เรื่องเด่น

4 เทคนิคเคลียร์หนี้บัตรเครดิต เห็นผลไว ปรับใช้ได้จริง

อัพเดทวันที่ 17 ก.ย. 2563

       ในช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาดใหม่ ๆ เรียกว่าได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางการเงิน ที่บางคนโดนให้หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าแรง ลดเงินเดือน หรือรุนแรงถึงขึ้นถูกเลิกจ้างเลยทีเดียว แล้วเราจะทำอย่างไร? เมื่อรายได้หายไป แต่รายจ่ายและหนี้กลับเท่าเดิม หากใครยังคิดไม่ตกว่าจะแก้ปัญหานี้ยังไง วันนี้เรามีวิธีบริหารจัดการรายจ่ายเมื่อโดนลดเงินเดือนช่วงโควิด-19 มาฝาก แถมยังนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ได้ทุกช่วงเวลาของชีวิต เพื่อให้การใช้จ่ายของเราคุ้มค่าและฉลาดสุด ๆ

วิธีจัดการรายจ่าย เมื่อโดนลดเงินเดือนช่วงโควิดให้สามารถเคลียร์หนี้บัตรเครดิตได้

1. จัดระเบียบการใช้เงินให้ดี บัญชีรายรับ-รายจ่ายคือสิ่งสำคัญ

       ไม่ว่าที่ผ่านมาเราจะมีพฤติกรรมการใช้เงินอย่างไร แต่เมื่อวิกฤตทางการเงินมาอยู่ตรงหน้า การเปลี่ยนนิสัยเดิม ๆ และจัดระเบียบการใช้เงินเสียใหม่คือสิ่งที่จำเป็นต้องทำ โดยเริ่มจากการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างละเอียด เพื่อสำรวจเส้นทางทางการเงินของตนเองว่ามีการไหลเข้า (รายรับ) หรือไหลออก (รายจ่าย) อย่างไรบ้าง และจะได้เห็นภาพชัด ๆ ว่าสิ่งไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็นกับเราจริง ๆ

ตัวอย่างเช่น นางสาวเอมีรายได้จากงานประจำเดือนละ 25,000 บาท จ่ายค่าผ่อนบ้าน 8,000 บาท ค่าหนี้บัตรเครดิต 3,000 บาท ค่าอาหารและของใช้ในชีวิตประจำวัน 6,000 บาท ค่าเดินทาง 2,000 บาท ค่าเสื้อผ้า 1,500 บาท ค่าสังสรรค์ 2,000 บาท ค่าเก็บออม 2,500 บาท หากถูกลดเงินเดือน 25% ก็จะเหลือเพียง 18,750 บาท หนทางแก้ปัญหาที่เร็วที่สุดคือ การเคลียร์หรือลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง เช่น ค่าสังสรรค์ ค่าเสื้อผ้า ค่าอาหาร ทีนี้เราก็จะเหลือเงินมาใช้ในส่วนอื่นที่ไม่สามารถตัดออกได้แทน ข้อดีของการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายคือ ช่วยให้เราประหยัดมากขึ้น คิดถี่ถ้วนก่อนซื้อของสักชิ้นว่าสิ่งนั้นจำเป็นหรือเราแค่อยากได้กันแน่ ซึ่งทั้งหมดนี้คือการสร้างวินัยทางการเงินที่ดี และจะติดตัวเราไปตลอดชีวิตนั่นเอง

วางแผนเคลียร์หนี้บัตรเครดิตด้วยบัญชีรายรับ รายจ่ายที่ดี

2. เจรจาขอประนอมหนี้กับธนาคารหรือสถาบันการเงิน

       หากการเคลียร์หรือลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นยังไม่เพียงพอ เราต้องมาดูต่อว่ารายจ่ายที่เป็น Fixed Cost ของเรามีอะไรบ้าง เช่น ค่าผ่อนบ้าน/คอนโด ผ่อนรถ หรือการเคลียร์หนี้บัตรเครดิต ถ้าลองคำนวณดูแล้วว่ายังไงก็จ่ายไม่ไหวแน่ ๆ การเจรจาขอประนอมหนี้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินคือทางออกที่ดีที่สุด โดยแต่ละแห่งก็จะมีนโยบายที่แตกต่างกัน เช่น พักชำระหนี้ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ออกไปเพื่อให้ค่างวดลดลง หรือรีไฟแนนซ์สินเชื่อเดิมแล้วเปิดสินเชื่อใหม่ที่มีเงื่อนไขดีกว่า เป็นต้น แม้จะช่วยเลื่อนระยะเวลาการจ่ายและเคลียร์หนี้ออกไป แต่อย่าลืมศึกษาข้อมูลให้ดี ๆ เพราะบางเงื่อนไขอาจสร้างภาระหนี้สินให้เรามากกว่าเดิม

3. ปรับสัดส่วนการลงทุนให้เสี่ยงน้อยที่สุด

       สำหรับใครที่เป็นนักลงทุนตัวยง ถือครองสินทรัพย์อยู่ในมือทั้งเงินฝาก ตราสารหนี้ กองทุนรวม หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ หรืออื่น ๆ เมื่อโควิด-19 มาเยือน แน่นอนว่ามูลค่าของทรัพย์สินเหล่านั้นจะต้องลดลง ประกอบกับใครที่ถูกลดเงินเดือนยิ่งเปราะบางกว่าเดิม จะให้รับความเสี่ยงสูงแบบเดิมก็คงไม่ไหว หากกำลังประสบปัญหานี้อยู่ เราขอแนะนำให้ปรับสัดส่วนในพอร์ตของคุณให้อยู่ในเกณฑ์ความเสี่ยงที่คิดว่ารับได้แน่ ๆ ดีกว่า เช่นการขายหุ้นบางตัวที่ขาดทุนเพื่อเก็บเงินสดมาเป็นทุนสำรองยามฉุกเฉิน หรือเลือกการออมหรือลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความคล่องตัวสูงและ/หรือความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากประจำ พันธบัตรรัฐบาล กองรวมตลาดเงิน และ กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น เป็นต้น

เคลียร์และปรับสัดส่วนการลงทุนให้เสี่ยงน้อยที่สุด

4. เพิ่มช่องทางหารายได้เสริมจากสิ่งที่ถนัดหรือทำได้ดี

       ทุกวันนี้รายได้ทางเดียวอาจไม่พออีกต่อไป และในอนาคตการหารายได้ที่ 2 จะไม่ใช่ทางเลือก แต่คือทางรอด เพราะฉะนั้น การมีรายได้เสริมที่นอกเหนือจากรายได้หลัก คือหลักประกันความมั่นคงทางการเงินให้กับเราอีกทางหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันมีอาชีพต่าง ๆ ที่คนนิยมทำหลังเลิกงานหลายรูปแบบตามทักษะที่ตนเองถนัด เช่น ขายอาหาร รับเขียนบทความ รีวิวสินค้า วาดภาพ ออกแบบงานกราฟิก ตัดต่อวิดีโอ เปิดคอร์สออนไลน์ หากไม่มีต้นทุน ก็สามารถนำของที่ตนเองมีอยู่แล้วมาประกอบอาชีพเสริมได้ เช่น บริการขับรถส่งผู้โดยสาร สิ่งของ และอาหาร หรือจะนำของมือสองของตัวเองอย่างเสื้อผ้า กระเป๋า ของสะสมมาขายทางออนไลน์ เป็นต้น

ไม่ว่าจะโควิด-19 หรือสถานการณ์ไหน ๆ ที่ทำให้ความมั่นคงทางการเงินต้องสะดุดลง หากเรามีวิธีการบริหารรายจ่ายที่ดี มีช่องทางหารายได้เสริมเพื่อตนเองและครอบครัว พร้อมวางแผนทางการเงินเผื่อไปยังอนาคตนั้น แม้ปัญหาจะมาอีกกี่ครั้ง เราก็รับมือไหวแน่นอน

       นอกจากมีวินัยในการใช้จ่าย และมีการวางแผนทางการเงินที่ดีแล้ว อย่าลืมแบ่งเงินออมไว้ใช้ในอนาคต โดยการเลือกบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูง อย่างเงินฝาก Krungthai NEXT Savings รับดอกเบี้ยสูงสุด 1.50% ต่อปี* การเปิดบัญชีออนไลน์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในสถานการณ์เช่นนี้ เก็บเงินออมแบบไม่ต้องเสี่ยง เปิดบัญชีง่าย สะดวก รวดเร็ว ผ่านแอปฯ Krungthai NEXT ปลอดภัยไม่ต้องไปสาขา ตอบโจทย์ชีวิตคนรุ่นใหม่

ออมเงินหลังเคลียร์หนี้บัตรเครดิตกับ เงินฝาก Krungthai NEXT Savings