เรียนรู้การเงิน

ทำอย่างไร ถึงจะมีเงินใช้จ่ายหลังเกษียณเดือนละ 50,000 บาท

อัพเดทวันที่ 3 ก.ย. 2563

       การวางแผนการเงินสำหรับวัยเกษียณเป็นเรื่องสำคัญของทุกคน เพราะไม่ว่าใครก็อยากมีชีวิตหลังเกษียณที่สุขสบาย มีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่ายเพื่อดำรงชีวิตและตอบสนองความต้องการของตัวเอง ซึ่งขั้นตอนแรกสำหรับการวางแผนก็คือ “กำหนดจำนวนเงินเป้าหมาย” ที่ต้องทยอยสะสมและลงทุนในช่วงเวลาที่ทำงานหารายได้

โดยปกติการกำหนดจำนวนเงินเป้าหมายจะคำนวณได้โดย

[ค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ต้องการ x 12 (หน่วย:บาท)] x ระยะเวลาที่คาดว่าจะใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ (หน่วย:ปี)

เช่น อยากมีเงินใช้เดือนละ 50,000 บาทหลังเกษียณตอนอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่จนถึง 85 ปี จำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องมีคือ 50,000 x 12 x 25 = 15,000,000 บาท

ดูเหมือนจะง่าย แต่ในความเป็นจริง เราทุกคนต้องเจอกับปรากฏการณ์ “เงินเฟ้อ” ที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจและการเงิน โดยเงินเฟ้อจะทำให้มูลค่าเงินในอนาคตลดน้อยลงเมื่อเทียบกับปัจจุบัน เช่นเมื่อ 20 ปีที่แล้วราคาก๋วยเตี๋ยวที่ตั้งอยู่หน้าปากซอยแปะป้ายราคาไว้ที่ 20 บาทต่อชาม แต่ปัจจุบันก๋วยเตี๋ยวชามเดิมปริมาณเท่าเดิมรสมือพ่อค้าคนเดิมกลับมีราคาอยู่ที่ 40 บาท สิ่งที่ทำให้ราคาก๋วยเตี๋ยวเพิ่มสูงขึ้นเป็นสองเท่าตัวก็คือเงินเฟ้อนี่เอง

ดังนั้นจำนวนเงินสำหรับการเกษียณที่ตั้งใจจะใช้จ่าย 50,000 บาทที่คำนวณได้ในปัจจุบัน จะต้องนำผลกระทบของเงินเฟ้อไปรวมคำนวณด้วย หากปัจจุบันเราอายุ 30 ปี แล้วตั้งใจจะเกษียณตอน 60 ปี แปลว่าเรามีเวลาสำหรับเตรียมเงินก้อนนี้อีก 30 ปี และอีก 25 ปีสำหรับใช้จ่ายเงินที่เตรียมไว้  รวมเป็น 55 ปีที่ต้องวางแผนสะสมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณและสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ด้วยพร้อมกัน

หากรวมอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.00% ต่อปีเข้าไป ค่าใช้จ่ายของวัยเกษียณเดือนละ 50,000 บาทในระยะเวลา 25 ปี จาก 15 ล้านบาท โดยประมาณจะกลายเป็น 40 ล้านบาทในทันที [คำนวณด้วยการแทนค่าในสูตรการคำนวณเงินในอนาคต FV = (PV x 1+i)n] เพราะกรอบการเคลื่อนไหวอัตราเงินเฟ้อที่ควรจะเป็นอยู่ที่ 1.50-3.0% ต่อปีตามความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

เห็นจำนวนเงินเยอะขนาดนี้...หลายคนอาจคิดว่ามันเยอะเกินไป คงเป็นไปได้ยากที่จะเตรียมเงินมากมายมหาศาลก้อนนี้ แต่อย่าลืมว่าเรามีเวลาให้เตรียมตัวสำหรับเกษียณอีก 30 ปี ถ้าอยากเกษียณด้วยเป้าหมายการใช้เงิน 50,000 บาทต่อเดือนเหมือนเดิม ต้องลงทุนให้ได้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ

โดยสามารถเลือกใช้วิธีการลงทุนได้ 3 แบบ

แบบแรก คือใช้เงินต้นที่ลงทุนไว้เพื่อการใช้จ่าย วิธีนี้ต้องเตรียมเงินให้ได้ 46 ล้านบาทก่อนอายุ 60 ปี แล้วใช้เงินก้อนนี้เพื่อดำรงชีวิตตามแบบที่ต้องการ ซึ่งต้องใช้ความพยายามในการออมเงินและทำผลตอบแทนมากในเวลาที่จำกัด เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายหากเริ่มจากศูนย์

แบบที่สอง ใช้ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ในการใช้จ่ายในแต่ละปี ค่าใช้จ่าย 50,000 บาทต่อเดือนคิดเป็นจำนวนเงินรายปีที่ 600,000 บาท เมื่อรวมเงินเฟ้อ 2.00% ในอนาคตจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1-2 ล้านบาทต่อปี หากสามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีได้ 5% แปลว่าจำนวนเงินต้นที่ต้องเตรียมก่อนอายุ 60 คือ 20-40 ล้านบาท แต่ถ้าศึกษาหาความรู้จนสามารถลงทุนทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ 10% ต่อปีก็จะใช้เงินต้นเพียง 10-20 ล้านบาท ซึ่งดูง่ายกว่าวิธีแรก

แบบที่สาม ใช้ทั้งสองวิธีผสมกัน คือ หาสินทรัพย์ที่จ่ายผลตอบแทนประจำไปพร้อมกับใช้เงินก้อนที่สะสมไว้ก่อนเกษียณ ด้วยการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายและกระจายความเสี่ยง วิธีนี้จะง่ายขึ้นหากเราเตรียมเงินไม่ทันก่อนวัยเกษียณก็ยังพอมีรายรับบางส่วนจากผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่จ่ายออกมาเป็นรายได้ประจำอยู่บ้าง

สิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ตัวเองสามารถวางแผนเกษียณแล้วมีเงินใช้ 50,000 บาทต่อเดือน แต่อยู่ที่ว่าเรามีความจำเป็นในการใช้จ่ายต่อเดือนมากน้อยแค่ไหน เพราะจำนวนเงิน 50,000 บาทต่อเดือนอาจจะเป็นตัวเลขที่มากเกินความจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในวัยเกษียณของหลายคน ทุกคนควรตามหาตัวเลขที่เหมาะสมสำหรับชีวิตตัวเอง เพื่อให้การวางแผนเกษียณเป็นไปอย่างมีความสุข ไม่กดดันตัวเอง หรือละทิ้งความสุขจากการใช้จ่ายในด้านอื่นมากเกินไป

เลือกเก็บออมทุกเดือนจากรายได้ จากวันนี้จนถึงวันเกษียณ กับ เงินฝาก Krungthai Zero Tax Max คลิก

หรือทยอยสะสมเงินลงทุน กับ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) วางแผนการออม พร้อมการลงทุนเพื่อความมั่งคั่งและมั่นคงยามเกษียณอายุ ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอหนังสือชี้ชวน ได้ที่ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา