วิธีคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต คิดอย่างไร? รู้ทันก่อนสร้างหนี้ให้ตัวเอง
ปัจจุบันการซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการต่างๆ มีความสะดวกสบายและรวดเร็วมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ส่วนหนึ่งเพราะบัตรเครดิตเข้าถึงผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ บัตรเครดิตถ้าเราใช้อย่างถูกวิธีนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกแบบที่ไม่ต้องสำรองเงินสดจ่ายไปก่อนแล้วยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายที่ทางธนาคารผู้ออกบัตรมอบให้แก่ผู้ถือบัตร แต่กลับกันหากใช้โดยขาดความเข้าใจ ก็อาจนำไปสู่หนี้สินได้ หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องราวของผู้ที่ประสบปัญหาจากการใช้บัตรเครดิต จนต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยมหาศาล ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากความไม่เข้าใจในวิธีการคิดดอกเบี้ยและเงื่อนไขต่างๆ ของบัตรเครดิต
การทำความเข้าใจเรื่องวิธีคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากจะช่วยให้เราสามารถวางแผนการใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการป้องกันไม่ให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่อาจพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นภาระทางการเงินในระยะยาว บทความนี้จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับวิธีการคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต ทั้งอัตราดอกเบี้ย วิธีการคำนวณ และปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อจำนวนดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย เพื่อให้สามารถใช้บัตรเครดิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้
บัตรเครดิต คืออะไร
บัตรเครดิตเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยธนาคารและสถาบันการเงินออกบัตรเครดิตเพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้จ่ายประจำวันให้แก่ลูกค้าเพื่อใช้แทนเงินสดในการชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ การใช้บัตรเครดิตมาพร้อมสิทธิประโยชน์มากมาย เช่น คะแนนสะสม โปรโมชั่นผ่อน 0% และเครดิตเงินคืน ซึ่งอาจคุ้มค่ากว่าการจ่ายด้วยเงินสด
อย่างไรก็ตาม ผู้ถือบัตรควรเข้าใจวิธีคิดคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิต ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการชำระเงินไม่เต็มจำนวน ชำระล่าช้า หรือการเบิกเงินสดล่วงหน้า เพื่อให้ใช้บัตรเครดิตได้อย่างชาญฉลาดและไม่เป็นภาระ ผู้ถือบัตรควรศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดดอกเบี้ยและวิธีคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิตอย่างละเอียด ซึ่งจะช่วยให้ใช้บัตรเครดิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
ดอกเบี้ยบัตรเครดิต คืออะไร
ดอกเบี้ยบัตรเครดิต คือ อัตราดอกเบี้ยในการใช้บริการสินเชื่อที่ผู้ถือบัตรเครดิตมีหน้าที่ต้องชำระให้กับสถาบันการเงินผู้ออกบัตรเครดิตในกรณีที่ชำระขั้นต่ำหรือชำระไม่เต็มจำนวน มีการชำระค่าบัตรเครดิตเกินวันครบกำหนด (Overdue) หรือการเบิกถอนเงินสดจากบัตรเครดิต ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะอยู่ที่ 16% ต่อปี
ดอกเบี้ยบัตรเครดิต เกิดขึ้นเพราะอะไร
ปกติแล้วถ้าผู้ใช้บัตรเครดิตมีการชำระค่าบัตรเครดิตตรงตามกำหนดชำระ จะไม่เกิดดอกเบี้ย แต่หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วดอกเบี้ยบัตรเครดิตมาจากไหน ซึ่งสาเหตุของการเกิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต ได้แก่
1. ชำระช้าเกินวันครบกำหนดชำระเงิน
ไม่ว่าจะเป็นกรณีไม่ชำระเลย หรือชำระเต็มจำนวน ผู้ถือบัตรฯ จะถูกคิดดอกเบี้ยฯ ของยอดทั้งหมดตั้งแต่วันที่ใช้บัตรเครดิตจนถึงวันที่ก่อนชำระคืนครบทั้งหมด ทั้งยังต้องจ่ายเพิ่มในส่วนของค่าติดตามทวงถามถ้าหากเจ้าหน้าที่โทรทวงถาม
2. กรณีชำระตรงเวลา แต่จ่ายขั้นต่ำ
กรณีชำระตรงเวลา แต่จ่ายขั้นต่ำของยอดเงินรวมที่เรียกเก็บในแต่ละเดือน โดยปัจจุบันในปี 2567 อัตราการจ่ายขั้นต่ำที่สถาบันการเงินกำหนดคือ 8% ซึ่งการที่ผู้ถือบัตรชำระขั้นต่ำหรือชำระมากกว่าขั้นต่ำ แต่ชำระไม่เต็มจำนวน เป็นการทยอยผ่อนชำระที่ไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไข ปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ย 0% ดังนั้นหากคุณจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต แต่ชำระเงินตรงเวลา ดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะถูกคิดเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
- ดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือ
- ดอกเบี้ยจากเงินคงค้าง
3.กรณีชำระช้าเกินวันครบกำหนด และจ่ายขั้นต่ำ
เมื่อคุณชำระค่าบัตรเครดิตหลังวันกำหนดชำระ และจ่ายเพียงยอดขั้นต่ำ คุณจะต้องรับผิดชอบต่อดอกเบี้ยและค่าปรับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ดอกเบี้ยเงินต้นที่ใช้จ่าย ดอกเบี้ยยอดคงค้างส่วนต่างที่คุณชำระ ค่าปรับล่าช้า และบางสถาบันการเงินอาจจะมีการคิดค่าบริการอื่น ๆ เช่น ค่าติดตามทวงถามหนี้ด้วย
อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต
ในปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้สถาบันการเงินคิดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตทุกประเภทอยู่ที่ 16% ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นหลังจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ส่วนค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตคือค่าบริการที่ผู้ใช้บัตรเครดิตแต่ละใบที่ธนาคารหรือสถาบันทางการเงินออกให้ใช้บริการ เนื่องจากการรูดบัตรแต่ละครั้งจะนับว่าเป็นการบริการทั้งหมดและจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ธนาคารมอบให้กับคุณ การเสียค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตจึงเหมือนเป็นการที่คุณจ่ายเงินเพื่อได้รับสิทธิ์การใช้งาน
วิธีคิดคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิต
กรณีจ่ายขั้นต่ำ และชำระตรงเวลา
จะแยกคำนวณดอกเบี้ยออกเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ดอกเบี้ยเงินต้น ของวันที่บันทึกรายการถึงวันก่อนวันชำระเงิน 1 วัน
ส่วนที่ 2 ดอกเบี้ยค้างชำระ ของวันที่ชำระขั้นต่ำจนถึงวันสรุปยอดบัญชีถัดไป
ตัวอย่าง นาย สมชาย รูดซื้อสินค้า 10,000 บาท เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม โดยบัตรเครดิตสรุปยอดทุกวันที่ 17 ของเดือน ครบกำหนดชำระเงินทุกวันที่ 2 ของเดือนถัดไป (อัตราดอกเบี้ยฯอยู่ที่ 16%) เมื่อถึงวันที่ 2 กรกฎาคม นาย สมชาย เลือกชำระเงินคืนขั้นต่ำ 10% คิดเป็นเงินจำนวน 1,000 บาท ในกรณีนี้จะถูกคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต ส่วนแรกจากยอดที่ใช้ไปทั้งหมด(นั่นคือ 10,000 บาท)
วิธีคำนวณดอกเบี้ยเงินต้น
ค่าใช้จ่ายแต่ละรายการ X อัตราดอกเบี้ยฯ ต่อปี X จำนวนวัน (นับจากวันที่บันทึกรายการถึงวันก่อนวันชำระ 1 วัน) จำนวนวันใน 1 ปี
ในกรณีนี้ดอกเบี้ยเงินต้น จะถูกคำนวณจากวันที่บันทึกรายการถึงวันก่อนวันชำระ 1 วัน (วันที่ 18 พฤษภาคม – 1 กรกฎาคม = 45 วัน) คือ 10,000 x 16% x 45 / 365 วัน = 197.26 บาท
วิธีคำนวณดอกเบี้ยค้างชำระ
เป็นการคิดดอกเบี้ยฯ จากยอดหนี้ที่เหลือหรือยอดที่ยังไม่ได้ชำระ ซึ่งจะถูกคำนวณตั้งแต่วันที่ชำระขั้นต่ำจนถึงวันสรุปยอดบัญชีถัดไป (2 - 17 กรกฎาคม = 16 วัน) โดยมีวิธีคิดดอกเบี้ยฯ ดังต่อไปนี้
ค่าคงค้าง X อัตราดอกเบี้ยฯ ต่อปี X จำนวนวันจากวันที่ชำระขั้นต่ำจนถึงวันสรุปยอดบัญชีถัดไป จำนวนวันใน 1 ปี
สำหรับดอกเบี้ยฯ ส่วนที่ 2 คิดได้ดังนี้ 9,000 x 16% x 16 / 365 = 63.12 บาท
เป็นผลให้ในรอบครบกำหนดชำระวันที่ 17 กรกฎาคม นายสมชายจะถูกคิดดอกเบี้ยฯ จะมียอดดอกเบี้ยฯ ที่เรียกเก็บเพิ่มทั้งหมด คือ 197.26 + 63.12 = 260.38 บาท
ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงรอบครบกำหนดชำระถัดไปในวันที่ 2 สิงหาคมผู้ใช้บัตรเครดิตมียอดคงค้างพร้อมดอกเบี้ยฯ ที่เกิดขึ้น เป็นจำนวนเงิน 9,000 + 260.38 = 9,260.38 บาท
กรณีจ่ายคืนเต็มจำนวน แต่ไม่ตรงเวลา
สำหรับกรณีนี้ แม้จะชำระหนี้บัตรเครดิตเต็มจำนวน แต่ก็ยังถูกคิดดอกเบี้ยฯ ของยอดทั้งหมดตั้งแต่วันที่ใช้บัตรจนถึงวันที่ชำระคืนครบทั้งหมด โดยมีวิธีคำนวณดอกเบี้ยฯ ตามนี้
วิธีคำนวณดอกเบี้ยเงินต้น
ค่าใช้จ่ายแต่ละรายการ X อัตราดอกเบี้ยฯ ต่อปี X จำนวนวัน (นับจากวันที่บันทึกรายการถึงวันก่อนวันชำระ 1 วัน) จำนวนวันใน 1 ปี
จากตัวอย่างของคุณสมชาย ดอกเบี้ยเงินต้นจะถูกคำนวณจากวันที่บันทึกรายการถึงวันก่อนวันชำระ 1 วัน (วันที่ 18 พฤษภาคม – 1 กรกฎาคม = 45 วัน) คือ 10,000 x 16% x 45 / 365 วัน = 197.26 บาท
นอกจากดอกเบี้ยจำนวน 196.26 บาทแล้ว คุณสมชาย(ผู้ถือบัตรเครดิต) ยังต้องชำระค่าทวงถามหนี้ โดยส่วนใหญ่จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 100 บาท/รอบบัญชี + vat 7% = 107 บาท และมีผลต่อประวัติการชำระหนี้ด้วย ทั้งนี้เป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร ซึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไข อัตราค่าธรรมเนียมติดตามทวงถามหนี้สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย
ฉะนั้น หากผู้ใช้บัตรเครดิตไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ตรงตามเวลา และจ่ายครบทั้งหมด จะถูกคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต และค่าทวงถามเบื้องต้นใน 1 รอบบิล เป็นเงิน 197.26 + 107 บาท = 304.26 บาท
กรณีเบิกถอนเงินสด
ยกตัวอย่าง นายสมชาย เบิกถอนเงินสดจำนวน 5,000 บาท เมื่อวันที่ 2 กันยายน โดยวันสรุปยอดบัญชีคือทุกวันที่ 13 ของเดือน และวันครบกำหนดชำระเงิน ทุกวันที่ 28 ของเดือน (อัตราดอกเบี้ยฯ อยู่ที่ 16%) ต่อมานาย A ต้องการปิดยอดชำระเงินเบิกถอนเงินสดพร้อมดอกเบี้ยทั้งหมด ในวันที่ 28 กันยายน ในกรณีนี้นาย A ต้องเสียดอกเบี้ยจากการเบิกถอนเงินสดเป็นจำนวนทั้งหมดเท่าใด
วิธีคำนวณดอกเบี้ย
จำนวนเบิกถอนเงินสดล่วงหน้า X อัตราดอกเบี้ยฯ ต่อปี X จำนวนวัน (นับจากวันที่บันทึกรายการถึงวันก่อนวันชำระ 1 วัน)
จำนวนวันใน 1 ปี จากกรณีตัวอย่าง เมื่อคำนวณดอกเบี้ยของการเบิกถอนเงินสด (2 – 27 กันยายน = 26 วัน) = 5,000 x 16% x 26/365 = 56.99 บาท
ทำไมต้องจ่ายดอกเบี้ยบัตรเครดิต
ที่จริงแล้วการใช้บัตรเครดิตอย่างมีวินัย ชำระเต็มจำนวน ตามกำหนดเวลา ผู้ถือบัตรเครดิตจะได้รับประโยชน์มากทั้งได้แต้มสะสมที่สามารถนำไปแลกสินค้าและบริการต่างๆได้ ไม่ต้องสำรองจ่ายเงินสดไปก่อนด้วย หรือในบางบัตรอาจมีสิทธิพิเศษอื่นๆเฉพาะผู้ถือบัตรนั้น แต่หากใช้อย่างไม่ประเมินศักยภาพในการชำระหนี้คืนของตนเองก็อาจส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของผู้ถือบัตรได้โดยสาเหตุที่จะทำให้คุณต้องจ่ายดอกเบี้ยบัตรเครดิตมีด้วยกันหลักๆ 4 เหตุผล ประกอบด้วย
กดเงินสด
ในกรณีที่ผู้ที่ถือบัตรเครดิตแล้วเบิกเงินสด ผู้ถือบัตรเครดิตจะเสียดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ไม่เกิน 16 % ต่อปี พร้อมค่าธรรมเนียม 3% และภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% จะเห็นว่าการทำให้การเบิกเงินสดออกมาเพียงครั้งเดียว ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ดังนั้นหากไม่จำเป็นไม่ควรเบิกเงินสดด้วยบัตรเครดิต
จ่ายขั้นต่ำ
เมื่อถึงกำหนดชำระและคุณจ่ายค่าบัตรเครดิตขั้นต่ำ ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยจะหายไปซึ่งระยะปลอดดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะเริ่มนับตั้งแต่วันสรุปยอดบัตรเครดิต โดยบัตรเครดิตของแต่ละธนาคารจะกำหนดระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยไว้อย่างชัดเจน หมายความว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะเริ่มคิดคำนวณย้อนกลับไปเริ่มตั้งแต่วันที่เรารูดบัตรหรือวันที่บันทึกรายการ จนถึงวันก่อนวันที่เราชำระ และส่วนที่สอง ธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตจะคิดดอกเบี้ยจากยอดค้าง(กรณีจ่ายไม่เต็มจำนวน) โดยนับจากวันที่เราชำระจนถึงวันก่อนวันที่เราชำระครั้งต่อไป ซึ่งการจ่ายขั้นต่ำเป็นการชำระเงินเพียงบางส่วนของยอดการใช้จ่ายทั้งหมด โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้ปี 2567 ต้องจ่ายขั้นต่ำ 8% จากเดิมอยู่ที่ 5%
เลือกผ่อนชำระกับสินค้าที่ไม่ได้ร่วมรายการผ่อน 0%
แม้ว่าบัตรเครดิตของหลายๆสถานบันการเงิน จะนำเสนอโปรโมชันให้ผ่อนชำระ 0% แต่ก็ไม่ใช่ว่าสินค้าทุกรายการจะสามารถผ่อนด้วยเงื่อนไขดังกล่าวได้ หมายความว่าหากคุณรูดบัตรเครดิตกับสินค้านอกรายการ แล้วกดผ่อนชำระก็จะต้องเสียดอกเบี้ยบัตรเครดิตตามเงื่อนไขที่สถานบันการเงินนั้นเป็นผู้กำหนด
ค้างชำระบัตรเครดิต
ถ้าในกรณีที่คุณมียอดค้างชำระกับบัตรเครดิต ซึ่งในกรณีนี้คือค้างชำระเป็นระยะเวลาหลายๆ งวด สิ่งที่คุณต้องเจอเลยก็คือจ่ายดอกเบี้ยจากยอดค่าใช้จ่าย ดอกเบี้ยค้างชำระ ค่าใช้จ่ายทวงถาม รวมถึงเสียประวัติทางการเงิน ส่งผลให้การขอสินเชื่อในอนาคตเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ทำอย่างไรถึงไม่เสียดอกเบี้ยบัตรเครดิต
เมื่อทราบแล้วว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิต คิดยังไง? จะเห็นว่าแค่ค้างจ่ายบัตรเครดิตไม่กี่วัน ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ก็ใกล้เคียงกับค่าแรงขั้นต่ำ สำหรับใครที่ไม่อยากเสียดอกเบี้ยบัตรเครดิตโดยไม่จำเป็น เราก็ได้นำ 6 วิธีใช้บัตรเครดิตที่น่าสนใจ มาแชร์ให้ทุกคนแล้วดังนี้
ใช้บัตรเครดิตเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
สิ่งที่คุณต้องไม่ลืมก็คือ เงินในบัตรเครดิตเป็นเงินของธนาคาร ซึ่งเมื่อคุณรูดบัตรใช้จ่ายเท่ากับว่าคุณมีภาระที่ต้องใช้หนี้ที่เกิดขึ้น ดังนั้นก่อนจะใช้จ่ายไปกับสิ่งใดคิดให้ดีก่อนว่า เรามีเงินสำรองเพียงพอที่จะชำระบัตรเครดิตใช่หรือไม่ ถ้าหากใช่คุณก็สามารถใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นได้ หากไม่ใช่ของบางอย่างรอได้ หรือยังไม่จำเป็นก็อาจจะรอไปก่อนเพื่อให้คุณมีความพร้อมในการซื้อจริงๆจึงค่อยซื้อก็ได้
จ่ายหนี้บัตรเครดิตให้ตรงเวลา
การใช้บัตรเครดิตที่ถูกต้อง คือผู้ใช้บัตรจำเป็นต้องมีวินัยการการเงินที่ดี ซึ่งจะต้องชำระหนี้บัตรเครดิตทันทีเมื่อถึงวันกำหนดชำระ เพื่อรักษาประวัติเครดิตบูโร และไม่ให้เสียดอกเบี้ยบัตรเครดิตโดยไม่จำเป็น
ใช้โปรโมชันผ่อน 0%
โปรโมชั่นผ่อน 0% เป็นสิ่งล่อตาล่อใจให้กับผู้ที่ต้องการที่จะซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูงโดยไม่จำเป็นจะต้องจ่ายทั้งก้อน โดยธนาคารต่างๆ ก็ได้ออกโปรโมชั่น 0% สำหรับการผ่อนชำระสินค้า แต่ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่กับทุการายการสินค้า ดังนั้นสิ่งที่ต้องพิจารณาเลยก็คือสินค้านั้นเราจำเป็นจะต้องซื้อจริงๆหรือไม่ และถ้าจำเป็นจริงๆ สินค้านั้นร่วมรายการผ่อน 0% หรือไม่ ถ้าใช่ราคาสมเหตุสมผลหรือไม่ ถ้าเข้าเงื่อนไขเบื้องต้น 3 ข้อแล้ว ก็สามารถที่จะใช้สิทธิผ่อน 0% ได้
หลีกเลี่ยงการกดเงินสดด้วยบัตรเครดิต
ในกรณีที่คุณต้องการเบิกเงินสดเพื่อใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉิน ก็ควรสมัครบัตรกดเงินสดแทนการใช้บัตรเครดิต เพราะบัตรเครดิตออกแบบมาเพื่อใช้รูดชำระสินค้า หรือผ่อนชำระสินค้าเท่านั้น ซึ่งการเบิกเงินสดออกมาแต่ละครั้งนอกจากจะเสียดอกเบี้ยบัตรเครดิตแล้ว ยังเสียค่าธรรมเนียมเบิกถอน และภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย
ตรวจสอบค่าธรรมเนียมรายปีของบัตรเครดิต
นอกจากจะต้องระวังอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตแล้ว ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเงื่อนไขการจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีของแต่ละธนาคารไม่เหมือนกัน โดยมีทั้งค่าธรรมเนียมคงที่รายปี และค่าธรรมเนียมกำหนดยอดการใช้จ่าย ถ้าคุณมองว่าไม่สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมได้สม่ำเสมอ ก็ควรเลือกใช้บัตรเครดิตที่ไม่เสียค่าธรรมเนียม
การใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตนำมาซึ่งความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้งานก็จริง แต่ผู้ใช้งานต้องไม่ลืมว่าถ้าใช้จ่ายจนเกินความสามารถในการชำระก็อาจนำมาซึ่งภาระที่ผู้ถือบัตรเครดิตรับผิดชอบไม่ไหว จนกลายเป็นหนี้เสีย เนื่องจากดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นก่อนจะใช้จ่ายไปกับสิ่งใดควรประเมินก่อนการใช้จ่ายทุกครั้ง แต่ถ้ารู้สึกว่าค่าใช้จ่ายจากบัตรเครดิตเริ่มเยอะขึ้นและไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรเพราะ เพราะมีภาระค่าใช้จ่ายจากบัตรหลายใบ การรวมหนี้บัตรเครดิตไว้ที่สินเชื่อตัวเดียวก็นับว่าเป็นไอเดียที่ดี
เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ถือบัตรเครดิตไม่ต้องพะวงว่าจะลืมจ่ายหนี้บัตรเครดิตใบใดแล้ว การรวมหนี้ไว้ที่เดียวยังช่วยให้สภาพคล่องของผู้ถือบัตรดีขึ้นด้วย โดยสินเชื่อส่วนบุคคลกรุงไทย Smart Money ยื่นขอกู้ได้ทั้งพนักงานประจำ และผู้ประกอบการรายย่อย วงเงินสูงสุด 5 เท่าของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่ต้องมีหลักประกันหรือคนค้ำประกัน แม้จะไม่มีบัญชีเงินเดือนกับธนาคารกรุงไทยก็กู้ได้ เพียงมีรายได้ 30,000 บาท ขึ้นไป สนใจ สินเชื่อ กรุงไทย Smart Money สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://krungthai.com/th/personal/loan/personal-loan/24
กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว
อัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 20% - 24% ต่อปี | วงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท สำหรับพนักงานประจำ และ 500,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย | เงื่อนไขและหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด