เรื่องเด่น

ห้างหุ้นส่วน คืออะไร? รวมทุกสิ่งที่ต้องรู้ก่อนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน

อัปเดตวันที่ 23 พ.ย. 2567

ความสำคัญของการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน

อีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญที่นักธุรกิจมือใหม่ควรพิจารณาคือการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน เพราะการจดทะเบียนห้างหุ่นส่วนมีส่วนช่วยให้ธุรกิจมีความมั่นคงและพร้อมที่จะขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต แต่สำหรับเจ้าของกิจการที่อยู่ในขั้นตอนการศึกษาข้อมูลเรื่องของห้างหุ้นส่วน กรุงไทยได้รวบรวมข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน รวมถึงสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน เพื่อประกอบการตัดสินใจและลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต


ห้างหุ้นส่วนคืออะไร

ห้างหุ้นส่วน คือ การที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงดำเนินธุรกิจการค้าร่วมกันเพื่อแสวงหากำไรและแบ่งผลกำไรจากการดำเนินกิจการ โดยผู้ถือหุ้นทุกคนสามารถจัดสรรและตกลงกันตั้งแต่ต้นว่าจะลงทุนด้วยเงิน ทรัพย์สิน แรงงาน หรือสิ่งอื่นก็ได้แล้วแต่จะตกลงกัน และต้องคำนวณหุ้นที่เป็นสินทรัพย์และแรงงานให้เป็นจำนวนเงิน


ห้างหุ้นส่วนแบ่งเป็นกี่ประเภท


ห้างหุ้นส่วน คืออะไร ที่นี่มีคำตอบ


สำหรับห้างหุ้นส่วนเป็นรูปแบบองค์กรธุรกิจหนึ่งที่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีทั้งหมด 2 ประเภท คือ ห้างหุ้นส่วนสามัญ และห้างหุ้นส่วนจำกัด


1. ห้างหุ้นส่วนสามัญ

ห้างหุ้นส่วนสามัญ คือ ห้างหุ้นส่วนประเภท “หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดชอบ” หมายถึงหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดชอบหนี้สินทั้งหมดที่เกิดขึ้นของห้างหุ้นส่วน โดยไม่มีจำกัด ไม่ว่าสัดส่วนหุ้นที่ลงไปจะมากหรือน้อยเท่าใด โดยห้างหุ้นส่วนสามัญจะทำการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือไม่ก็ได้ และห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายจะเรียกว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล


2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด

ห้างหุ้นส่วนจำกัด คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัดคือการที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมกันลงทุนและดำเนินกิจการ แล้วแบ่งผลกำไรที่ได้จากการดำเนินกิจการนั้น โดยต้องมีการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย สามารถแบ่งลักษณะของผู้ถือหุ้นเป็น 2 รูปแบบคือ

2.1 หุ้นส่วนแบบจำกัดความรับผิด คือ หุ้นส่วนรับผิดจำกัดตามเงินลงทุนที่ได้ลงหุ้นไปเท่านั้น หุ้นส่วนประเภทนี้ มีสิทธิ์ในการส่งคำถาม ออกความเห็น หรือเป็นที่ปรึกษาของกิจการได้ แต่ไม่มีสิทธิ์ในการเข้าบริหารจัดการหรือตัดสินใจใดๆ และการลงหุ้นจะลงเป็นแรงงานไม่ได้

2.2 หุ้นส่วนแบบไม่จำกัดความรับผิด คือ เป็นหุ้นส่วนประเภทที่รับผิดชอบหนี้สินที่เกิดขึ้นทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน อาจมากกว่าสัดส่วนเงินลงทุนก็ได้ หุ้นส่วนประเภทนี้มีสิทธิ์เข้าจัดการงานและตัดสินใจในกิจการของห้างหุ้นส่วนได้อย่างเต็มที่ โดยในการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด กฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องมีหุ้นส่วนแบบไม่จำกัดความรับผิดชอบอย่างน้อย 1 คน ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ


ห้างหุ้นส่วนสามารถจดคนเดียวได้หรือไม่

คำตอบ คือ ไม่ได้ เพราะปัจจุบันกิจการที่มีหุ้นส่วนเพียงคนเดียวยังไม่สามารถจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนได้ตามกฎหมาย แม้ว่าการทำธุรกิจแบบจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนคนเดียวจะมีข้อดีในหลายด้านก็ตาม เนื่องจากหากเกิดเหตุในกรณีที่ไม่คาดฝัน หรือธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จจนต้องเลิกกิจการ เมื่อต้องชำระบัญชี ผู้เป็นเจ้าของต้องรับผิดชอบต่อหนี้สินทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนคนเดียวแม้จะมีข้อดีในหลายด้าน เช่น การดำเนินธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว เพราะไม่ต้องปรึกษาหรือรอการตัดสินใจ เลี่ยงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ก็มีผลต่อการขยายธุรกิจในอนาคตและพบกับค่าใช้จ่ายที่สูงที่ตามมาได้


ห้างหุ้นส่วนมีหน้าที่อะไรบ้าง

การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนที่สำเร็จแล้ว กิจการต้องมีการจัดทำบัญชีตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการบัญชี ปี 2543 ซึ่งระบุว่าห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน บริษัทจำกัด บริษัทมหาชน เป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี และต้องจัดให้มีการทำบัญชีสำหรับการประกอบธุรกิจ โดยมีรายละเอียดและวิธีการปฏิบัติดังนี้


จัดทำบัญชีรายวัน บัญชีแยกประเภท บัญชีสินค้าและบัญชีประเภทอื่นๆ

ห้างหุ้นส่วนต้องจัดทำบัญชีรายวัน บัญชีแยกประเภท บัญชีสินค้าและบัญชีประเภทอื่น ๆ โดยให้เริ่มทำนับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนห้างหุ้นส่วนตามกฎหมาย หากไม่ดำเนินการตามนี้จะมีความผิดโดยปรับไม่เกิน 30,000 บาท และปรับรายวันอีกไม่เกินวันละ 1,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติได้ถูกต้อง ทั้งห้างหุ้นส่วนและห้างหุ้นส่วนผู้จัดการ


มีผู้ทำบัญชีในการจัดทำบัญชีของห้างหุ้นส่วน

ห้างหุ้นส่วนต้องจัดให้มีผู้ทำบัญชีที่มีคุณสมบัติในการจัดทำบัญชีการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีในสาขาบัญชีหรือเทียบเท่า ยกเว้น กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีสินทรัพย์หรือรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท สามารถใช้ผู้จบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงที่ได้รับการรับรอง ซึ่งห้างหุ้นส่วนต้องควบคุมดูแลให้การทำบัญชีตรงต่อความเป็นจริงและมีมาตรฐาน ห้างหุ้นส่วนที่ไม่มีผู้จัดทำบัญชีตามที่กำหนดนี้จะมีความผิดโดยปรับไม่เกิน 10,000 บาททั้งห้างหุ้นส่วนและห้างหุ้นส่วนผู้จัดการ


ส่งมอบเอกสารที่ใช้ลงบันทึกบัญชี

ห้างหุ้นส่วนต้องมีการส่งมอบเอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานประกอบการทำบัญชี เช่น หนังสือ เอกสาร บันทึก ให้แก่ผู้ทำบัญชี เพื่อให้ผู้จัดทำบัญชีสามารถแสดงผลการดำเนินการ ฐานะทางการเงินหรือการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเงินที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริงและตามมาตรฐานการบัญชี หากไม่ดำเนินการตามนี้ ห้างหุ้นส่วนและห้างหุ้นส่วนผู้จัดการจะโดนเรียกปรับ ไม่เกิน 10,000 บาท


ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วน


ปิดบัญชีครั้งแรกภายใน 12 เดือน

ห้างหุ้นส่วนต้องทำการปิดบัญชีครั้งแรกภายใน 12 เดือนนับจากวันเริ่มทำบัญชี และปิดบัญชีทุก 12 เดือน นับตั้งแต่วันที่ปิดบัญชีครั้งก่อนหน้านี้ เว้นแต่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนรอบการปีบัญชี จากสารวัตรบัญชีหรือสารวัตรใหญ่บัญชี อาจปิดก่อนรอบ 12 เดือนก็ได้ หากไม่ดำเนินการดังกล่าวนี้ห้างหุ้นส่วนและห้างหุ้นส่วนผู้จัดการจะโดนเรียกปรับเงิน ไม่เกิน 10,000 บาท


จัดทำงบการเงิน

ห้างหุ้นส่วนต้องดำเนินการจัดทำงบการเงิน ได้แก่ งบแสดงฐานะทางการเงิน งบกำไรขาดทุน หมายเหตุประกอบงบการเงิน และงบการเงินเปรียบเทียบกับปีก่อน และยื่นงบการเงินต่อสำนักงานกลางบัญชี หรือสำนักงานบัญชีประจำท้องถิ่น ภายใน 5 เดือนนับแต่วันปิดบัญชี หากไม่ปฏิบัติตาม ห้างหุ้นส่วนและห้างหุ้นส่วนผู้จัดการจะโดนเรียกปรับ ไม่เกิน 50,000 บาท


ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและแสดงความเห็นในงบการเงิน

ห้างหุ้นส่วนต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตและแสดงความเห็นในงบการเงิน ยกเว้นห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีทรัพย์สินและรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทไม่ต้องมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและแสดงความเห็นในงบการเงินก็ได้ เมื่อผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและแสดงความเห็นในงบการเงินแล้ว ให้นำส่งงบการเงินผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายใน 5 เดือน นับแต่วันปิดบัญชี หากไม่ดำเนินการตามนี้ ห้างหุ้นส่วนและห้างหุ้นส่วนผู้จัดการจะโดนเรียกปรับ ไม่เกิน 20,000 บาท


เก็บรักษาเอกสารที่ลงบัญชีไว้ที่สำนักงานใหญ่

ห้างหุ้นส่วนต้องเก็บรักษาบัญชีและเอกสารที่ใช้ประกอบการลงบัญชีไว้ที่สำนักงานใหญ่ ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานหลักหรือเป็นสถานที่การผลิตหรือเก็บสินค้า ยกเว้นจะได้รับการอนุญาตจากสารวัตรบัญชีหรือสารวัตรใหญ่บัญชีให้เก็บไว้ยังสถานที่อื่นได้ โดยต้องเก็บเอกสารไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ปิดบัญชี หากเกิดการสูญหายต้องรีบแจ้งสารวัตรบัญชีภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ทราบว่าสูญหาย หากไม่ดำเนินการดังกล่าวนี้ ห้างหุ้นส่วนและห้างหุ้นส่วนผู้จัดการจะโดนเรียกปรับ ไม่เกิน 5,000 บาท


การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน

สำหรับการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนสามารถยื่นเรื่องขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนได้หลายวิธี ได้แก่ การยื่นเอกสารต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วยตนเอง หรือยื่นเอกสารผ่านทางระบบออนไลน์ สิ่งสำคัญคือการจัดเตรียมข้อมูลและเอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนให้ครบถ้วน เช่น

  • เตรียมชื่อจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน โดยต้องตรวจสอบว่าชื่อนี้ไม่ซ้ำกับที่อื่น
  • วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกิจการ
  • สถานที่ตั้งของกิจการ
  • รายละเอียดของผู้ถือหุ้นทุกคน
  • สิ่งที่นำมาลงเป็นหุ้นโดยต้องระบุด้วยว่ามีมูลค่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด
  • การแบ่งส่วนผลกำไร การแต่งตั้งหุ้นส่วนผู้จัดการ

เมื่อจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนแล้ว ทั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล และห้างหุ้นส่วนจำกัดจะมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย และได้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร

ข้อพิจารณาในการจัดตั้งห้างหุ้นส่วน

  • การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนมีเรื่องให้ตัดสินใจค่อนข้างมาก เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจและลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต กรุงไทยขอแนะนำข้อพิจารณาในการจัดตั้ง ดังนี้
  • ควรเลือกหุ้นส่วนที่เข้ากันได้ มีความรู้ ทักษะ ความสามารถที่เสริมกันในด้านต่าง ๆ ของธุรกิจ ที่สำคัญคือน่าไว้วางใจ
  • ควรกำหนดวิธีการแบ่งปันผลกำไรและการรับผิดชอบต่อการขาดทุนอย่างชัดเจน
  • ควรพิจารณาแหล่งเงินทุนและการลงทุนที่เพียงพอต่อการทำธุรกิจ ทั้งนี้ควรควบคุมต้นทุนเพื่อรักษาสถานะทางการเงินที่ดี
  • ควรศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องและทำความเข้าใจเรื่องข้อกำหนดทางภาษีที่ห้างหุ้นส่วนต้องปฏิบัติ รวมถึงวิธีการยื่นภาษีและการจัดทำบัญชี
  • ควรบริหารความเสี่ยง ที่งการทำประกันภัยและกำหนดแผนสำรองเพื่อรับมือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว

สำหรับนักธุรกิจมือใหม่ที่พร้อมแล้วสำหรับการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและต้องการผู้ช่วยการเงินที่เชื่อถือได้และมีความเชี่ยวชาญ สามารถเลือกใช้บริการ Krungthai BUSINESS เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและหาโอกาสขยายธุรกิจ ด้วยบริการที่ทำให้การจัดการการเงินเป็นเรื่องง่ายและมีประสิทธิภาพด้วยข้อดีดังนี้

  • ใช้งานได้ทุกอุปกรณ์ เชื่อมโยงข้อมูลแบบเรียลไทม์
  • โอน รับ จ่าย ได้สบาย
  • จ่ายเงินเดือนพนักงานง่าย
  • โอนต่างประเทศ 19 สกุลเงิน ติดตามสถานะได้ทันที
  • ประหยัดเวลา ขอออกหนังสือค้ำประกันได้ทั้งแบบกระดาษ (LG) และแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-LG)
  • จัดการวงเงินสินเชื่อง่าย
  • บริหารเงินบริษัทในเครือได้จากแอปเดียว

ให้ธุรกิจของคุณเติบโตอย่างมั่นคง อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.krungthai.com

ห้างหุ้นส่วนคืออะไร ทุกสิ่งที่ต้องรู้ก่อนจดทะเบียน | ธนาคารกรุงไทย ขั้นตอนสำคัญสำหรับนักธุรกิจมือใหม่คือการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน ที่จะช่วยให้ธุรกิจมั่นคง พร้อมจะขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต