“เชียงของ” เดิมเคยมีฐานะเป็นเมือง แต่ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงราย คำว่า “เชียงของ” มาจากคำว่า “เชียง” ที่หมายถึงเมือง และ “ของ” ที่เพี้ยนจาก “ขร” ใน “ขรราช” ที่แปลว่า แม่น้ำโขง เนื่องจากมีพื้นที่ด้านทิศตะวันออกบางส่วนติดกับแม่น้ำโขง มีประชากรเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไม่น้อยกว่า 9 กลุ่ม เช่น ไทลื้อ ลาหู่ ขมุ มูเซอ ม้ง เย้า อีก้อ ลีซอ จีนฮ่อ นอกจากนี้ เชียงของยังมีวัดวาอารามที่งดงาม และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น วัดพระแก้วซึ่งมีความเกี่ยวพันกับพระแก้วมรกต
พื้นที่ในอำเภอเชียงของเป็นแหล่งปลูกผลไม้ขึ้นชื่อที่รู้จักกันทั้งประเทศอย่าง “สับปะรดสายพันธุ์นางแล” ที่มีรสชาติหวานฉ่ำดังน้ำผึ้ง และไม่กัดลิ้น ซึ่งเป็นความน่ามหัศจรรย์ของสับปะรดนางแล และยังสามารถนำไปประกอบอาหารรสชาติอร่อยได้หลากหลายเมนู อาทิ ข้าวผัดสับปะรด แกงเลียงสับปะรด แกงสับปะรด แกงคั่วสับปะรด ต้มข่าไก่สับปะรด




ข้าวผัดสับปะรดนางแล จากสับปะรดพันธุ์พื้นเมืองนำมาหั่นเป็นชิ้นพอดีคำปรุงเป็นอาหารคาว ผัดรวมกับข้าวสวยเรียงเม็ด และเครื่องปรุง เพิ่มคุณค่าทางอาหารด้วยเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ตามใจชอบ ใส่สับปะรดเพื่อเพิ่มรสหวานอมเปรี้ยวจากธรรมชาติ เติมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ทอดเพิ่มความกรุบกรอบ จนกลายเป็นอาหารจานเด็ด ติดอันดับความนิยม ด้วยรสชาติที่กลมกล่อมเป็นเอกลักษณ์