เรียนรู้การเงิน

ธุรกิจติดจรวด สู่ ‘New Normal’ อย่างไรให้ปังกว่าเดิม

อัพเดทวันที่ 16 ก.ค. 2563

       ธุรกิจขนาดกลางหรือ SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดกลุ่มหนึ่งจากวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจที่เน้นขายหน้าร้านเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเกิดขึ้น จึงทำให้การทำธุรกิจแบบเดิมต้องหยุดชะงักลง แต่ก็มีหลายร้านที่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดี จนพลิกฟื้นวิกฤตกลายเป็นโอกาสได้สำเร็จ ซึ่งเราได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 4 ร้าน ว่าด้วยแนวทางการปรับตัว และการมองอนาคตของธุรกิจต่อจากนี้ 

SKIP

ร้าน Skip ที่ปกติเน้นขายหน้าร้านก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม ทางร้านจึงหันมาเพิ่มช่องทางการขายผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น โดยใช้ช่องทางทั้ง Facebook, Line official account และแอปพลิเคชั่นเดลิเวอรี อาทิเช่น Grab, Line man และ Get เป็นต้น ซึ่งหลังจากต้องปิดหน้าร้านลงชั่วคราวทางร้านก็ทำการแจ้งลูกค้าเก่าก่อนว่า จะมีการเพิ่มช่องทางการขายอย่างไรบ้าง รวมถึงเพิ่มกลยุทธ์ลงโฆษณาผ่าน Facebook ads ด้วยรัศมีที่กว้างและไกลขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้ลูกค้าเห็นร้านมากขึ้น จากตรงนี้เองทางร้านบอกว่า ทำให้ยอดขายทางเดลิเวอรีเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 70 เลยทีเดียว

ทางร้านมองว่า วิกฤตโควิด-19 ทำให้การทำธุรกิจต่อจากนี้ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนใหม่หมด การส่งอาหารเดลิเวอรีถึงหน้าบ้านลูกค้าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำต่อไป รวมถึงความรวดเร็ว และคุณภาพสินค้าที่จะทำอย่างไรให้ลูกค้าได้รับประทานอาหารสดใหม่เหมือนมานั่งทานที่ร้าน ซึ่งทางร้านถือคติว่า “ใส่ใจลูกค้า เหมือนญาติสนิท” ฉะนั้น คุณภาพความอร่อยสดใหม่จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้เสมอต้นเสมอปลายมากที่สุด

Tay Juice & Bake Me happy

ไปที่ร้านขายน้ำส้มกันบ้าง เดิมที Tay Juice เน้นขายปลีกทางหน้าร้านมากกว่าขายส่ง แต่พอเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสมากขึ้น เมื่อหน้าร้านต้องปิดตัวลง เจ้าของร้านจึงตัดสินใจขายน้ำส้มทางออนไลน์ และมีการจับคู่ขายกับข้าวมันไก่ที่ทางร้านขายอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งปรากฎว่า การเปลี่ยนมาขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้รับผลตอบรับที่ดีเกินคาด จากแต่ก่อนที่มียอดขายเฉลี่ยต่อเดือนร้อยละ 40-50 พอปรับตัวมาเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ยอดขายเฉลี่ยพุ่งไปอยู่ที่ร้อยละ 70 ต่อเดือน คิดเป็นเงินที่เพิ่มขึ้นราวๆ 4,000-5,000 บาท จากนั้นก็มีการเปิดรับตัวแทนจำหน่ายน้ำส้มเพิ่มเติมร่วมด้วย ซึ่งปัจจุบันมีตัวแทนจำหน่าย 5 รายแล้ว

ส่วนเทคนิคการขายที่เพิ่มเติมขึ้นมาทางร้านบอกว่า เธอให้รายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนการทำน้ำส้มกับลูกค้าด้วย อย่างวิธีการเลือกผลส้ม การล้างทำความสะอาดก่อนนำมาคั้น และการผลิตน้ำส้มคั้นแบบวันต่อวัน เป็นที่มาของคติประจำใจที่ทางร้านถือว่า “ทุกครั้งที่ทำทำดีที่สุด ทุกครั้งที่ทำ ทำสุดชีวิต”

Happy.Chaa

“We Bubble Together” คือ สโลแกนน่ารักๆ ของร้าน Happy.Chaa ซึ่งทางร้านเล่าให้เราฟังว่า ธุรกิจนี้มีจุดเริ่มต้นจากความชอบของครอบครัว ที่จะมีการทำชานมไข่มุกดื่มด้วยกันสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จากนั้นจึงเริ่มทำเป็นธุรกิจเล็กๆ ขายตามงานโรงเรียน หรือในกลุ่มเพื่อน แต่ภายหลังวิกฤตโควิด-19 Happy.Chaa ได้ตัดสินใจพลิกวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาส ด้วยการมุ่งหน้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ขายผ่านทาง facebook, instagram และ line official account ทำให้ Happy.Chaa มียอดขายเพิ่มขึ้นจากก่อนวิกฤตโควิด-19 กว่าร้อยละ 50 จนปัจจุบันได้มีกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จนต้องมีการเปิด-ปิดรับออเดอร์เป็นรอบวันต่อวันกันเลย

สำหรับกลยุทธ์สำคัญคือ ทางร้านจะเป็นผู้ให้บริการเดลิเวอรีด้วยตัวเองเพราะทำให้ได้พบปะกับลูกค้า พร้อมรับฟีดแบ็คโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคด้วย

Monk Supple City

มาถึงร้านสุดท้ายกับร้านขายสังฆภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบหนักเหมือนกัน เพราะส่วนใหญ่แล้วเครื่องสังฆภัณฑ์จะขายดีในช่วงหน้าเทศกาลอย่างปีใหม่, สงกรานต์, เข้าพรรษา เป็นต้น แต่จากการแพร่ระบาดของไวรัสก็ทำให้วันสงกรานต์ถูกเลื่อนออกไป หรือกระทั่งการงดเว้นกิจกรรมที่ต้องมีการรวมตัวกันมากๆ ก็มีผลทำให้ยอดขายลดลงไปพอสมควร

จากเหตุการณ์นี้ทางร้านเริ่มปรับตัวด้วยการสอนวิธีการขายของผ่านช่องทางออนไลน์ให้กับพนักงานได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน รวมถึงไอเดียในการสร้างแบรนด์ลูกขายผ่านช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความแตกต่างจากแบรนด์หลักในส่วนของราคาสินค้าที่ลดลงนั่นเอง ซึ่งส่งผลให้กำไรโตขึ้นประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์จากยอดออนไลน์ของเดิม ทาง Monk Supple City มองว่า ตัวแบรนด์ลูกที่ถูกลงจะช่วยให้ร้านไม่ต้องเจ็บตัวจากสภาวะวิกฤตเช่นนี้มากนัก รวมถึงเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่คนอาจจะจับจ่ายน้อยลง เอื้อให้ชาวพุทธที่มีใจอยากทำบุญได้ทำบุญไม่รู้สึกเดือดร้อนกับเงินในกระเป๋า ตรงกับคอนเซปต์ที่ทางร้านยึดถือคือ “การขายเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ที่เข้ามา” รายรับของทางร้านจึงไม่ได้คำนึงถึงกำไรให้ตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงความสบายใจของลูกค้าสายบุญด้วย

นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของธุรกิจขนาดเล็กที่มีการปรับตัวไปตามสถานการณ์วิกฤตกันมากขึ้น แม้ว่าช่วงเวลาแบบนี้จะนำมาซึ่งความยากลำบากให้กับทุกคน แต่เราก็เชื่ออีกเหมือนกันว่า ทุกวิกฤตย่อมมีแสงสว่างเล็กๆ รอเราคว้าโอกาสเหล้านั้นไว้อยู่เสมอ ธนาคารกรุงไทยพร้อมสนับสนุนทุกธุรกิจ SMEs ฝ่าวิกฤตครั้งนี้ ด้วยดอกเบี้ยเงินกู้อัตราพิเศษ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก หรือติดต่อธนาคารกรุงไทยทุกสาขา