด |
ผลการดำเนินงาน |
การศึกษาความรู้เรื่องโทษทางวินัย |
พนักงานลงนามรับทราบจรรยาบรรณธุรกิจ |
|
มีความเสี่ยงที่หลงเหลืออยู่ในระดับปานกลาง-ต่ำ |
จำนวนของพนักงานที่ได้รับการอบรมนโยบายและขั้นตอน |
ร้อยละ 99.86 |
ธนาคารกรุงไทยให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ตรงไปตรงมา มีความรับผิดชอบต่อสังคม บนความโปร่งใส ปฏิบัติตามกฎหมาย และกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ด้วยหลักการในการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ การรับหรือให้สินบน และการคอร์รัปชั่นถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ธนาคารไม่สามารถยอมรับให้เกิดขึ้นได้ (Zero Tolerance) เพื่อให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยธนาคารได้ประกาศนโยบายต่อต้านการรับ-ให้สินบนและคอร์รัปชัน เพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้กับพนักงานของธนาคาร บริษัทในเครือ รวมถึงผู้ที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจของธนาคาร หรือกระทำการในนามของธนาคาร ที่ต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการรับหรือให้สินบน และการคอร์รัปชันไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นส่วนเพิ่มเติมของจรรยาบรรณธุรกิจธนาคาร ที่เป็นกรอบการดำเนินงานของธนาคาร และรวมถึงปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการรับ-ให้สินบนและคอร์รัปชันในประเทศไทย (รวมถึงประเทศที่ธนาคารได้ดำเนินธุรกิจด้วย) เช่น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่อง แนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคลในการป้องกันการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้กำหนดนโยบายการป้องกันการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงของธนาคาร ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมอันเป็นภัยร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของชาติรวมถึงประชาคมโลก โดยผู้ประกอบอาชญากรรมได้อาศัยธนาคารเป็นช่องทางหนึ่งในการกระทำผิดดังกล่าว ซึ่งนานาประเทศได้ให้ความสำคัญและร่วมมือกันกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหานี้ เพื่อตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมดังกล่าว โดยองค์กรระหว่างประเทศชื่อว่า Financial Action Task Force (FATF) ได้กำหนดมาตรการด้าน AML/CFT ในระดับสากล เรียกว่า ข้อแนะนำ 40 ข้อ (The Forty Recommendations) เพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้ยึดถือเป็นแนวทางในการออกกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ.
ธนาคารกรุงไทยได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายด้าน Anti-Money Laundering and Counter Terrorism and Proliferation of Weapon of Mass Destruction Financing: AML/CTPF โดยมุ่งมั่นมิให้ธนาคารถูกใช้เป็นช่องทางในด้านการฟอกเงินฯ ดังนั้น ธนาคารจึงได้กำหนดนโยบายและระเบียบปฏิบัติงานด้าน AML/CTPF ที่ครอบคลุมการดำเนินงานด้านต่างๆ ของธนาคาร ซึ่งได้แก่ การประเมินความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน และสนับสนุนการก่อการร้าย การตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด (Sanction Lists) การจัดให้ลูกค้าแสดงตน (Know Your Customer : KYC) การตรวจเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligence: CDD) รวมถึงการตรวจสอบบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง ทั้งลูกค้าที่สร้างความสัมพันธ์
การตรวจสอบและติดตามความเคลื่อนไหวทางการเงินหรือการทำธุรกรรมของลูกค้า การรายงานธุรกรรม ตลอดจนการตรวจสอบภายในด้าน AML/CTPF และการฝึกอบรม
แนวทางการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันภายในองค์กร (First, Second, Third lines of defenses)
ธนาคารมีแนวทางการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันภายในองค์กรที่รัดกุม ครอบคลุมกระบวนการดำเนินงานทั้งหมด โดยมีมาตรการที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ
1. ระดับผู้ปฏิบัติงาน ธนาคารมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ ในบทบาทหน้าที่เเละความรับผิดชอบของพนักงานเเละผู้บริหารเเต่ละระดับ โดยการสื่อสารอย่างบูรณาการผ่านช่องทางต่างๆ ภายใต้โครงการ “Retail Market Conduct Communication” ทั้งในรูปแบบหนังสือกำชับการปฏิบัติงาน การทำสื่ออินโฟกราฟฟิกผ่านทางอีเมล เเละแอปพลิเคชัน One Krungthai รวมถึง Weekly Huddle ของสาขา โดยประเด็นการสื่อสารจะมุ่งเน้นการสื่อสารนโยบายด้านการไม่ทนต่อการทุจริต เเละด้านอื่นๆ ของธนาคาร การสื่อสาร Lesson Learn จากเหตุการณ์ทุจริตที่เคยเกิดขึ้น โทษทางวินัยเเละโทษทางอาญาของผู้กระทำการทุจริตเเละผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการทุจริต เเละประเด็นด้านกระบวนการควบคุม/สอบทานการปฏิบัติงานภายในหน่วยงาน
2. ระดับนโยบาย/กระบวนการ/ระเบียบปฏิบัติงาน ธนาคารได้ทบทวนนโยบายและระเบียบปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับมาตรการที่มีการกำหนดโดยกฎเกณฑ์ และ/หรือกฎหมาย สภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งเเวดล้อม เเละเทคโนโลยีทางการเงินที่เปลี่ยนเเปลงไป เพื่อกำหนดเเนวทางการเเก้ไขที่เหมาะสมกับสภาพการปฏิบัติงานจริงของธนาคาร
3. ระดับระบบงาน ธนาคารได้มีการพัฒนาปรับปรุงระบบงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนาและทำความเข้าใจในความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ระบบมีความปลอดภัยจากความเสี่ยงต่อการทุจริต อาทิ การเปลี่ยนรหัสผ่านเข้าสู่ระบบงานในทุก 15 วัน หรือการใช้ OTP แทนการใช้รหัส
นอกจากนี้ ธนาคารได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่่วยในการแก้ปัญหาและวางแผนบริหารความเสี่ยงตามกลไกของระบบป้องกันการทุจริตของธนาคาร เช่น การใช้เทคโนโลยี Robotic Process Automation (RPA) ในการสอบทานธุรกรรมของสาขา เพื่อตรวจจับการทำธุรกรรมน่าสงสัย
การสร้างวัฒนธรรมด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน
ธนาคารกำหนดนโยบายไม่ทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบ (Zero Tolerance) ผ่านการดำเนินโครงการ “กรุงไทยคุณธรรม” เพื่อเป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีในหมู่พนักงาน ในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ข้อกฎหมาย ตลอดจนแนวปฏิบัติที่บังคับใช้กับธุรกรรมต่าง ๆ ตามข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ธนาคารกำหนดแนวทางการบริหารความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Compliance Risk) ซึ่งช่วยระบุและประเมินความเสี่ยงจากผลกระทบ หรือการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของธนาคารให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้นำแผนการกำกับดูแลเชิงป้องกัน (Preventive Action Plan) และแผนการติดตามสอบทานการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Monitoring & Testing Plan) รวมถึงดำเนินการกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในด้านอื่น ๆ ที่สำคัญ เพื่อป้องกันหรือลดโอกาสที่ธนาคารจะมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ในปี 2566 ธนาคารมีการประเมินความเสี่ยงในการรับ -ให้สินบน และคอร์รัปชัน โดยมีแนวทางในการประเมินความเสี่ยงตามสาเหตุของการการรับ -ให้สินบน และคอร์รัปชันที่เกิดจาก
1. การซื้อความสะดวก หมายถึง การติดสินบนเพื่อซื้อความสะดวก รวดเร็ว หรือลดระยะเวลาในการขอรับบริการต่าง ๆ โดยมีประเด็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เช่น
- ลดขั้นตอนการดำเนินการ / เร่งกระบวนการการบังคับคดี / การขอสำเนา / คัดสำเนาเอกสาร จากหน่วยงานราชการ
- ให้เงินหรือประโยชน์อื่นใดแก่สำนักงานที่ดินเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้นหาหรือตรวจสอบเอกสารจากสำนักงานที่ดิน
- ลูกค้ามีการสังสรรค์กับพนักงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นพนักงานดูแลสินเชื่อราย/กลุ่มนั้น ๆ เป็นเวลานาน เพื่อหวังจะได้รับความสะดวกสบายในการได้รับบริการจากธนาคาร
- ลูกค้าให้ผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเร่งขั้นตอนการตั้งวงเงิน และเบิกจ่ายเงินกู้ หรือกำหนดหรือผ่อนปรนเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ให้กับลูกค้า
2. การซื้อความผิด หมายถึง การติดสินบนเพื่อละเว้นความผิด หรือแก้สิ่งผิดให้กลายเป็นถูก โดยมีประเด็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เช่น
- การเจรจาปกปิดประเด็นความผิด จากคณะกรรมการสอบสวนฯ
- หน่วยงานผู้รับจ้างปฏิบัติงาน ส่งมอบงานไม่ถูกต้องตามสัญญาและ TOR แล้วทำการติดสินบนกรรมการผู้ตรวจรับงานจ้างเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายค่าจ้างได้ตามปกติ
- ชะลอการดำเนินคดี ชะลอการปรับโครงสร้างหนี้
3. การซื้องาน หมายถึง การติดสินบนเพื่อซื้อความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง หรือซื้อความแน่นอนว่าจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นคู่สัญญารับงาน โดยมีประเด็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เช่น
- การให้ของขวัญ เพื่อสิ่งตอบเเทนอื่นเพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ในการที่ลูกค้า/หน่วยงานของลูกค้าจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เเละบริการของธนาคาร
- ลูกค้าให้เงินหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อให้ได้ราคาประเมินมูลค่าทรัพย์สูงเกินกว่าราคาตลาด
- การได้รับประโยชน์อื่นใดเพื่อกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
4. การเรียกรับผลประโยชน์ โดยพนักงานในธนาคารเป็นคนเรียกร้องให้จ่าย โดยมีประเด็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เช่น
- การเรียกรับเงินเพื่อประโยชน์ส่วนตน เพื่อเปิดเผยข้อมูลลูกค้าของธนาคารให้บุคคลภายนอกทราบ
- จัดทำประกันภัยหลักประกันสินเชื่อ กับบริษัทประกันภัยที่ตนได้รับประโยชน์โดยตรง
- พนักงานเรียกรับผลประโยชน์เพื่อให้การอนุมัติปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทำได้โดยง่าย และชะลอการดำเนินคดีทางกฎหมายให้แก่ลูกหนี้ เพื่อถ่วงเวลาการดำเนินคดี
- การเรียกรับเงินหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
ธนาคารได้พิจารณาการควบคุมทั้ง 4 ประเภทเพื่อปิดความเสี่ยง ดังนี้
- Operational Control คือ SOP แนวทางปฏิบัติ หนังสือเวียน หรือขั้นตอนการทำงานที่ใช้ลดหรือป้องกันความเสี่ยง
- Control Environment คือ มาตรการควบคุมปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ
- Financial Control คือ มาตรการควบคุมทางด้านการเงินที่ใช้ลดความเสี่ยง
- Monitoring Control คือ มาตรการควบคุมทางด้านการตรวจสอบภายใน การติดตามผล และ/หรือการสุ่มตรวจสอบ
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ผ่านอีเมล และแอปพลิเคชัน One Krungthai อาทิ Market Conduct จัดกิจกรรม Extra Mission โดยพนักงานได้รับการศึกษาความรู้เรื่องโทษทางวินัยและความผิดวินัยร้ายแรง พร้อมลงนามรับทราบปฏิบัติตามระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัดผ่านแอปพลิเคชัน One Krungthai หรือในคอลัมน์ “รู้ทัน กันพลาด” ซึ่งเป็นแนวทางเพื่อให้พนักงานธนาคารทุกคนสามารถดำเนินงานด้านการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ ยังมีการเดินสายให้ความรู้ถึงกฎระเบียบใหม่ที่ประกาศใช้ และแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 การรักษารหัสผ่าน (Password) และเครื่องมือในการตรวจจับธุรกรรมที่น่าสงสัย และพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 เอาผิดเจ้าของบัญชีม้าและผู้ที่เป็นธุระจัดหา เพิ่มอำนาจสถาบันการเงินในการระงับการทำธุรกรรมและอายัดบัญชีเพื่อช่วยระงับความเสียหายได้ทันที พร้อมทั้งการใช้ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทุจริตระหว่างธนาคาร (Central Fraud Registry) ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีต้องสงสัยและบัญชีม้าระหว่างธนาคาร เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
ธนาคารได้มีการจัดหลักสูตรอบรมเพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้กับพนักงานทั้งในรูปแบบห้องเรียนและออนไลน์ และกำหนดให้เป็นวาระในการประชุมคณะกรรมการพนักงานของทุกสายงาน เพื่อให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องตามกฎระเบียบภายใน และเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดโดยหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร รายละเอียดการอบรมได้เน้นย้ำถึงเรื่องวินัยพนักงาน ตลอดจนทบทวนกระบวนการทางวินัย และการพิจารณาบทลงโทษให้มีความเหมาะสม สอดรับกับการประกาศใช้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่มีผลบังคับใช้ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้พนักงานปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง ป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน รวมถึงจัดหลักสูตรอบรมให้ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน การบริหารความเสี่ยง และการกำกับดูแลกิจการให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2566 ธนาคารได้จัดหลักสูตรในการอบรมให้แก่พนักงานทั้งหมด 78 หลักสูตร โดยมีรายละเอียดครอบคลุมเนื้อหา เช่น
- การบริหารจัดการความเสี่ยงจากบุคคลภายนอก
- แนวทางการตรวจสอบ เช่น การควบคุมทั่วไปทางด้าน IT การควบคุมที่เกี่ยวข้องกับ Digital ID
- การตรวจสอบการฉ้อโกง (Fraud Audit) การตรวจสอบด้านจริยธรรม (Ethical Audit)
- การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการตรวจสอบภายใน กระบวนการพิจารณาวินัยพนักงาน และกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์โทษพนักงาน
- ความรู้ความเข้าใจและการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับอาชญากรรมทางการเงิน และการสืบสวนสอบสวนคดีการเงินการธนาคาร
- การป้องกันข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงานและการทุจริตจากบุคคลภายนอก และการป้องกันการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่เข้าข่ายเป็นการคอร์รัปชัน
- การป้องกันการรับ-ให้สินบนและคอร์รัปชั่น และจรรยาบรรณธุรกิจธนาคาร
- การจัดทำรายงานผลการตรวจประเมินความพร้อมในการประกอบธุรกิจการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล
- ISO/IEC 27001: 2022 Information Security Management Systems Auditor/Lead Auditor
- การตรวจประเมินภายใน ด้านระบบบริหารความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศเบื้องต้นสำหรับผู้ตรวจสอบภายใน
- การนำกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของคุณไปปฏิบัติ (Fundamentals of responsible banking : M3)
- พรก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 และแนวปฏิบัติ
- กรอบงานบูรณาการการควบคุมภายในของ COSO และ COSO ERM สำหรับผู้ตรวจสอบภายใน
- การจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลตามมาตรฐาน ISO/IEC 27005
- แนวนโยบายการบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงิน
- การบริหารจัดการความเสี่ยงของสถาบันการเงินสมัยใหม่
- การกำกับดูแลเทคโนโลยีดิจิทัลที่ดีด้วย COBIT และแนวทางการตรวจสอบตามกระบวนการมาตรฐานของ COBI
- ผู้กำกับดูแลการปฏิบัติงานด้านธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ (Compliance Officer)
- การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (AML/CTPF)
- กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำหรับงานตรวจสอบภายใน (PDPA for Internal Audit)
นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้องมีการกำกับดูแลและตรวจสอบธนาคารในการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ และธนาคารได้จัดหน่วยงานกำกับกฎเกณฑ์และกฎหมาย ช่วยทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ตอบคำถาม ข้อหารือ สื่อสารกฎเกณฑ์ นโยบาย และระเบียบภายในธนาคาร ตลอดจนวัดผลการรับรู้ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณธุรกิจของธนาคาร และยังมีการประเมินผลพนักงานผ่านตัวชี้วัดมาตรฐานของพนักงานรายบุคคล ซึ่งจะส่งผลต่อการจ่ายผลตอบแทนพนักงาน ตามความร้ายแรงเป็นรายกรณี ในกรณีที่พนักงานที่เกี่ยวข้องกับการไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางธุรกิจ หรือการกระทำผิดกฎหมาย พนักงานจะได้รับการพิจารณาให้ได้รับโทษทางวินัย ตามระเบียบปฏิบัติงานของธนาคาร ซึ่งได้กำหนดโทษทางวินัยไว้ 6 สถาน ซึ่งเชื่อมโยงกับการจ่ายผลตอบแทน เช่น ลดเงินเดือน ระงับการขึ้นเงินเดือน ตัดเงินเดือน เป็นต้น