เรื่องเด่น

15 วิธีแก้เผ็ดทวงเงินคนที่ยืมแล้วไม่คืน พร้อมวิธีปฏิเสธคนยืมเงิน

อัปเดตวันที่ 23 พ.ย. 2567

วิธีทวงเงินเพื่อนที่ยืมแล้วไม่คืน และวิธีปฏิเสธการขอยืมเงิน

ปัญหาเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการให้ยืมเงิน ที่บางครั้งก็กลายเป็นปัญหาเมื่อผู้ยืมไม่ยอมคืนเงินตามที่สัญญาไว้ พอทวงเงินทีไรก็ติดต่อกลับไม่ได้ เพื่อแก้ไขปัญหานี้และหลีกเลี่ยงการให้ยืมเงินที่อาจกลายเป็นเรื่องยุ่งยากในอนาคต นี่คือ 15 วิธีแก้เผ็ดคนที่ยืมเงินแล้วไม่คืน รวมถึง วิธีทวงเงินเพื่อน อย่างสุภาพ และเทคนิคการปฏิเสธคนขอยืมเงินแบบไม่ให้เสียความสัมพันธ์ แต่ยังได้เงินของคุณคืน


วิธีทวงเงินจากคนที่ยืมเงินแล้วไม่คืน

การทวงเงินจากคนที่ยืมเงินแล้วไม่คืน เป็นเรื่องที่อาจทำให้เกิดความอึดอัดใจและความไม่สบายใจทั้งสองฝ่าย แต่หากใช้วิธีการที่เหมาะสมและมีความสุภาพในการทวง ก็จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น และนี่คือวิธีทวงเงินเพื่อน ทวงเงินจากคนที่ยืมเงินแล้วไม่คืนอย่างมีสติ สุภาพ และสร้างความเข้าใจร่วมกัน


1. มีสติ

การทวงเงินด้วยอารมณ์โกรธหรือใช้น้ำเสียงรุนแรงจะทำให้สถานการณ์แย่ลง อาจทำให้เพื่อนรู้สึกถูกกดดันและไม่อยากคืนเงิน ดังนั้นการควบคุมอารมณ์และมีสติเป็นสิ่งสำคัญมาก และควรวางแผนว่าจะทวงอย่างไรให้ดูน่าเกรงใจไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง หรือทำลายความสัมพันธ์ที่ดี


2. ไม่ทวงเงินต่อหน้าคนอื่น

การทวงหนี้ควรทำในสถานที่ที่เป็นส่วนตัว และควรเป็นเรื่องที่คุยกันระหว่างสองคน ไม่ควรนำบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม


3. สอบถามถึงปัญหา และให้เวลาเพื่อนในการหาเงินมาคืน

แทนที่จะใช้การกดดัน ให้ลองสอบถามถึงปัญหาของผู้ยืมก่อนว่าทำไมถึงยังไม่สามารถคืนเงินได้ การแสดงความเข้าใจในปัญหาของผู้ยืมอาจช่วยให้การทวงหนี้เป็นไปอย่างราบรื่น อาจจะลองถามเพื่อนอย่างสุภาพเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเงิน เช่น "ช่วงนี้มีปัญหาหรือเปล่า ทำไมยังไม่สามารถคืนเงินได้" การถามอย่างเปิดเผยจะช่วยให้คุณได้รับข้อมูลและเข้าใจสถานการณ์ดีขึ้น หากผู้ยืมประสบปัญหาจริงๆ คุณอาจพิจารณาให้เวลาหรือเสนอแผนการผ่อนชำระ เช่น ให้แบ่งจ่ายเป็นงวดหรือกำหนดเวลาคืนเงินที่ยืดหยุ่นขึ้น


4. ให้เกียรติลูกหนี้ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

การให้เกียรติและรักษาความสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญ แม้จะมีปัญหาเรื่องการคืนเงิน คุณควรให้เกียรติผู้ยืมทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่ควรพูดถึงปัญหานี้กับบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง รักษาความสุภาพแม้จะมีความไม่พอใจ


5. เปิดอกพูดคุยถึงปัญหาด้วยกัน

การสื่อสารแบบเปิดเผยและตรงไปตรงมา เป็นวิธีที่ดีในการแก้ปัญหาการยืมเงิน ลองพูดคุยกับผู้ยืมโดยเปิดอกเกี่ยวกับความกังวลของคุณ เช่น "ฉันเข้าใจว่าเธออาจจะมีปัญหา แต่ฉันก็ต้องการใช้เงินในช่วงนี้เช่นกัน เราสามารถหาทางออกด้วยกันได้ไหม?"


6. ทำให้เพื่อนเกิดความรู้สึกเห็นใจ

ทวงเงินเพื่อน ด้วยการพูดคุยอย่างความจริงใจและเน้นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันจะทำให้เพื่อนรู้สึกว่าคุณไม่ได้ทวงเงินเพื่อกดดัน แต่เพื่อรักษาความสัมพันธ์


7. ให้บุคคลที่สามช่วยเจรจา

หากการทวงเงินด้วยตัวเองไม่เป็นผล ลองใช้บุคคลที่สาม เช่น เพื่อนร่วมกลุ่มที่ผู้ยืมเคารพหรือเชื่อถือ อาจขอให้บุคคลนั้นช่วยเจรจาหรือเตือนถึงการคืนเงิน การให้บุคคลที่สามเข้ามาช่วยพูดคุย อาจสร้างแรงกดดันเชิงบวก ทำให้ผู้ยืมรู้สึกว่าควรคืนเงินเพื่อไม่ให้เสียหน้าในกลุ่มเพื่อน


8. ยื่นข้อเสนอในการชำระหนี้

หากผู้ยืมไม่สามารถคืนเงินทั้งหมดในทันที คุณสามารถยื่นข้อเสนอให้ผู้ยืมผ่อนจ่ายหรือคืนเงินเป็นงวดๆ ได้ แทนที่จะทวงเงินก้อนใหญ่ในครั้งเดียว คุณอาจเสนอให้ผู้ยืมผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ตามความสามารถ หรือถ้าผู้ยืมมีสถานการณ์ทางการเงินที่ไม่แน่นอน คุณอาจยื่นข้อเสนอใหม่ที่ยืดหยุ่นขึ้น เพื่อให้เขามีโอกาสคืนเงินโดยไม่รู้สึกกดดันจนเกินไป


9. ใช้กฎหมายช่วยหรือทำหนังสือสัญญา

หากการทวงเงินด้วยวิธีการส่วนตัวไม่สำเร็จ คุณอาจต้องใช้กฎหมายเข้าช่วย หรือทำหนังสือสัญญาที่เป็นทางการเพื่อรักษาสิทธิ์ของคุณ



วิธีปฏิเสธการถูกยืมเงิน แบบไม่ต้องพูดว่าไม่ให้ยืม

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราได้ยินประโยคที่ว่า "ยืมเงินสักหน่อยได้ไหม?" แล้วจะพูดปฏิเสธอย่างไรไม่ให้ความสัมพันธ์สั่นคลอน เพราะตัวเราเองก็ลำบาก การหาวิธีปฏิเสธที่สุภาพและเหมาะสม เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีไว้ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ หากมีใครมาขอยืมเงินคุณ นี่คือวิธีปฏิเสธการถูกยืมเงิน โดยไม่ต้องพูดคำว่า "ไม่ให้ยืม" แต่ยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน พี่น้อง หรือคนรู้จัก ทั้งหมด 15 วิธีด้วยกัน

  • พูดตรงๆ เลยว่าไม่ให้เพราะอะไร : วิธีนี้ตรงไปตรงมา แต่ควรเลือกใช้คำพูดที่สุภาพ เช่น "ตอนนี้สถานการณ์ทางการเงินของฉันค่อนข้างตึงตัวน่ะ"
  • ที่ให้ยืมไม่ได้ เพราะมีเรื่องจำเป็นที่ต้องใช้อยู่เหมือนกัน : อ้างถึงสถานการณ์ทางการเงินของคุณเองเป็นวิธีที่สุภาพ คุณสามารถบอกได้ว่าคุณมีค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบอยู่ หรือมีแผนการใช้เงินสำหรับเรื่องสำคัญในอนาคต
  • ยืมมายืมกลับ : ถัดจากข้อข้างบน แต่เปลี่ยนสถานะเป็นรับบทคนยืมซะเอง
  • เพิ่งให้คนอื่นยืมไปก่อนหน้านี้ : คุณสามารถใช้เหตุผลนี้เป็นข้ออ้างได้ เพราะการให้ยืมเงินมากเกินไปอาจทำให้คุณเสี่ยงที่จะประสบปัญหาทางการเงินเสียเอง
  • ขอเวลาคิดระยะยาว (มาก) : เป็นวิธีที่หลีกเลี่ยงการให้ยืมเงินในทันที โดยไม่ต้องปฏิเสธตรง ๆ แต่อาจทำให้ผู้ขอล้มเลิกความตั้งใจเองในภายหลัง
  • สวมบทคนจู้จี้ถามซอกแซก : บางครั้งการถามคำถามที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับเหตุผลที่เพื่อนต้องการยืมเงินจะช่วยทำให้ผู้ขอรู้สึกไม่สบายใจหรือคิดใหม่เกี่ยวกับการขอยืม เช่น เธอเอาเงินไปทำอะไรเหรอ? แล้ววางแผนจะคืนเงินยังไง?
  • บอกให้ชัดว่าไม่ให้ เพราะเคยมีประสบการณ์น่าผิดหวัง : วิธีนี้คุณสามารถใช้ประสบการณ์ที่เคยถูกยืมเงินในอดีตมาเป็นเหตุผลในการปฏิเสธได้ โดยการอธิบายว่าคุณเคยเจอปัญหาจากการให้ยืมเงินมาก่อน
  • ช่วยเหลือแบบอื่น หรือหาต้นเหตุของหนี้ : หากคุณไม่สะดวกใจที่จะให้คนยืมเงิน ให้ลองแนะนำให้คนๆ นั้นมากู้สินเชื่อส่วนบุคคลกับสถาบันการเงินดีกว่า เช่น สินเชื่อกรุงไทย Smart Money ไม่ต้องมีหลักประกัน หรือคนค้ำประกัน กู้ได้ทั้งพนักงานประจำ และผู้ประกอบการรายย่อยเลยนะ
  • อย่าเปิดตัวเลขทางการเงินให้คนอื่นรู้ : การรักษาความเป็นส่วนตัวในเรื่องการเงินเป็นทางเลือกที่ดี ยกตัวอย่างเช่น ฉันขอโทษนะ แต่ฉันไม่ชอบพูดถึงเรื่องการเงินส่วนตัว แต่ตอนนี้ฉันไม่สะดวกให้ยืมเลย
  • นำเงินไปลงทุนสำหรับวางแผนเกษียณไปหมดแล้ว : เชื่อเถอะ คงไม่มีใครมาตื้อให้เราถอนเงินลงทุนออกมาเพื่อให้ยืมหรอก จะลงทุนในหุ้น กองทุน อะไรก็ว่าไป
  • ไม่ตอบรับใด ๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น : เคยได้ยินประโยคที่ว่า ความเฉยชาคือการบอกลาโดยไม่ต้องออกเสียงใดหรือไม่ เรื่องนี้ก็เช่นกัน การที่เราไม่ตอบรับใด ๆ จากทุกช่องทาง ก็น่าจะพอดูออกแล้วล่ะว่านี่คือการปฏิเสธ ซึ่งถ้าใครใช้วิธีนี้อาจจะต้องใจแข็งนิดนึงนะ
  • เปลี่ยนเรื่องคุย : หากรู้สึกอึดอัด ลองเปลี่ยนเรื่องคุยไปเรื่องอื่นแทน
  • ช่วยเหลือแบบอื่น : แทนที่จะให้ยืมเงิน อาจเสนอความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น เช่น ช่วยหาข้อมูล ช่วยทำงาน หรือให้คำปรึกษา
  • ให้ความเห็นใจแต่ไม่ให้ยืม : แสดงความเข้าใจและเห็นใจ แต่ไม่สามารถช่วยได้ เช่น "ฉันเข้าใจสถานการณ์ของเธอจริงๆ แต่ช่วงนี้ฉันเองก็ไม่สะดวกเหมือนกัน"
  • บอกว่ามีหนี้สินต้องจัดการ : บอกว่าคุณมีหนี้สินที่ต้องชำระและยังไม่สามารถให้ยืมได้ เช่น "ฉันเองก็มีหนี้ต้องผ่อนชำระอยู่ เลยไม่สะดวกในตอนนี้"

ทั้งหมดนี้คือ วิธีปฏิเสธการถูกยืมเงิน แบบไม่ต้องพูดว่าไม่ให้ยืม บางวิธีก็จะดูตรงไปตรงมา หรือบางวิธีก็ตัดบทไปเลย หากคุณกำลังตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ลองนำไปใช้ดูนะ



เคล็ดลับป้องกันและรับมือไม่ให้โดนโกง

การป้องกันและรับมือกับการโดนโกงจากการให้ยืมเงินเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ เพราะการให้ยืมเงินโดยไม่มีการวางแผนหรือป้องกันที่ดี อาจทำให้เกิดปัญหาทางการเงินที่อาจจะรวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ยืมและผู้ให้ยืมได้ และนี่คือ 3 วิธีในการรับมือไม่ให้โดนโกง


1.ปฏิเสธการให้ยืมแบบไม่ให้เสียน้ำใจ

การปฏิเสธการให้ยืมเงินเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก โดยเฉพาะหากผู้ยืมเป็นเพื่อนสนิทหรือญาติที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม นี่คือวิธีปฏิเสธแบบไม่ให้เสียความรู้สึก และยังเป็นการช่วยรักษาความสัมพันธ์ เช่น

  • อ้างถึงสถานการณ์ทางการเงินของตนเอง คุณอาจบอกว่าตนเองมีภาระค่าใช้จ่ายหรือแผนการเก็บเงินสำหรับสิ่งสำคัญบางอย่าง เช่น "ตอนนี้ฉันกำลังเก็บเงินเพื่อใช้ในการซ่อมบ้าน/ซื้อตั๋วเครื่องบินไปต่างประเทศ ดังนั้นจึงไม่สะดวกให้ยืม"
  • เสนอวิธีช่วยเหลืออื่นแทน คุณอาจเสนอตัวช่วยเหลือด้วยวิธีอื่น เช่น การแนะนำวิธีบริหารจัดการการเงิน หรือแนะนำแหล่งเงินกู้ที่ถูกกฎหมาย เช่น "ฉันไม่สามารถให้ยืมเงินได้ แต่ถ้าเธอต้องการคำแนะนำเรื่องจัดการการเงิน ฉันยินดีช่วย"

2.ทำหนังสือสัญญา

หากคุณตัดสินใจให้ยืมเงินเพื่อช่วยเหลือเพื่อนหรือคนรู้จัก การทำ หนังสือสัญญา เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงการโดนโกงและเพิ่มความชัดเจนในข้อตกลงทั้งสองฝ่าย โดยในหนังสือสัญญาควรมีรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ให้ยืม วันที่เริ่มยืม วันคืนเงิน และเงื่อนไขอื่นๆ เช่น ดอกเบี้ย หรือการผ่อนจ่าย ทั้งนี้เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเพิ่มความมั่นใจและความเป็นทางการ ควรให้ผู้ยืมเซ็นชื่อในหนังสือสัญญา และถ้ามีคนที่เป็นพยานเชื่อถือได้ เซ็นชื่อพยานไว้ด้วย จะทำให้สัญญานี้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น


3.ต้องมีหลักประกัน

หลักประกันเป็นสิ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียเงิน หากผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ หลักประกันอาจเป็นทรัพย์สินต่างๆ เช่น ที่ดิน บ้าน รถยนต์ หรือทองคำ โดยมูลค่าของหลักประกัน ควรมีมูลค่าใกล้เคียงกับจำนวนเงินที่ให้ยืม รวมถึงควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้กู้เป็นเจ้าของหลักประกันนั้นจริง ๆ และควรมีการทำสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ชั่วคราว เพื่อเป็นหลักฐาน


ทั้งหมดนี้คือ วิธีแก้เผ็ดคนที่ยืมเงินแล้วไม่คืน ที่หยิบมาแนะนำ สำหรับใครก็ตามที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์นี้ ต้องบอกว่า เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน การทวงเงินด้วยวิธีที่เหมาะสม ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยรักษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณ และคนรอบข้างได้อย่างดี


สำหรับใครก็ตามที่ไม่อยากมีปัญหาเรื่องการเงิน ไม่อยากยืมเงินใคร กรุงไทยขอแนะนำ สินเชื่อส่วนบุคคลกรุงไทย Smart Money ดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติไว ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน กู้ได้ทั้งพนักงานประจำ และผู้ประกอบการรายย่อย วงเงินสูงสุด 5 เท่าของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท เพียงมีรายได้ 30,000 บาท ขึ้นไป สนใจสมัครสินเชื่อ หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่


กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว อัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 20% - 24% ต่อปี | วงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท สำหรับพนักงานประจำ และ 500,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย | เงื่อนไขและหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

15 วิธีแก้เผ็ดคนที่ยืมแล้วไม่คืนและวิธีปฏิเสธคนยืมเงิน | ธนาคารกรุงไทย เงินทองเป็นสิ่งละเอียดอ่อน การให้ยืมเงินอาจทำให้เกิดปัญหาได้ บทความนี้จะสอนวิธีทวงเงินคนที่ยืมเงินแล้วไม่คืน และการปฏิเสธคนยืมเงิน