ทำไม SSF ถึงน่าซื้อในปีนี้ และเลือกอย่างไรดีให้ตรงใจ?
หนึ่งในตัวช่วยลดหย่อนภาษีที่น่าสนใจประจำปี 2564 คงหนีไม่พ้นกับกองทุน SSF หรือ กองทุนรวมเพื่อการออม ซึ่งถือว่า กองทุน SSF นี้เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกคน
โดยเงื่อนไขในการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีนั้น มีดังนี้
- ผู้เสียภาษีสามารถซื้อกองทุนรวม SSF ได้สูงสุด 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่ต้องเสียภาษีในแต่ละปี แต่เงินที่ซื้อสูงสุดต้องไม่เกิน 200,000 บาท
- นอกจากนั้นเมื่อนำยอดซื้อกองทุนรวม SSF มารวมกับค่าลดหย่อนในกลุ่มเกษียณ ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) + กบข./กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน + กองทุนการออมแห่งชาติ + ประกันชีวิตแบบบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทอีกด้วย
- หากซื้อ กองทุน SSF ในปีไหนจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีในปีนั้นทันที โดยไม่มีเงื่อนไขให้ซื้อติดต่อกันเหมือนกับ RMF
- เมื่อซื้อแล้ว ต้องถือครองกองทุน SSF เป็นเวลา 10 ปี (เต็ม) นับตั้งแต่วันที่ซื้อกองทุน
ซึ่งถ้าหากใครปฎิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ได้ และขายกองทุนหลังจากที่ครบกำหนดแล้ว กฎหมายยังยกเว้น กำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ให้ไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย
อย่างที่บอกไปว่า กองทุน SSF มีหลายระดับความเสี่ยงให้เลือกลงทุนตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำไปจนถึงความเสี่ยงสูง และยังให้สิทธิ์ในการสับเปลี่ยนกองทุนได้ตลอด (การสับเปลี่ยนในกลุ่มกองทุน SSF ไม่ถือเป็นการขายและซื้อหน่วยลงทุนใหม่) หากไม่พอใจกับผลการดำเนินงานของบลจ. ที่ลงทุนอยู่ในปัจจุบัน
จะเห็นว่าเงื่อนไขของการลงทุนในกองทุน SSF นั้นเหมาะกับการถือครองในระยะยาว ซึ่งนอกจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว สิ่งที่ได้เพิ่มเติมจากการลงทุน คือ ผลตอบแทนนั่นเอง
อีกเหตุผลสำคัญที่ กองทุน SSF เป็นกองทุนที่น่าลงทุนในปีนี้ ก็เพราะว่ามันถูกออกแบบมาให้สำหรับคนที่เป้าหมายในระยะยาว (10 ปีขึ้นไป) โดยที่ไม่ไปรวมกับส่วนที่เป็นการลงทุนเพื่อการเกษียณอย่าง RMF เช่น กลุ่มเด็กจบใหม่ หรือ กลุ่มที่เริ่มทำงาน ที่ต้องการเก็บเงินตามเป้าหมายในระยะ 10 ปีขึ้นไป เพื่อรองรับอนาคตข้างหน้า หรืออาจจะเป็นกลุ่มที่ต้องการเก็บเงินแยกออกจากเงินเกษียณตามวัตถุประสงค์ด้านอื่นๆ เพราะข้อดีของกองทุน SSF คือ เราไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี แค่ซื้อแล้วต้องถือครองตามเวลาที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
อย่างไรก็ดี นอกจากจะเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่ว่ามาแล้ว ยังมีเทคนิคเลือกกองทุน SSF ให้โดนใจแบบง่ายๆ มาฝากกันด้วย โดยใช้หลักการ 3 ข้อดังนี้
1. ถามความต้องการของตัวเองก่อน นั่นคือ เป้าหมายในการลดหย่อนภาษี และ ลงทุนระยะยาว 10 ปีขึ้นไป พร้อมกับกระแสเงินสด (สภาพคล่อง) ในแต่ละปี ถ้าหากตอบคำถามตัวเองได้ว่า ในเมื่อเราเสียภาษี และมีเงินอยู่ พร้อมที่จะลงทุนตามเป้าหมายที่วางไว้ข้างหน้าอย่างน้อย 10 ปี กองทุน SSF นี้ก็อาจจะเป็นคำตอบที่น่าสนใจ
2. ประเมินผลตอบแทน ความเสี่ยง และสไตล์การลงทุนของกองทุนที่เหมาะกับเรา ทั้งเรื่องการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ หุ้น ทองคำ หรือ แบบผสมผสานการลงทุนในหลายสินทรัพย์ ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสมในแต่ละระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งถ้าหากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน พร้อมกับประเมินความเสี่ยงไว้ครบถ้วนแล้ว การเลือกสินทรัพย์ลงทุนก็จะยิ่งง่ายขึ้นไปอีก
3. พิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าธรรมเนียม เงินปันผล ผลตอบแทนที่ผ่านมา โดยปัจจัยในการพิจารณาอยู่ที่น้ำหนักของแต่ละคนที่ให้กับเรื่องนั้น ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมเหมาะสมกับผลการดำเนินงานหรือไม่ เราอยากได้รับเงินปันผลเป็นกระแสเงินสดมาเรื่อย ๆ หรือไม่ (แต่ต้องแลกกับการเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10%) ไปจนถึงผลการดำเนินงานของกองทุนที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ เนื่องจากกองทุน SSF บางกองเป็นกองที่มีนโยบายการลงทุนเหมือนกับกองทุนเดิมของ บลจ. ซึ่งตรงนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ควรนำมาพิจารณาด้วยว่าเราให้น้ำหนักกับเรื่องไหนเป็นพิเศษหรือไม่
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนการตัดสินใจลงทุน ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือหนังสือชี้ชวนได้ที่ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา