เรื่องเด่น

กองทุนรวมคืออะไร (Mutual Fund) ลงทุนอย่างไรให้ได้โอกาสทำกำไร มือใหม่ต้องอ่าน

อัปเดตวันที่ 19 ต.ค. 2565

กองทุนรวมคืออะไร (Mutual Fund) ลงทุนอย่างไรให้ได้กำไร มือใหม่ต้องอ่าน


รู้หรือไม่ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีภารกิจสำคัญในการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับ 1-3% ต่อปี แต่บางช่วงเวลาอัตราเงินเฟ้อของไทยก็พุ่งไปถึง 7% นั่นหมายความว่า สินค้าราคา 100 บาท จะปรับขึ้นเป็น 107 บาทตามอัตราเงินเฟ้อ (ที่มา: เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย)

หากเราออมเงินในบัญชีออมทรัพย์ ดอกเบี้ย 0.25%ต่อปี เงินเก็บของเราจะไม่งอกเงยตามอัตราเงินเฟ้อ แปลว่ายิ่งเก็บนานยิ่งเสียโอกาส เพราะมูลค่าเงินจะลดลงเรื่อยๆ 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงอย่างหุ้น ก็มีโอกาสที่จะสร้างกำไรชนะเงินเฟ้อ แต่จะทำแบบนี้ได้ เราต้องมีความรู้เรื่องการลงทุนที่ดีพอซะก่อน สำหรับใครที่ไม่มีเวลาติดตามสภาวะตลาด ไม่มีเงินก้อนใหญ่ และไม่มีประสบการณ์ในการลงทุน เราขอแนะนำการลงทุนในกองทุนรวมที่สะดวก ง่าย และมีมืออาชีพคอยดูแลอย่างใกล้ชิด


กองทุนรวม คืออะไร

กองทุนรวม คือ การระดมเงินลงทุนจากนักลงทุนรายย่อยมารวมเป็นเงินลงทุนก้อนใหญ่ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เป็นผู้ดูแล เพื่อนำเงินไปลงทุนตามนโยบายการลงทุนที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมตามนโยบายที่ตนเองสนใจ เมื่อลงทุนแล้วจะได้รับจัดสรร “หน่วยลงทุน” เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของเงินที่ลงทุนไป เราจึงเรียกผู้ลงทุนในกองทุนรวมว่า “ผู้ถือหน่วยลงทุน” นั่นเอง
สำหรับมูลค่าของหน่วยลงทุน ในกองทุนแต่ละกองจะมีมูลค่าไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการบริหารกองทุนและปัจจัยที่มีผลต่อสินทรัพย์ที่ลงทุน นอกเสียจากจะเป็นกองทุนรวมที่เสนอขายครั้งแรก หรือ Initial Public Offering (IPO) ก็จะมีมูลค่าเริ่มต้นที่ 10 บาท และมูลค่าหน่วยก็จะเปลี่ยนไปหลังจากเสร็จสิ้นการระดมทุนและเริ่มการซื้อขายตามปกติ

ประเภทของกองทุนรวมมีอะไรบ้าง


กองทุนรวมคืออะไร มีอะไรบ้าง และมีข้อดีข้อเสียอย่างไร


การลงทุนในกองทุนรวมมีหลากหลายประเภท ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์และนโยบายของกองทุน โดยแต่ละประเภทก็มักมีความเสี่ยงต่างกันไปด้วย หากอยากรู้ว่ากองทุนรวมมีอะไรบ้าง เราขอแบ่งประเภทของกองทุนรวมตามนโยบายการลงทุนให้เข้าใจดังนี้


1. กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund)

เน้นลงทุนในเงินฝาก และตราสารหนี้คุณภาพดีอายุต่ำกว่า 1 ปี เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนน้อยที่สุด เหมาะสำหรับเป็นที่พักเงินชั่วคราวมากกว่าลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทน


2. กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund)

มีนโยบายลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้รูปแบบต่างๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง ตั๋วแลกเงิน และหุ้นกู้ของภาคเอกชน เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย และควรศึกษาลักษณะของกองทุนที่ลงทุน หากกองทุนเน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลาง ก็ควรลงทุนอย่างน้อย 1 ปี 


3. กองทุนรวมผสม (Mixed Fund)

เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ ทั้งตราสารหนี้ หุ้น และสินทรัพย์อื่นๆ โดยโอกาสรับผลตอบแทนก็จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนของสินทรัพย์ที่ลงทุนในกองทุน กองทุนผสมเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ระดับปานกลางค่อนข้างสูง หรือคนที่ต้องการกระจายลงทุนหลายสินทรัพย์ในกองทุนเดียว ซึ่งกองทุนผสมจะตอบโจทย์มากกว่าการเลือกลงทุนเอง เพราะมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลปรับสัดส่วนการลงทุน เพื่อให้ได้โอกาสทำกำไรสูงสุดในแต่ละสภาวะตลาด 


4. กองทุนรวมตราสารทุน หรือ กองทุนรวมหุ้น (Equity Fund)

มีนโยบายการลงทุนที่เน้นลงทุนในหุ้น เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น (warrant) สำหรับกองทุนรวมหุ้นไทยก็จะมีหลากหลายนโยบาย เช่น ลงทุนตามดัชนี SET50, ลงทุนในหุ้นที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ฯลฯ กองทุนรวมหุ้นมีความผันผวนสูง จึงเหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มาก สามารถลงทุนระยะยาวได้ และยอมรับการขาดทุนในระยะสั้น 


5. กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund: FIF)

เป็นกองทุนรวมที่นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่เหนือกว่าการลงทุนในประเทศ และยังช่วยกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน โดยกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศที่ได้รับความนิยม มักเป็นการลงทุนตามดัชนีสำคัญๆ ของโลก หรือการคัดสรรหุ้นรายตัวที่โดดเด่นในตลาดต่างประเทศ กองทุนรวมประเภทนี้มีความเสี่ยงสูง ถึงสูงมาก และยังมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่นักลงทุนต้องระวัง ก่อนลงทุนควรศึกษาว่ากองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่ด้วย 


6. กองทุนรวมที่ลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก (Alternative Investment)

มีหลากหลายประเภทสินทรัพย์ให้เลือกลงทุน เช่น โครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ อย่างน้ำมันดิบ และทองคำ ฯลฯ จัดเป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงมาก ผู้ลงทุนควรมีความรู้ในสินทรัพย์นั้นๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน


7. กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF)

เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวที่ให้สิทธิลดหย่อนภาษี ต้องมีการลงทุนตามเงื่อนไขของกรมสรรพากรและเมื่อซื้อแล้วต้องถือครองให้ครบเป็นเวลา 10 ปีนับจากวันที่ซื้อจึงจะสามารถไถ่ถอนได้ และมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายตามประเภทของกองทุนรวมที่กล่าวมาข้างต้น เช่น การลงทุนในตลาดเงิน ตราสารหนี้ หุ้น หุ้นกู้ดิจิทัล และทรัพย์สินทางเลือก ฯลฯ


8. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund: RMF)

เป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ส่งเสริมการออมเงินในระยะยาวเพื่อใช้จ่ายยามเกษียณและมีสิทธิลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งมีเงื่อนไขหลักในการลงทุนคือ จะต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปีต่อเนื่องและต้องมีอายุครบ 55 ปี จึงจะสามารถไถ่ถอนหน่วยลงทุนได้  ซึ่งมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายตามประเภทของกองทุนรวมที่กล่าวมาข้างต้น เช่น การลงทุนในตลาดเงิน ตราสารหนี้ หุ้น และทรัพย์สินทางเลือก ฯลฯ

ข้อดีของการลงทุนในกองทุนรวม


การลงทุนในกองทุนรวม มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร


1. มีมืออาชีพคอยดูแลการลงทุน

นั่นคือ ผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสินทรัพย์ และสามารถวิเคราะห์หาโอกาสทำกำไรได้อย่างมืออาชีพ เราจึงมั่นใจได้ว่าเงินที่เราลงทุนจะอยู่ภายใต้การดูแลอย่างดี 


2. มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย

เราสามารถเลือกลงทุนได้ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หรือกระจายความเสี่ยงได้ในหลายสินทรัพย์ ที่สำคัญบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยังนำเสนอกองทุนรวมใหม่ๆ ตามเทรนด์อยู่เสมอ เช่น กองทุนหุ้นเทคโนโลยี กองทุนหุ้นการแพทย์ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน 


3. เงินไม่มากก็ลงทุนได้

การลงทุนในกองทุนรวมมีเงินเพียงหลักร้อยก็ลงทุนได้แล้ว หรือบางกองทุนก็ให้เราเริ่มต้นลงทุนเพียง 1 บาทเท่านั้น อีกทั้งยังสามารถทยอยลงทุนแบบ DCA ได้ด้วย


4. ขั้นตอนการลงทุนที่ง่ายดาย

เพราะลงทุนได้ผ่านแอปพลิเคชัน อย่างเช่น Krungthai Next ที่ทำให้การลงทุนเป็นเรื่องง่าย จะเปิดบัญชี ดูพอร์ต หรือ ซื้อ ขาย สับเปลี่ยนกองทุน ก็ทำได้ผ่านแอป สะดวกและรวดเร็ว สามารถดูรายละเอียดกองทุนได้เพิ่มเติมที่นี่ กองทุนรวมกรุงไทย

เทคนิคการลงทุนในกองทุนรวม และการซื้อกองทุน


1. รู้เป้าหมายการลงทุน

ว่าจะเน้นลงทุนระยะยาวเพียงใด รับความเสี่ยงได้ในระดับไหน และคาดหวังผลตอบแทนประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ ทั้งหมดนี้จะมีความสัมพันธ์กับการเลือกกองทุนรวม เช่น หากเราลงทุนระยะยาวและรับความเสี่ยงได้สูง ก็ให้เลือกลงทุนในกองทุนรวมหุ้น หรือหากต้องการพักเงินระยะสั้น ไม่คาดหวังผลตอบแทนมาก แต่เน้นรักษาเงินต้น ก็อาจพิจารณาเลือกกองทุนรวมตลาดเงินหรือตราสารหนี้ได้ เป็นต้น 


2. รู้จักประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน

จริงอยู่ว่ากองทุนรวมมีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพที่ดูแลเงินลงทุนของเรา แต่ผู้ลงทุนควรมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสินทรัพย์ที่ลงทุนด้วย เพื่อให้จัดพอร์ตการลงทุนได้บาลานซ์ กระจายความเสี่ยงได้หลากหลาย และรู้ว่าสินทรัพย์แต่ละชนิดจะให้โอกาสทำกำไรได้ในสถาการณ์แบบใด เพื่อให้หลีกเลี่ยง หรือสับเปลี่ยนได้ทันท่วงที 


3. รู้ข้อมูลเบื้องต้นของกองทุน

ได้แก่ นโยบายการลงทุน การจ่ายปันผล ค่าธรรมเนียมต่างๆ และผลการดำเนินงานในอดีต เหล่านี้จะสะท้อนถึงฝีมือในการบริหารกองทุน และโอกาสทำกำไรแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่น บางกองทุนมีผลการดำเนินงานที่ดี แต่ค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูง เราอาจต้องเปรียบเทียบกับกองทุนที่มีนโยบายเดียวกันเพิ่มเติม ซึ่งข้อมูลสำคัญของกองทุนรวมสามารถดูได้จากหนังสือชี้ชวนการลงทุนของกองทุนนั้นๆ 


อย่างไรก็ดี แม้เราจะรู้แล้วว่ากองทุนรวมคืออะไร และสร้างโอกาสทำกำไรให้เราได้อย่างไร ทว่าการลงทุนก็ย่อมมีความเสี่ยงและผลการดำเนินงานในอดีต ก็มิอาจยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต ผู้ลงทุนจึงต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน หรือหากจะลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีก็ควรศึกษาเงื่อนไขในการเปิดบัญชีกองทุน หรือ ก่อนตัดสินใจลงทุนด้วย

กองทุนรวมคืออะไร ลงทุนอย่างไรให้ได้กำไร มือใหม่ต้องอ่าน | ธนาคารกรุงไทย กองทุนรวมคืออะไร การลงทุนในกองทุนรวมต้องรู้อะไรบ้าง ลงทุนยังไงให้ได้ผลกำไร มารู้พร้อมกันได้ที่นี่ จบ ครบทุกเรื่องที่สงสัย