ข่าวและประกาศ

สนับสนุน “กลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์” ขานรับนโยบายรัฐฯ ยกระดับการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในฤดูเก็บเกี่ยวอ้อย

อัพเดทวันที่ 28 พ.ค. 2567


ธนาคารกรุงไทย สนับสนุนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (ESG) ให้กับ กลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ เพื่อจัดซื้อรถตัดอ้อยและเครื่องจักรที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาการเผาอ้อยและลดฝุ่น PM 2.5 ในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวอ้อย ซึ่งเป็นโครงการนำร่องในการสนับสนุนธุรกิจอ้อยและน้ำตาลลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ตามนโยบาย ธปท. ที่มุ่งให้ภาคธุรกิจปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเข้าสู่วิถีใหม่


นางจิรวรรณ พงษ์พิชิตกุล กรรมการบริหาร และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านจัดหาวัตถุดิบ (อ้อย) บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย และธุรกิจต่อเนื่องมีความเชื่อมาตลอดว่า การทำธุรกิจในโลกปัจจุบันไม่ใช่เพียงการมุ่งแสวงหากำไรเพียงเท่านั้น แต่ยังต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการมุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนให้เกิดแก่ธุรกิจ สะท้อนได้จากการที่กลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ได้รับรางวัลด้านความยั่งยืนหลากหลายรางวัล ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายด้านความยั่งยืน ที่คำนึงถึงผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ตามกรอบการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG


อีกทั้ง ในสถานการณ์ปัจจุบัน การเผาต้นอ้อยและเศษใบอ้อยยังเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการไม่เผาถึง 4 เท่า โดยการเผาในที่โล่งยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทอื่นๆที่สำคัญและก่อมลพิษทางอากาศ เช่น ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์(SO2) และเกิดฝุ่น PM 2.5 เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเรื่องของฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่สังคมได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ได้ให้ความสำคัญและผลักดันในการเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาการลดฝุ่น PM 2.5 จากการเก็บเกี่ยวอ้อยเข้าสู่โรงงาน โดยวางแผนร่วมกับสมาคมชาวไร่อ้อย รวมไปถึงออกนโยบายการรับซื้ออ้อยสด พร้อมให้สินเชื่อสนับสนุนด้านอุปกรณ์การเกษตรที่อำนวยความสะดวกในการตัดอ้อยสดส่งให้แก่โรงงาน เพื่อลดการเผาอ้อยที่จะก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ขึ้นได้ ซึ่งการได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทยในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญที่สนับสนุนให้กลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์สามารถบรรลุเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อสร้างความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อมและสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป


นางสาวสุจิรา กิตติดุษฎีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทยมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในทุกมิติ ชับเคลื่อนธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพื่อผลักดันเศรษฐกิจประเทศมุ่งสู่แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมสร้างคุณค่า ตอบโจทย์ลูกค้า สู่ความยั่งยืน” ได้ออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อการปรับตัวแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย สำหรับจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ อาทิ รถตัดอ้อย และเครื่องบดอัดใบอ้อย ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจปรับตัวตามแนวทางการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน โดยล่าสุด ธนาคารได้ร่วมมือกับ บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวอ้อย โดยสนับสนุนวงเงินสินเชื่อระยะยาวเพื่อจัดซื้อรถตัดอ้อยและเครื่องจักรกลการเกษตรที่เกี่ยวข้อง ช่วยลดปัญหาการเผาอ้อยในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวอ้อย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์สามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่กำหนด เป็นแรงผลักดันขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน


ความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อเป็นการมุ่งสู่พันธกิจด้าน ESG ของทั้ง 2 องค์กร อีกทั้งยังเป็นไปตามโครงการนำร่องในการสนับสนุนการลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มุ่งให้ภาคธุรกิจปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเข้าสู่วิถีใหม่ สร้างอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยธนาคารได้เชื่อมโยงกับเป้าหมายการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Performance Targets) ที่สอดคล้องกับแนวทางการสนับสนุนวงเงินสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending Guideline) ตอกย้ำสู่การเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG) ข้อ 13 เรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน


ทีม Marketing Strategy
27 พฤษภาคม 2567

แนะนำสำหรับคุณ