เรียนรู้การเงิน

ทำไมการลงทุนแบบ DCA ถึงเหมาะกับมนุษย์เงินเดือน

อัพเดทวันที่ 6 ส.ค. 2563

ในสมัยก่อนหากพูดถึงการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวม หลายๆคนก็คงมองว่าเป็นเรื่องของคนรวยหรือคนที่มีเงินเป็นถุงเป็นถังถึงจะสามารถนำไปซื้อหลักทรัพย์ต่างๆ เพื่อสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับตัวเองได้ 

แต่ในปัจจุบันการลงทุนเป็นสิ่งที่หลายๆ คนให้ความสนใจ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ จึงทำให้คนจำนวนมากมองหาทางเลือกอื่นๆ โดยเฉพาะการนำเงินออมที่มีไปรับความเสี่ยงเพิ่มด้วยการลงทุน เพื่อคาดหวังว่าในอนาคตจะได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น 

ทั้งนี้การให้บริการนักลงทุนในสมัยนี้ก็ง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน เราสามารถลงทุนได้โดยเริ่มจากเงินจำนวนน้อยๆได้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้นเริ่มต้นที่ 1,000 บาท หรือในรูปแบบกองทุนรวมก็มีหลายๆกองทุนที่สามารถเริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ 1 บาท 500 บาท และ 1,000 บาทขึ้นไป

หากเป็นมนุษย์เงินเดือนควรลงทุนอย่างไร?

โดยปกติแล้วธรรมชาติของมนุษย์เงินเดือนนั้น เป็นอาชีพที่ต้องให้เวลาไปกับงานประจำ ไม่มีเวลามากๆที่เฝ้าหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลาเพื่อจับจังหวะเก็งกำไรในการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างวัน 

อีกทั้งมนุษย์เงินเดือนส่วนมากไม่ได้มีเงินก้อนขนาดใหญ่ที่จะนำมาลงทุนได้ทันที แต่จะต้องทยอยสะสมเงินที่ได้จากการทำงานเก็บรวบรวมเป็นทุนเอาไว้เพื่อต่อยอดในการไปสู่เป้าหมายทางการเงินที่วางแผนไว้

ดังนั้น วิธีการที่มนุษย์เงินเดือนสามารถเริ่มต้นการลงทุนได้ โดยใช้เวลาไม่มากต่อเดือน สามารถสร้างผลตอบแทนที่ได้มากกว่าเงินฝาก และทยอยลงทุนในหลักทรัพย์ได้เลยโดยไม่ต้องสะสมเงินเป็นก้อนให้ครบก่อนนั้น คือการลงทุนแบบ Dollar Cost Average หรือ DCA ซึ่งเรียกกันอย่างง่ายๆในหมู่นักลงทุนว่า การออมหุ้น หรือ การออมหน่วยลงทุนในกองทุนรวม 

การลงทุนแบบ DCA นั้นเป็นการลงทุนเท่ากันในทุกๆเดือนในหุ้นและกองทุนรวมที่สนใจและวิเคราะห์มาแล้วว่ามีโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้ ข้อดีของวิธีการนี้คือการสร้างวินัยในการลงทุน ไม่ต้องจับจังหวะการลงทุนและเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาดูราคาหุ้นตลอดเวลา

มนุษย์เงินเดือนอยากจะลงทุนแบบ DCA ต้องทำอย่างไร

แนวคิดของการลงทุนแบบ DCA นั้น เราจะใช้แนวคิดการสะสมความมั่งคั่งด้วยการออม แต่เปลี่ยนจากการออมเงินมาเป็นการทยอยสะสมด้วยการซื้อทรัพย์สินการลงทุนต่างๆ แน่นอนว่าการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวมนั้นมีความเสี่ยง ก่อนลงทุนจึงต้องศึกษาและเข้าใจข้อมูลหุ้นและกองทุนที่สนใจ นอกจากนี้เราควรจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงไปในทรัพย์สินต่างๆให้เหมาะสมอีกด้วย

เมื่อมนุษย์เงินเดือนได้ศึกษาข้อมูลหลักทรัพย์และความเสี่ยงต่างๆ เพื่อนำมาจัดพอร์การลงทุนแล้วก็จะต้องกำหนดแผนการลงทุน ได้แก่

  • จำนวนเงินที่เราจะแบ่งมาลงทุนในแต่ละเดือน เช่น เดือนละ 5,000 บาท
  • หลักทรัพย์ที่เราจะลงทุน ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือกองทุนที่เราสนใจ
  • รอบของการลงทุนในแต่ละเดือน เช่น ให้มีการลงทุนทุกวันที่ 25 , 30 หรือ 1 ของเดือน หรือวันถักไปจากวันที่เงินเดือนออก

เมื่อกำหนดแผนได้แล้วก็ดำเนินการลงทุนอย่างมีวินัย รวมถึงคอยติดตามผลการดำเนินงานของหลักทรัพย์ที่ลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงพอร์ทการลงทุนให้มีประสิทธิภาพ และหากมีโบนัสหรือได้รับการปรับเงินเดือนขึ้นในปีต่อไป ก็อาจจะแบ่งเงินมาลงทุนให้มากขึ้นได้เช่นกัน

การลงทุนแบบ DCA จะสร้างความมั่งคั่งให้มนุษย์เงินเดือนอย่างไร

หากเรามาดูราคาหุ้นและกองทุนรวมแล้วจะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน ในวันที่ตลาดสดใสก็จะราคาขึ้นและในวันที่มีข่าวร้ายๆราคาก็จะลง การซื้อขายหลักทรัพย์ในแต่ละวันนั้น จึงมีเรื่องของอารมณ์มาประกอบ ไม่มีใครรู้ว่าราคาไหนที่ดีที่สุด กลัวซื้อแล้วขาดทุน

การลงทุนแบบ DCA จึงเข้ามาช่วยให้มนุษย์เงินเดือนได้กำหนดวันซื้อในแต่ละเดือนซึ่งจะช่วยกำจัดอารมณ์ต่างๆในการลงทุนได้ โดยจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดว่าเรากำลังลงทุนในทรัพย์สินที่ดีและมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว แต่ในระยะสั้นหากราคาปรับตัวลง ด้วยเงินจำนวนเท่าเดิมจะสามารถซื้อสะสมหลักทรัพย์ได้มากขึ้น พูดง่ายๆก็คือซื้อของดีในราคาถูก

ในตารางนี้เป็นแบบจำลอง หากมีการซื้อหลักทรัพย์ด้วยเงินจำนวน 5,000 บาททุกเดือน โดยเริ่มจากเดือนแรกที่ 10 บาท ในช่วงเดือนที่ 3 จะเห็นได้ว่าราคาหลักทรัพย์เหลือ 8 บาท แต่ทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมสามารถซื้อหลักทรัพย์ได้มากขึ้นถึง 625 หน่วย ในทางตรงข้ามเราจะซื้อได้น้อยลงเมื่อราคาปรับตัวขึ้น แต่มูลค่าพอร์ตการลงทุนของเราก็จะเพิ่มตามเช่นกัน

ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปเราจะทยอยสะสมหลักทรัพย์ได้มากขึ้น จากตารางตัวอย่างจะเห็นว่า ต้นทุนรวมทั้งหมดคือ 60,000 บาท และ ได้หลักทรัพย์จำนวน 5,484 หน่วย คิดเป็นต้นทุนเฉลี่ย 10.94

หากมาดูกราฟข้างล่างนี้จะเห็นได้ว่า การลงทุนแบบ DCA นั้นมีความได้เปรียบในการลงทุนในระยะยาว เมื่อหุ้นลงจะซื้อหุ้นได้มากขึ้น เมื่อหุ้นขึ้นจะจำกัดจำนวนที่ซื้อแต่มูลค่าพอร์ตการลงทุนปรับตัวตาม ทำให้นักลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้ ผลต่างระหว่างต้นทุนเฉลี่ยที่ซื้อกับราคาหลักทรัพย์ที่ขายในท้องตลาดก็คือกำไรที่เราจะได้รับ

ในกรณีตัวอย่างดังกล่าว หากในปัจจุบันราคาหลักทรัพย์อยู่ที่ 13 บาท โดยที่เรามีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 10.94 บาท จะได้กำไรต่อหน่วยคือ 2.06 บาท จากตารางเราสะสมไว้ 5,484 หน่วย หากขายหลักทรัพย์ไปไปจะได้กำไรทั้งสิ้น 11,297.04 บาท พร้อมเงินลงทุนคืนมา 60,000 บาท

DCA จึงเป็นวิธีการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับมนุษย์เงินเดือนเป็นอย่างมากเพราะช่วยสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว ใช้เป็นวิธีการลงทุนเพื่อเป้าหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายเกษียณ การสร้างมรดกให้ลูกหลาน การซื้อทรัพย์สินต่างๆในอนาคต ที่สำคัญไม่ต้องเฝ้าหน้าจอและใช้แนวคิดการทยอยสะสมจนเกิดความสำเร็จ

สนใจการลงทุนฉบับมนุษย์เงินเดือน เริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้ กองทุนรวม KTAM แนะนำ DCA ระยะยาวเพื่อวางแผนเกษียณพร้อมกับการวางแผนประหยัดภาษีในตัว ผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF)

กองทุนเปิดกรุงไทย ก่อการดี เพื่อการเลี้ยงชีพ (KT-ESG RMF)

กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ เฮลธ์แคร์ ฟันด์ เพื่อการเลี้ยงชีพ (KT-HEALTHC RMF)

เงื่อนไขทางภาษีเป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนในกองทุน SSF และความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนการตัดสินใจลงทุน ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือหนังสือชี้ชวนได้ที่ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา