ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท ฉบับเข้าใจง่าย ครบทุกขั้นตอน
ธุรกิจที่กำลังเติบโตต้องทำอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง? การจดทะเบียนบริษัทมักเป็นคำตอบแรก ๆ ของเจ้าของธุรกิจ เพราะข้อดีของการการจดทะเบียนบริษัทคือการสร้างความน่าเชื่อถือให้ทั้งลูกค้า คู่ค้า และนักลงทุน มีโอกาสในการขยายธุรกิจ เกิดการบริหารจัดการภาษีที่ชัดเจน และเสริมสร้างความมั่นคงและขยายโอกาสในการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว
แต่หลายคนก็กังวลว่าขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทจะยุ่งยาก บทความนี้กรุงไทยจึงรวบรวมขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท ฉบับเข้าใจง่าย และครบทุกขั้นตอน เพื่อให้เจ้าของธุรกิจได้เตรียมความพร้อมด้านข้อมูลและเตรียมตัวไปจดทะเบียนบริษัทได้อย่างถูกต้อง ซึ่งการจดทะเบียนบริษัทที่เร็วที่สุดสามารถเสร็จสิ้่นได้ภายในวันเดียว!
จดทะเบียนบริษัทมีกี่ประเภท
อยากจดทะเบียนบริษัท แล้วต้องเริ่มจากอะไร? อันดับแรกเราต้องทราบก่อนว่าการจดทะเบียนธุรกิจในประเทศไทยมี 2 รูปแบบหลัก ๆ ได้แก่
- ทะเบียนพาณิชย์หรือบุคคลธรรมดา
- ทะเบียนนิติบุคคล
1. ประเภททะเบียนพาณิชย์หรือบุคคลธรรมดา
การจดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนพาณิชย์หรือบุคคลธรรมดา คือ การเปิดบริษัทที่มีเจ้าของ กิจการเพียงคนเดียว หรือมีหุ้นส่วนไม่เกิน 3 คน เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็กที่มีมูลค่าไม่สูง โดยเจ้าของธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจในนามตนเอง ไม่ต้องมีพนักงาน และไม่ต้องจัดทำบัญชีที่ซับซ้อน
- ข้อดี ขั้นตอนง่าย รวดเร็ว ค่าใช้จ่ายไม่สูง นอกจากนี้ยังทำธุรกิจได้อิสระ ได้กำไรเต็มที่ ไม่ต้องทำบัญชียื่นส่งงบ
- ข้อเสีย เจ้าของธุรกิจต้องรับผิดชอบต่อหนี้สินทั้งหมดที่อาจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือในระยะยาว เข้าถึงสินเชื่อการเงินได้ยาก รวมถึงเสียภาษีเงินได้มากกว่าการจดทะเบียนนิติบุคคล
2. ประเภททะเบียนนิติบุคคล
การจดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนนิติบุคคล คือ การเปิดบริษัทที่มีเจ้าของกิจการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เหมาะกับธุรกิจที่เติบโตในระดับหนึ่ง เช่น ธุรกิจ SME ธุรกิจขนาดกลางไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ โดยการดำเนินธุรกิจทุกอย่างจะต้องผ่านความเห็นชอบจากเจ้าของกิจการทุกคน แต่ออกมาในนามของบริษัท การจดทะเบียนบริษัทประเภทนี้ทำให้บริษัทมีตัวตนทางกฎหมายชัดเจน การดำเนินการใด ๆ จะออกมาในนามของบริษัท
- ข้อดี ภาระหนี้สินของบริษัทจะแยกจากชื่อของเจ้าของกิจการอย่างชัดเจน ภาษีเงินได้ที่ต้องเสียสูงสุดหลังหักค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 20% ซึ่งน้อยกว่าการจดทะเบียนพาณิชย์
- ข้อเสีย บริษัทจะต้องดำเนินภาระหน้าที่ชัดเจนตามกฎหมาย เช่น บัญชี งบการเงิน งบรายได้ การเสียภาษีต่าง ๆ ประกันสังคมของพนักงาน ทั้งนี้การจดทะเบียนนิติบุคคลสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทย่อย ดังนี้
1. ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามัญ
การดำเนินกิจการแบบห้างหุ้นส่วนจำกัดสามัญนิติบุคคล หมายถึง เจ้าของกิจการทุกคนมีสิทธิ์จัดการกิจการและแบ่งปันผลกำไรจากกิจการทุกคน เหมาะกับกิจการที่มีเจ้าของหรือหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
- ข้อดี หุ้นส่วนหรือเจ้าของกิจการทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันในการดำเนินกิจการ
- ข้อเสีย หุ้นส่วนทุกคนจะต้องรับผิดชอบภาระหนี้สินที่เกิดจากกิจการร่วมกันแบบไม่จำกัดจำนวน ซึ่งหมายความว่าถ้ามีหนี้สินที่ห้างหุ้นส่วนไม่สามารถชำระได้ หุ้นส่วนแต่ละคนต้องชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินส่วนตัวนั่นเอง
2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด
การดำเนินกิจการแบบห้างหุ้นส่วนจำกัด เหมาะกับกิจการที่มีเจ้าของหรือหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป การดำเนินกิจการประเภทนี้จะต้องจดทะเบียนบริษัทนิติบุคคล แต่ไม่กำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ ซึ่งจะแบ่งผู้ถือหุ้นได้เป็น 2 แบบคือ แบบจำกัดและแบบไม่จำกัด
-
หุ้นส่วนแบบจำกัด หุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิ์สอบถามการดำเนินกิจการ ออกความคิดเห็น รวมถึงเป็นที่ปรึกษาของกิจการได้
- ข้อดี หุ้นส่วนมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบหนี้สินจากกิจการแบบจำกัดไม่เกินจำนวนเงินลงทุนของตนเอง
- ข้อเสีย หุ้นส่วนไม่สามารถตัดสินใจใด ๆ ของการดำเนินกิจการและไม่สามารถใช้แรงทำงานเองได้ -
หุ้นส่วนแบบไม่จำกัด หุ้นส่วนทุกคนสามารถดำเนินกิจการและตัดสินใจทุกอย่างในกิจการได้เต็มที่ ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องมีหุ้นส่วนแบบไม่จำกัดอย่างน้อย 1 คน
- ข้อดี หุ้นส่วนสามารถตัดสินใจในการดำเนินของธุรกิจได้ทันทีและมีสิทธิสูงสุด
- ข้อเสีย หุ้นส่วนต้องรับผิดชอบหนี้สินที่เกิดจากกิจการแบบ “ไม่จำกัด” หรือจะต้องรับผิดชอบหนี้สินแบบไม่จำกัดจำนวน ซึ่งอาจมากกว่าเงินลงทุนของตนเอง หุ้นส่วนแบบไม่จำกัดต้องชำระทั้งหมด
3. บริษัทจำกัด
การดำเนินกิจการแบบบริษัทจำกัด เหมาะกับกิจการที่มีการเติบโตระดับหนึ่ง มีมูลค่าบริษัทสูง มีลักษณะการทำกิจการร่วมกัน เพื่อหากำไรร่วมกัน จะต้องจดทะเบียนนิติบุคคล เดิมต้องมีเจ้าของกิจการตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป แต่ในปัจจุบันมีข้อยกเว้นตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เป็นต้นไปไว้ว่า การจดทะเบียนบริษัทสามารถทำได้โดยมีผู้เริ่มก่อตั้ง ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
- ข้อดี กิจการมีความน่าเชื่อถือในระยะยาวและมีการบริหารที่เป็นระบบ ทั้งมีโอกาสขอสินเชื่อการเงินได้ง่าย และในส่วนของหนี้สินที่เกิดจากกิจการ หุ้นส่วนรับผิดชอบด้วยการชำระจำนวนเท่ากับเงินทุนค่าหุ้นที่จดทะเบียนไว้เท่านั้น
- ข้อเสีย การจัดตั้งและการยกเลิกกิจการอาจจะยุ่งยากกว่าการจดทะเบียนแบบอื่น ๆ และต้องจ่ายภาษี 2 ครั้งต่อปี แม้จะจ่ายภาษีถูกกว่าการจดทะเบียนแบบอื่น ๆ ก็ตาม
ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท
เมื่อทำความเข้าใจประเภทของการจดทะเบียนบริษัทแล้ว ลองมาดูขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทว่ามีขั้นตอนอย่างไร และต้องเตรียมเอกสารสำคัญอะไรบ้าง โดยสามารถศึกษาได้จากข้อมูลที่กรุงไทยรวบรวมไว้ให้ ดังนี้
1. ศึกษาข้อมูลการจดทะเบียนบริษัท
เริ่มด้วยการศึกษาข้อมูลที่ถูกต้องของการจดทะเบียนบริษัทก่อนตัดสินใจจดทะเบียนบริษัท ทั้งในเรื่องของประเภทของการจดทะเบียนมีกี่ประเภท แล้วกิจการของเราเหมาะกับการจดเทียนบริษัทประเภทใด เปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องของเอกสาร ชื่อบริษัท รวมถึงเงื่อนไขทางกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งการจดบริษัทสามารถทำได้ 1 วันก็เป็นอันเสร็จสิ้น
2. จัดเตรียมเอกสารสำหรับการจดทะเบียนบริษัท
การเตรียมเอกสารสำหรับยื่นจดทะเบียนบริษัทเป็นสิ่งสำคัญ โดยเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับบริษัทให้ใช้ลายเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องจากผู้ถือหุ้นคนใดก็ได้ 1 คน ส่วนเอกสารบัตรประจำตัวของผู้ถือหุ้นแต่ละคน ให้ลงชื่อด้วยตนเองได้เลย เอกสารที่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนไปจดทะเบียนบริษัทแบบวันเดียวที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีดังนี้
- แบบ บอจ. 1 หรือแบบคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด
- แบบคำรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัด
- แบบ บอจ. 2 หรือหนังสือบริคณห์สนธิ พร้อมชำระอากรแสตมป์ 200.-
- แบบ บอจ. 3 หรือรายการจดทะเบียนจัดตั้ง
- แบบ ว. หรือแบบวัตถุที่ประสงค์
- แบบ ก. หรือรายละเอียดกรรมการ
- ใบแจ้งผลจองชื่อนิติบุคคล (ต้องยังไม่หมดอายุ)
- หลักฐานเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- แบบ บอจ. 5 บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
- สำเนาบัญชีรายชื่อผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นหรือผู้รับมอบฉันทะในการประชุมให้ความเห็นในกิจการที่ได้ประชุมจัดตั้งบริษัทพร้อมลายมือชื่อ
- สำเนารายงานการประชุมตั้งบริษัท
- สำเนาข้อบังคับ พร้อมชำระอากรแสตมป์ 200 บาท
-
สำเนาหลักฐานการรับชำระค่าหุ้นที่บริษัทออกให้ผู้ถือหุ้น
ในกรณีที่บริษัทมีผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างด้าวที่ถือหุ้นไม่เกิน 50% หรือคนต่างด้าวไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นแต่เป็นกรรมการร่วมลงนามผูกพันกับบริษัท ต้องมีเอกสารหลักฐานแสดงฐานะการเงินของผู้ถือหุ้นคนไทยทุกคน โดยต้องเป็นเอกสารที่ทางธนาคารออกให้ นำมาประกอบคำขอจดทะเบียน โดยเอกสารจะต้องแสดงจำนวนเงินที่สอดคล้องกับเงินที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนนำมาลงทุน ซึ่งเป็นคำสั่งของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง
3. ตั้งชื่อบริษัทสำหรับการจดทะเบียนและวิธีการจองชื่อบริษัท
การจดทะเบียนบริษัทต้องมีชื่อบริษัทที่เตรียมไว้ แต่มีข้อควรระวังเพื่อป้องกันปัญหาตามมาในภายหลังจึงควรตั้งชื่อโดยหลีกเลี่ยงคำที่ทำให้เข้าใจผิด โดยไม่ใช้พระนามของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์ปัจจุบัน ไม่ใช่ชื่อประเทศ ไม่ใช้ชื่อกระทรวง ทบวง กรม ไม่ใช่ชื่อส่วนของราชการ ทั้งนี้สามารถทำการจองชื่อบริษัทได้ถึง 3 ชื่อ โดยชื่อต้องไม่ซ้ำหรือใกล้เคียงกับชื่อบริษัทที่มีอยู่แล้ว ส่วนวิธีการตรวจและจองชื่อบริษัทมี 2 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่
- สมัครสมาชิกฟรีที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
- เข้าไปที่ จองชื่อ / ตรวจทะเบียนคำขอนิติบุคคล
4. จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและยื่นต่อนายทะเบียน
ขั้นตอนการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ คือ การยื่นหนังสือแสดงความต้องการจัดตั้งบริษัทที่ต้องใช้ยื่นต่อนายทะเบียน โดยต้องยื่นภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วันหลังจากที่นายทะเบียนได้ลงชื่อบนเอกสาร โดยข้อมูลที่ต้องรายงานมีดังนี้
- ชื่อของบริษัท (ที่จองไว้)
- ข้อมูลที่ตั้งสำนักงานใหญ่/สาขา จังหวัดที่ตั้ง รหัสประจำบ้านของที่ตั้งสำนักงาน อีเมล เบอร์โทร.บริษัทและเบอร์โทร. ติดต่อกรรมการและชื่อที่อยู่เว็บไซต์ (ถ้ามี)
- วัตถุประสงค์ของบริษัท
- ทุนจดทะเบียน
- ชื่อ-ที่อยู่ อายุ สัญชาติ พยานจำนวน 2 คน
- ข้อบังคับ (ถ้ามี)
- จำนวนทุน (มูลค่าหุ้น) ที่เรียกชำระแล้ว ต้องมีจำนวนอย่างน้อยร้อยละ 25% ของทุนจดทะเบียน
- ชื่อ-ที่อยู่ อายุ กรรมการ
- รายชื่อหรือจำนวนกรรมการที่มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัท
- ชื่อ-เลขทะเบียนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตพร้อมค่าตอบแทน
- ชื่อ-ที่อยู่ สัญชาติและจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้น
5. เปิดให้มีการจองซื้อหุ้นของบริษัท และนัดประชุมผู้ถือหุ้นทั้งหมด
ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทขั้นตอนถัดมา คือ การเปิดให้จองซื้อหุ้นของบริษัท โดยให้สิทธิทุกคนสามารถเข้าซื้อหุ้นบริษัทได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจเท่านั้น โดยจะต้องซื้อขั้นต่ำจำนวน 1 หุ้นขึ้นไป และเมื่อมีการจองซื้อขายหุ้นจนครบแล้ว บริษัทต้องออกหนังสือเพื่อนัดประชุมผู้ถือหุ้นทั้งหมดอีกครั้ง
6. จัดประชุมบุคลากรที่ได้รับคัดเลือกในบริษัท เพื่อให้เข้าใจข้อมูลตรงกัน
สำหรับการจัดประชุมบุคลากรที่ได้รับการคัดเลือกในบริษัทมีเป้าหมายเพื่อให้รับทราบและเข้าใจข้อมูลสำคัญที่ตรงกัน ทั้งกฎระเบียบข้อบังคับของบริษัท การเลือกตั้งคณะกรรมการ คัดเลือกผู้สอบบัญชีเพื่อตรวจสอบรับรองงบการเงิน แจ้งเรื่องค่าตอบแทนของผู้ก่อตั้งบริษัท รวมถึงเรื่องของจำนวนหุ้นบริษัทสุทธิ
7. จัดตั้งคณะกรรมการบริษัท
ภายใน 3 เดือนหลังจากจัดประชุมบุคลากร ขั้นตอนสำคัญถัดมาคือการประชุมจัดตั้งกรรมการบริษัท เพื่อให้มีบุคคลดำเนินการจัดเก็บค่าหุ้นบริษัทจำนวน 25% ของราคาหุ้นจริงให้ครบแทนผู้ก่อตั้งบริษัท เพื่อที่จะยื่นขอจดทะเบียนบริษัท หากล่าช้ากว่ากำหนดจะต้องจัดการประชุมขึ้นใหม่
8. ชำระเงินค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนบริษัท
การยื่นจดทะเบียนบริษัทมีเงินค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระ ดังนี้
- ค่าหนังสือรับรอง รายการละ 40 บาท
- ค่ารับรองสำเนาเอกสารคำขอจดทะเบียน 50 บาท
- ค่าใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน 100 บาท
- ค่าอากรแสตมป์ 200 บาท
- ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ 500 บาท
- ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนบริษัทจำกัด 5,000 บาท
9. รับใบสำคัญและหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท
ขั้นตอนสุดท้ายของการจดทะเบียนบริษัทคือขั้นตอนการรับใบสำคัญและหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท โดยขอรับได้ที่นายทะเบียน ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ หรือสำนักงานพาณิชย์ประจำจังหวัด สำหรับใบสำคัญและหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทเป็นเอกสารสำคัญทางกฎหมายในการดำเนินธุรกิจ และหมายถึงว่าบริษัทได้ถูกก่อตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว
ช่องทางในการจดทะเบียนบริษัท
การจดทะเบียนบริษัทมีขั้นตอนการดำเนินการที่ไม่ยาก และที่สำคัญมีหลากหลายช่องทางให้เลือกในการจดทะเบียนบริษัท โดยปัจจุบันมี 3 ช่องทาง คือ จดทะเบียนบริษัทผ่านสำนักงานบัญชี จดทะเบียนบริษัทด้วยตัวเองผ่านระบบออนไลน์ และจดทะเบียนบริษัทด้วยตนเองที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
-
จดทะเบียนบริษัทผ่านการใช้บริการสำนักงานบัญชี การจดทะเบียนบริษัทผ่านสำนักงานบัญชีหรือผู้ให้บริการรับจดทะเบียนบริษัทเป็นวิธีการสะดวก เพราะได้มอบหมายให้ผู้ที่มีความชำนาญจัดการแทน
- ข้อดี สะดวกและรวดเร็ว เพราะไม่ต้องเตรียมเอกสารด้วยตัวเอง ใช้เวลาเพียง 1-3 วันหรือขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงเวลา
- ข้อเสีย มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการนอกเหนือจากค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า -
จดด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ DBD e-Registration การจดทะเบียนบริษัทด้วยตัวเองสามารถทำผ่านระบบออนไลน์ DBD e-Registration ได้ที่บ้าน
- ข้อดี ไม่เสียค่าดำเนินการและไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน
- ข้อเสีย ต้องดำเนินการด้วยตัวเองทั้งหมด โดยเฉพาะการเตรียมเอกสาร และใช้เวลารอประมาณ 3-5 วัน -
จดด้วยตนเองแบบ walk-in ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า รวดเร็วที่สุดคือวิธีการเดินทางไปจดทะเบียนบริษัทด้วยตัวเองที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
- ข้อดี ดำเนินการได้รวดเร็วภายใน 1 วันและไม่ต้องเสียค่าดำเนินการ
- ข้อเสีย ต้องเดินทางไปดำเนินการด้วยตัวเอง
หลังจากเตรียมตัวขยายโอกาสให้ธุรกิจของตัวเองที่กำลังเติบโตด้วยการจดทะเบียนบริษัทแล้ว และกำลังมองหาผู้ช่วยบริหารเรื่องการเงินเพื่อสร้างความคล่องตัวให้กับบริษัทมากขึ้น เพราะรายละเอียดการดำเนินการในบริษัทยังมีอีกมากมาย ทั้งการจ่ายเงินเดือนพนักงาน การจ่ายภาษี หรือการโอนเงินไปต่างประเทศ
เติมความสมบูรณ์แบบให้ระบบการจัดการด้านการเงิน ด้วยการเลือกใช้บริการของ Krungthai BUSINESS ง่าย ครบ จบ ทุกเรื่องการเงินบริษัท ในแอปเดียว ให้การจัดการธุรกรรมทางการเงินเป็นเรื่องง่ายและปลอดภัยยิ่งขึ้น อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://krungthai.com/th