ข่าวและประกาศ

กรุงไทยแนะธุรกิจเกษตรและอาหารเร่งปรับตัวรับเทรนด์ Net Zero Emission-คาดต้องใช้เม็ดเงินลงทุนเพิ่ม 7 แสนล้านบาท สร้างหนทางรอดในยุค BCG Economy

อัพเดทวันที่ 13 ม.ค. 2565

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทยชี้ถึงเวลาที่ภาคธุรกิจเกษตรและอาหารของไทยต้องใส่ใจเทรนด์ Net Zero Emission อย่างจริงจัง โดยเฉพาะโจทย์ใหญ่ในมิติด้านการค้า ภายใต้แรงกดดันจากประเทศผู้นำเข้าสำคัญๆ ที่มีแนวโน้มออกกฎระเบียบทางการค้าใหม่ๆ ที่มุ่งเน้นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกหากผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน โดยสินค้าเกษตรและอาหารของไทยกลุ่มแรกๆ ที่ต้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้ ได้แก่ สินค้าปศุสัตว์ และอาหารสัตว์ คาดต้องลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 7 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2020-2050

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า COVID-19 กลายเป็นตัวเร่งที่สร้างแรงกระเพื่อมให้ทั่วโลกต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นเรื่องความยั่งยืน (sustainability) โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจแบบยั่งยืน คือ การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ซึ่งจะทำให้ภาคเกษตรและอาหารซึ่งเป็นต้นตอสำคัญของก๊าซเรือนกระจกต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) อย่างเลี่ยงไม่ได้

“สำหรับประเทศไทยแล้ว หากเราต้องการบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวม ภาคเกษตรและอาหารเป็นสาขาแรกๆ ที่ต้องเร่งปรับตัว เนื่องจากเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับสองรองจากภาคพลังงาน อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ประกอบการเกษตรและอาหารของไทยกลับยังไม่พร้อมรับมือเทรนด์นี้ สะท้อนจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีจำนวนค่อนข้างน้อย อีกทั้งผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยส่วนใหญ่เป็น SMEs ถึง 94% ซึ่งอาจทำให้มีข้อจำกัดในการปรับตัว”

นายอภินันทร์ สู่ประเสริฐ นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ในระยะข้างหน้ามาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ จะเพิ่มความเข้มข้น ทั้งมาตรการที่ส่งผลเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเกษตรและอาหารโดยตรง เช่น นโยบายฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork) การบังคับใช้ฉลากรักษ์โลกในอุตสาหกรรมอาหาร (Eco-labeling) และมาตรการที่มีโอกาสจะขยายวงมาสู่ธุรกิจเกษตรและอาหาร เช่น มาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) และกฎหมายเก็บภาษีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Tax) ซึ่งจะเป็นอุปสรรคทางการค้าต่อผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าปศุสัตว์ และอาหารสัตว์ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเมื่อเทียบกับภาพรวมสินค้าเกษตรด้วยกัน อีกทั้งยังเป็นกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก คิดเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยังทั้งสองตลาดรวมกันสูงถึง 7 หมื่นล้านบาทต่อปี

นางสาวพิมฉัตร เอกฉันท์ นักวิเคราะห์ กล่าวเสริมว่า ไทยยังจำเป็นต้องเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในธุรกิจเกษตรและอาหารอีกอย่างน้อย 7 แสนล้านบาทในช่วงปี 2020-2050 หรือเฉลี่ยปีละ 2.3 หมื่นล้านบาท ได้แก่ การเพิ่มการลงทุนในธุรกิจอาหารที่ทำจากพืช (Plant-based food) การลงทุนในระบบการจัดการปศุสัตว์ รวมถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร เพื่อช่วยลดทอนผลกระทบจากความเสียหายอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจสูงถึง 8.4 หมื่นล้านบาทต่อปี อีกทั้งเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันภายใต้กฎเกณฑ์ทางการค้าใหม่ๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นผู้เล่นหลักใน Ecosystem ของภาคเกษตรและอาหารไทยจะต้องตื่นรับกระแส Net Zero Emission ที่จะไม่ใช่เป็นเพียง “ทางเลือก” แต่จะเป็นเหมือน “ทางรอด” ในยุคที่ BCG Economy กำลังมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจและสังคมโลกมากขึ้นทุกขณะ

ทีม Marketing Strategy
13 มกราคม 2565

ดาวน์โหลด
Road to BCG Economy กระแส Net Zero Emission ตัวแปรสำคัญ เปลี่ยนโลกสินค้าเกษตรและอาหาร? (มกราคม 2565)
Road to BCG Economy กระแส Net Zero Emission ตัวแปรสำคัญ เปลี่ยนโลกสินค้าเกษตรและอาหาร? (มกราคม 2565)
(3.95 MB) PDF
แนะนำสำหรับคุณ