เรียนรู้การเงิน

5 วิธีปรับตัว SMEs ไทย ชนะได้ทุกวิกฤต

อัปเดตวันที่ 15 พ.ค. 2563

คำแนะนำ สำหรับ SMEs ไทย พาธุรกิจชนะได้ทุกวิกฤต

สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกรวมถึงในไทยตอนนี้ส่งผลกระทบถึงผู้คนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคธุรกิจที่ต้องชะลอการลงทุนและการผลิตออกไปก่อน สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีสายป่านกระแสเงินสดยาวหน่อยก็อาจจะหาทางอยู่รอดไปได้หลายเดือน แต่ธุรกิจ SMEs ที่ยังต้องพึ่งพาตลาดและการหมุนเงินในธุรกิจค่อนข้างมากนั้น เมื่อเศรษฐกิจหยุดชะงักภาคธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้จึงได้รับผลกระทบที่รุนแรงมาก

ล่าสุดมีการเปิดเผยผลสำรวจออกมาว่า ผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจครั้งนี้อาจอยู่ที่ราวๆ 11,000 ล้านบาท กระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs กว่า 1.33 ล้านราย คิดเป็นจำนวน 44% ของธุรกิจ SMEs ทั้งหมด และอาจมีแรงงานเสี่ยงตกงานจากวิกฤตครั้งนี้ 4 ล้านคน แต่หากสถานการณ์ยังทรงตัวอยู่แบบนี้ ไปจนถึงสิ้นปีนี้ และปีหน้า ธุรกิจ SMEs อาจสูญเสียรายได้กว่า 3.5 แสนล้านบาท

ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจยังต้องชะลอตัวออกไปก่อนแบบไม่มีกำหนด SMEs ไทยจะมีวิธีการปรับตัวและเอาชนะได้อย่างไรบ้าง วันนี้เรามีคำแนะนำดีๆ มาฝากกัน

1. ลดค่าใช้จ่ายและรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน

ด้วยความที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กไม่ได้มีเงินสดหมุนเวียนในระบบมาก เมื่อเกิดวิกฤตลักษณะนี้สิ่งแรกที่ SMEs ต้องปรับลดเพื่อหาทางรอดก็คือ การตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน นำบัญชีรายรับรายจ่ายมากางดูอย่างละเอียดว่าจุดไหนที่สามารถตัดออกไปได้ โดยการตัดสินใจครั้งนี้ถ้ากระทบกับลูกจ้างและพนักงาน นายจ้างเองต้องพูดคุยทำความเข้าใจเพื่อหาทางออกร่วมกันด้วย อาจเป็นการลดวันทำงานลง ลดเงินเดือนด้วยเปอร์เซนต์ที่ไม่มากจนเกินไป เรียกว่าเป็นการช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อให้ธุรกิจยังเดินหน้าต่อไปได้

2. มองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อเพิ่มช่องทางในการขาย

ช่องทางการขายออนไลน์ที่น่าจะเป็นคำตอบสำหรับธุรกิจ SMEs ในการเอาชนะวิกฤตไปให้ได้ ผู้ประกอบการต้องมองหาทุกแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย แอพพลิเคชั่น หรือ Market Place

การจัดส่งสินค้าแบบเดลิเวอรี่แบบนี้ยังแสดงให้ลูกค้าเห็นด้วยว่า องค์กรของคุณมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์มากขึ้น นอกจากการซื้อใจลูกค้าใหม่แล้วสิ่งสำคัญคือ ต้องรักษาฐานลูกค้าเก่าให้ได้ด้วย อาจจะเป็นการเพิ่มสิทธิพิเศษเกี่ยวกับสินค้าหรือลดค่าจัดส่งที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่า ร้านของคุณใส่ใจและให้ความใกล้ชิดกับลูกค้ามากกว่าร้านอื่นๆ

3. ลดราคาสินค้า ขายเพื่อเอาทุนคืน

สำหรับผู้ประกอบการบางรายที่มีการสต็อคสินค้าไว้เป็นจำนวนมาก ในช่วงเวลาแบบนี้อาจจะต้องยอมตัดใจขายสินค้าทั้งหมดในราคาทุนเพื่อดึงเงินสดกลับมาหมุนเวียนในระบบให้ได้มากที่สุด เพราะการคงสต็อคสินค้าไว้โดยไม่ยอมระบายสินค้าออกเท่ากับเรากำลังแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลคลังสินค้า การยอมปล่อมสินค้าบางส่วนเพื่อความอยู่รอดแม้จะต้องขายขาดทุนจึงย่อมดีกว่าการแบกต้นทุนและค่าใช้จ่ายสำหรับรักษาสินค้าในสต็อคไปเรื่อยๆ

4. หาสินค้าที่กำลังเป็นกระแสมาขาย

ยกตัวอย่างจากการแพร่ระบาดของไวรัสที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนรัดเข็มขัดการใช้จ่ายมากขึ้น แต่สินค้าที่ยังมีความต้องการซื้อ (demand) สูงต่อเนื่องมาตลอดในระยะนี้ก็คือ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ รวมไปถึงอาหารกล่องราคาย่อมเยา ซึ่งเราเริ่มเห็นการปรับตัวแบบนี้จากธุรกิจหลายรายแล้วเหมือนกัน จากเดิมที่เน้นขายหน้าร้านไปเป็นการทำอาหารแบบกล่องที่มีราคาถูกลง บางเจ้ามีบริการส่งฟรีให้กับลูกค้าที่อยู่ในรัศมีกิโลเมตรใกล้ๆ หรือสั่งจำนวนมาก

5. ทดลองปรับตัวสู่ digital transformation 

สำหรับธุรกิจที่มีความเป็น traditional มากอาจจะใช้โอกาสครั้งนี้ในการปรับจูนเข้าหากับลูกค้าด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยออกแบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างการผสานเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำการตลาด เช่นการทำการตลาดแบบออนไลน์ กระทั่งการใช้ข้อมูลหรือการเก็บดาต้าเพื่อนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงนี้ก็จะทำให้เราเจาะกลุ่มเป้าหมายได้ครอบคลุมมากขึ้นด้วย

ทั้งหมดที่ยกมาเป็นวิธีการส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ SMEs ไทย พาธุรกิจเอาชนะได้ทุกวิกฤต แต่หากผู้ประกอบการท่านใดที่ต้องการเสริมสภาพคล่องหรือบรรเทาภาระหนี้ภายใต้สถานการณ์วิกฤติ เพื่อให้สามารถฟื้นตัวกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ สามารถติดตามมาตรการช่วยเหลือของธนาคารได้ที่นี่ คลิก รวมถึงสามารถศึกษาข้อมูลสินเชื่อเงินกู้เพื่อธุรกิจ SME ได้ผ่านทางเว็บไซต์ หรือสอบถามธนาคารกรุงไทยทุกสาขา สำนักงานธุรกิจทั่วประเทศ