เรียนรู้การเงิน

เงินสำรองฉุกเฉินคืออะไร ควรมีเงินสำรองเท่าไหร่ดีที่สุด

อัพเดทวันที่ 10 ก.ค. 2563

เงินสำรองฉุกเฉินคืออะไร ควรมีเงินสำรองเท่าไหร่ดีที่สุด

วิกฤตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตขนาดใหญ่ที่เกิดจากเศรษฐกิจ การชุมนุมประท้วงทางการเมือง ก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ และล่าสุดที่ทุกคนได้พบร่วมกันคือ โรคระบาดจากไวรัสโคโรน่า (Covid-19) นอกจากนี้ชีวิตเราอาจจะเกิดวิกฤตในระดับครอบครัวหรือส่วนตัวก็ได้เช่นเดียวกัน เช่น การเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ทำงานไม่ได้ หรือการถูกเลิกจ้างโดยไม่คาดฝัน

ไม่ว่าวิกฤตนั้นๆจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กก็ตาม แต่ผลที่ตามมานั้นก็สามารถสร้างปัญหาทางการเงินให้กับทุกๆคนได้ โดยเฉพาะเมื่อส่งผลกระทบที่ทำให้เราขาดรายได้ แต่ยังมีค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในแต่ละเดือนอยู่ เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งที่เราต้องเตรียมพร้อมให้ดีก็คือ การมีเงินสำรองฉุกเฉิน

เงินสำรองฉุกเฉินคืออะไร?

เงินฉุกเฉิน คือเงินที่มีสภาพคล่องสูง สามารถเบิกถอนนำมาใช้ได้ง่าย รวดเร็ว หากเราต้องการใช้จ่ายทันที เช่น เงินสดที่ฝากไว้กับทางธนาคาร หรืออาจจะเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ สภาพคล่องสูงและสามารถนำมาใช้จ่ายได้ภายในระยะเวลา 1-2 วัน เช่น หน่วยลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น หน่วยลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน

เงินฉุกเฉินควรสำรองเอาไว้เท่าไร?

สิ่งแรกที่เราจะต้องทำก็คือการประเมินค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของตัวเอง โดยตั้งสมมติฐานว่า หากเราไม่มีรายได้ 1 เดือนนั้นจะเจอค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง โดยพิจารณาค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตก่อน ตัวอย่างเช่น

ค่าใช้จ่ายส่วนตัวเรา เดือนละ 12,000 บาท

ค่าใช้จ่ายที่บ้านและครอบครัว เดือนละ 5,000 บาท

หนี้สินที่ต้องชำระในแต่ละเดือน เดือนละ 2,000 บาท

ค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน เดือนละ 1,000 บาท

เมื่อเราประเมินค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของเราแล้ว จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า เราจะต้องมีเงินฉุกเฉินสำรองเดือนละ 20,000 บาท เพื่อให้เราอยู่รอดได้หากเกิดวิกฤตต่างๆที่ทำให้เราไม่สามารถมีรายได้ได้ในช่วงเวลานั้น

สำรองเงินฉุกเฉินเอาไว้เผื่อกี่เดือนดี?

เงินฉุกเฉิน ควรเตรียมเผื่อไว้กี่เดือนดีที่สุด

แน่นอนว่าการสำรองเงินฉุกเฉินนั้นไม่ควรมีเพียงแค่ 1 เดือนเพราะหากเกิดวิกฤตต่างๆในชีวิตขึ้นมา บางครั้งต้องใช้เวลาฟื้นตัวที่ยาวนานกว่านั้น ในทางตรงข้ามก็ไม่ควรมีการสำรองเงินมากจนเกินไปเพราะจะทำให้เสียโอกาสที่จะนำเงินออมไปใช้ในการลงทุนระยะยาวที่ทำให้เงินงอกเงยมากกว่า

จำนวนเงินที่เราควรจะเผื่อเอาไว้ในการสำรองเป็นเงินฉุกเฉินนั้นขึ้นอยู่กับความเสี่ยงและความมั่นคงในอาชีพต่างๆ หรือ ขึ้นอยู่กับการประเมิน ประสบการณ์และมุมมองในการจัดการทางการเงินของตัวเอง ตัวอย่างเช่น

อาชีพข้าราชการ : เป็นอาชีพที่มีความมั่นคงสูงเพราะมีรายได้เป็นเงินประจำจากรัฐบาล แม้ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำหรือเกิดวิกฤตต่างๆขึ้นมา ก็มักจะไม่ได้รับผลกระทบมาก การสำรองเงินฉุกเฉินจึงกำหนดได้ในระดับต่ำ เช่น สำรองเงินฉุกเฉินเอาไว้ 1-3 เดือน

วางแผนสำรองเงินฉุกเฉิน เพื่อความปลอดภัย

กรณีที่เรามีค่าใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ก็ควรมีเงินฉุกเฉินไว้ 20,000 - 60,000 บาท

อาชีพพนักงานเอกชน : เป็นอาชีพที่มีความมั่นคงรองลงมาจากอาชีพราชการ ได้รายได้เป็นเงินเดือนประจำที่ค่อนข้างแน่นอน แต่เมื่อเกิดวิกฤตต่างๆที่ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบในเรื่องของรายได้ก็มีโอกาสถูกให้ออกจากงาน ต้องหางานใหม่ จึงควรสำรองเงินฉุกเฉินในระหว่างหางานทำมากขึ้น เช่น ประมาณ 3-6 เดือน

กรณีที่เรามีค่าใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ก็ควรมีเงินฉุกเฉินไว้ 60,000 - 120,000 บาท

อาชีพอิสระหรือ Freelance : เป็นอาชีพที่เราจะต้องเป็นนายตัวเอง รายได้ขึ้นอยู่กับความสามารถและปริมาณงานที่ทำ ซึ่งหากเกิดวิกฤตขึ้นมาจะเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด อาจจะตกงานได้ยาวจนกว่าวิกฤตจะคลี่คลายหรือจนกว่าจะผันตัวไปทำงานอย่างอื่น การทำอาชีพอิสระนั้นจึงควรมีเงินสำรองสูงที่สุด เช่น 6 - 12 เดือน

กรณีที่เรามีค่าใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ก็ควรมีเงินฉุกเฉินไว้ 120,000 - 240,000 บาท

โดยสรุปจะเห็นได้ว่าเงินฉุกเฉินเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเตรียมพร้อมเอาไว้เพื่อรองรับวิกฤตต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างไม่คาดฝัน เริ่มต้นจากการคำนวณค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน และพิจารณาความมั่นคงของอาชีพที่ทำเพื่อกำหนดว่าจะต้องสำรองเงินยาวนานแค่ไหนให้เหมาะสมกับตัวเอง

หากสนใจสำรองเงินฉุกเฉิน สามารถเรียนรู้วิธีเปิดบัญชีออนไลน์สำหรับบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี (Krungthai Zero Tax Max) ที่ได้ดอกเบี้ยมากกว่าบัญชีเงินฝากประจำทั่วไป ออมแบบง่าย ๆ ทุกเดือน ไม่ต้องเสียภาษี รับดอกเบี้ยสูงสุด 1.55% ต่อปี* (เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง) หรือ ลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน หรือ กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น กองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ระยะสั้น พลัส (ชนิดสะสมมูลค่า) (KTSTPLUS-A) กับ ธนาคารกรุงไทย
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ขอข้อมูลเพิ่มเติมหรือหนังสือชี้ชวนได้ที่ ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา หรือคลิก