เรื่องเด่น

6 เทรนด์ที่ SME ต้องรู้เพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงของโลก ถ้าเตรียมตัวไม่ดี ธุรกิจคุณมีความเสี่ยง

อัปเดตวันที่ 2 ส.ค. 2567

6 เทรนด์ที่ SME ต้องรู้เพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงของโลก ถ้าเตรียมตัวไม่ดี ธุรกิจคุณมีความเสี่ยง

ภูมิทัศน์ของห่วงโซ่อุปทานทั้งในระดับโลกและในระดับภูมิภาคอาเซียนเป็นเรื่องซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการเปลี่ยนแปลงที่มีปัจจัยความไม่แน่นอนมากมาย ตั้งแต่ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ไปจนถึงค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนไป เทรนด์การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สร้างทั้งความท้าทายและโอกาสให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ต้องปรับตัวเพื่อประสบความสำเร็จในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีพลวัตร บทวิเคราะห์นี้สรุปความและขยายความบางส่วนจากงานวิจัยหัวข้อ Vision for the Digitalisation of Supply Chains in ASEAN and Japan โดย Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) ซึ่งผู้เขียนได้มีส่วนร่วมในฐานะ Expert Panel Members โดยจะวิเคราะห์ 6 ประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในปัจจุบัน นำเสนอข้อมูลเพื่อช่วยให้ SMEs สามารถปรับตัวและเติบโตในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง


1. การจัดระเบียบใหม่ทางภูมิรัฐศาสตร์

ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นหลักประกันถึงความมีเสถียรภาพของไทยในประชาคมอาเซียนอีกต่อไป หลาย ๆ ประเทศที่เคยสนับสนุนการจัดตั้งเขตการค้าเสรี เปลี่ยนนโยบายไปสู่การให้ความสำคัญกับการพึ่งพาตนเอง และกีดกันการค้าการลงทุนมากขึ้น ซึ่งเหตุผลหลักมาจากสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาและจีน สิ่งนี้ทำให้ไทยและประชาคมอาเซียนจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ใหม่ในการออกแบบความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อเอาชนะความท้าทายที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับที่ SMEs ไทยก็ต้องเรียนรู้กฎกติกาใหม่ ๆ ทางการค้าและการลงทุนที่จะเกิดขึ้น


2. ลูกค้าไฮเทคที่ต้องการความหลากหลาย

ความต้องการของผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนแปลงไป ลูกค้าเรียกร้องให้ผลิตภัณฑ์และบริการต้องสามารถปรับแต่งตามบุคคล และต้องการประสบการณ์ดิจิทัลเพิ่มมากยิ่งขึ้น เทรนด์นี้มาควบคู่ไปกับวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Product Lifecycles) ที่สั้นลงและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีพลวัตรสูง นั่นทำให้ SMEs ต้องมีโมเดลการทำธุรกิจที่คล่องตัวและยืดหยุ่น รวมทั้งต้องฉลาดรู้ทางดิจิทัล (Digital Literacy)


3. ความไม่แน่นอนสูง เกินกว่าความเสี่ยงที่สามารถบริหารจัดการได้

การแพร่ระบาดของโควิด 19 สงครามระหว่าง NATO และรัสเซีย สงครามระหว่างอิสราเอลกับโลกมุสลิม ฯลฯ ความไม่แน่นอนเหล่านี้เผยให้เห็นถึงจุดอ่อนของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ผู้ประกอบการเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ระบบขนส่งที่หยุดชะงัก และต้นทุนสูง ความจำเป็นในการหาผู้จัดจำหน่ายทดแทนสำหรับวัตถุดิบสำคัญ การสร้างความยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับการลดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนเหล่านี้ (ความเสี่ยง ≠ ความไม่แน่นอน เพราะความเสี่ยง (Risk) คือ ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ที่เราทราบที่มา รู้จักผลกระทบ และสามารถบริหารจัดการได้)


4. ค่านิยมทางสังคมใหม่ ๆ

ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ความหลากหลายทางเพศวิถี ฯลฯ คือค่านิยมสังคมใหม่ ๆ ที่ได้รับความสนใจมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดกฎระเบียบและวิธีการดำเนินการธุรกิจในรูปแบบใหม่ ซึ่ง SMEs ไทยต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบและการบริหารจัดการที่ยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, Social, Good Governance: ESG)


5. ความมั่นคงทางอาหาร

ผู้ประกอบการไทยจำนวนมากไม่เชื่อว่าประเทศไทยมีปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร หากแต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่ประชากรสูงวัยเต็มขั้น ขาดแคลนแรงงานในบางภาคการผลิต การผลิตและการบริโภคอาหารอย่างสิ้นเปลืองสูญเปล่า (Food Waste) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ เหล่านี้ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยในอนาคต การปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานอาหารด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตั้งแต่ต้นน้ำในภาคการเกษตร สู่ปลายน้ำในการแปรรูปอาหารด้วยเครื่องมือใหม่ อาทิ Sensors, Blockchain, Radio Frequency Identification (RFID), Clouding Computing, Sharing/Circulating Plarform ฯลฯ จะมีบทบาทสำคัญ นำไปสู่การปรับปรุงความมั่นคงทางอาหาร


6. การผลิตที่ยั่งยืน (Sustainable Production)

วิสาหกิจจำนวนมากในโลกเปลี่ยนมาใช้แนวปฏิบัติการผลิตสีเขียว ใช้พลังงานหมุนเวียน กระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบให้สามารถบริโภคได้อย่างยั่งยืน (Sustainable Consumption) สิ่งนี้ช่วยลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (UN SDGs) และในขณะเดียวกันก็สามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างถาวร


หากผู้ประกอบการ SMEs พร้อมที่จะเผชิญความท้าทายที่ว่านี้แล้ว ก็ต้องเร่งปรับตัวเพื่อมองหาโอกาสให้กับธุรกิจ เพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงและนำพาธุรกิจให้ไปต่อได้อย่างไม่สะดุด


ที่มา: กรุงไทย SME FOCUS Issue 42 คอลัมน์ Economy Abroad 6 เทรนด์ที่ SMEs ต้องเข้าใจเพื่อความอยู่รอด ท่ามกลางความซับซ้อนของห่วงโซ่อุปทานสมัยใหม่ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

#เคล็ดลับธุรกิจ #กรุงไทยSME #กรุงไทย #Krungthai #พลิกธุรกิจไทยสู่ความยั่งยืน