“รุกขกรอาสา” ร่วมดูแลสุขภาพต้นไม้ใหญ่ ส่งต่อพื้นที่สีเขียว เพื่อคนในเมือง
อัปเดตวันที่ 15 ก.ย. 2566
กรุงไทย “รุกขกรอาสา” ร่วมดูแลสุขภาพต้นไม้ใหญ่ ส่งต่อพื้นที่สีเขียว เพื่อคนในเมือง
จากประวัติศาสตร์อันยาวนาน กว่า 240 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งกรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงของประเทศ เมื่อเวลาผ่านไป สภาพแวดล้อมในเมืองมีการเปลี่ยนแปลง ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ใจกลางเมืองที่เปรียบเสมือน “ปอดของคนกรุงเทพฯ” ได้เสื่อมสภาพและมีจำนวนลดน้อยลง แม้ต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นเด่น แผ่กิ่งก้านขยายอาณาเขตให้ร่มเงา ที่ดูเหมือนจะแข็งแรง แต่สุขภาพภายในของต้นไม้เหล่านี้ อาจเสื่อมโทรมอย่างคาดไม่ถึง
แม้ที่ผ่านมา จะมีการอนุรักษ์และบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการ เนื่องด้วยไม่มีฐานข้อมูลต้นไม้ใหญ่ ทำให้ไม่สามารถตรวจเช็กสภาพของต้นไม้ได้ว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ รวมทั้งไม่มีข้อมูลการระบุตำแหน่งพิกัด (GPS) ของต้นไม้ใหญ่ ที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ
“รุกขกร” จึงเป็นกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ ในการดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมืองให้เขียวสมบูรณ์ ธนาคารกรุงไทย กรุงเทพมหานคร (กทม.) สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง และ ภาคีเครือข่าย จึงร่วมมือกันริเริ่ม โครงการรุกขกรอาสา : นวัตกรรมการจัดการพลเมืองอาสา เพื่อดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมือง โดยธนาคารได้นำพนักงานจิตอาสา VVayu Volunteers และประชาชนทั่วไป ลงพื้นที่เก็บข้อมูล เอกซเรย์ต้นไม้ เพื่อประเมินสุขภาพพื้นฐานของต้นไม้ ในพื้นที่เขตวัฒนา ระหว่างสุขุมวิทซอย 1-20 รวมระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ด้วยแบบประเมินความเสี่ยง และบันทึกเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลต้นไม้แบบเปิด (Open Data) ที่เรียกว่า “Treeplotter” ซึ่งมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ได้พัฒนาให้กับกทม. เพื่อใช้ในการตรวจสอบความสมบูรณ์แข็งแรงของต้นไม้ พร้อมระบุที่ตั้ง จัดทำระบบแจ้งเตือน ป้องกันปัญหาการโค่นล้ม และกำหนดแนวทางการบำรุงรักษาต้นไม้ที่ได้รับการบันทึกข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถนำผลประเมินสุขภาพที่ได้มาใช้ในการฟื้นฟูต้นไม้ ตัดกิ่งก้าน ลดน้ำหนัก จัดทำไม้ค้ำยันประคองลำต้น ช่วยฟื้นคืนชีวิตต้นไม้ทุกต้นให้มีอายุยืนยาว สร้างทัศนียภาพที่สวยงาม ป้องกันการโค่นล้ม ที่อาจนำไปสู่อุบัติเหตุบนท้องถนนและในชุมชน
ด้วยเจตนารมณ์ของโครงการในการสร้างสังคมแห่งการมีส่วนร่วม นับเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่นำไปสู่ผลลัพธ์ อันยิ่งใหญ่ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับกทม. หากเกิดผลสำเร็จดังที่คาดหวังไว้ จะสามารถขยายแนวทางการดูแลสุขภาพต้นไม้ใหญ่จากกทม.สู่หัวเมืองใหญ่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นการวางรากสร้างมาตรฐานในการดูแลต้นไม้ ภายใต้แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เป็นรูปธรรมและนำไปสู่ความยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์กรสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 11 SUSTAINABLE CITIES AND COMMUNITIES ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน
ทีม Marketing Strategy
15 กันยายน 2566
แนะนำสำหรับคุณ