เรียนรู้การเงิน

ลดหย่อนดอกเบี้ยบ้าน วิธีคำนวณและเงื่อนไขที่ต้องรู้

อัปเดตวันที่ 3 ก.ค. 2568

ดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษีคิดยังไง

หลายคนที่มีบ้านย่อมต้องเคยผ่านการกู้ซื้อบ้าน หรือกู้เพื่อต่อเติมซ่อมแซมบ้านมาก่อน แน่นอนว่าผู้กู้ส่วนมากต่างเคยหาวิธีผ่อนชำระ ลดดอกเบี้ยหรือรีไฟแนนซ์ และเซฟเงินในกระเป๋าไว้เคลียร์หนี้บ้าน แต่ทราบหรือไม่ว่า นอกจากวิธีเหล่านี้แล้ว เรายังสามารถใช้ดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ผู้กู้เสียภาษีต่อปีน้อยลง รวมถึงได้รับเงินภาษีที่จ่ายในแต่ละปีกลับคืนมา จะเอามาปรับปรุงบ้านเพิ่มเติม หรือโปะค่างวดบ้านเพื่อลดเงินต้นได้ เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับคนที่กำลังผ่อนบ้าน เพราะสินเชื่อบ้านคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก การโปะบ้านเพิ่มก็จะช่วยให้ดอกเบี้ยบ้านลดลง ทำให้หมดภาระผ่อนชำระได้ไวขึ้น

สำหรับการใช้สิทธิลดหย่อนดอกเบี้ยบ้าน เกิดจากการที่รัฐต้องการส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง โดยไม่จำกัดประเภทของที่อยู่อาศัย ทั้งบ้านพร้อมที่ดิน ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม ดอกเบี้ยเงินกู้สามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดปีละไม่เกิน 100,000 บาท


เงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยบ้าน

สำหรับใครที่ต้องการลดหย่อนดอกเบี้ยบ้าน ต้องมีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขต่อไปนี้
  • ต้องเป็นดอกเบี้ยบ้านที่กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในประเทศไทย
  • ต้องเป็นการกู้ยืมเพื่อซื้อ สร้าง หรือต่อเติมอาคารที่อยู่อาศัย
  • ผู้กู้ยืมต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคารที่อยู่อาศัยนั้น

ดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษีคิดยังไง

สำหรับใครที่สนใจใช้สิทธิดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษี และอยากรู้ว่าดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษีคิดยังไง สามารถศึกษาวิธีการคำนวณได้ดังนี้

กรณีใช้สิทธิแบบผู้กู้คนเดียว สามารถนำดอกเบี้ยบ้านตามที่จ่ายจริงมาลดหย่อนได้ทั้งหมด แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี สมมติหากจ่ายดอกเบี้ยบ้านทั้งปี 75,000 บาท ก็จะใช้สิทธิลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านได้ทั้งหมด 75,000 บาท แต่ถ้าจ่ายดอกเบี้ยบ้านทั้งปี 110,000 บาท ก็จะใช้สิทธิลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านเต็มสิทธิสูงสุด 100,000 บาท

กรณีที่มีการกู้ซื้อบ้านมากกว่า 1 หลัง ก็ใช้สิทธิ์ดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษีได้ทุกหลัง โดยนำดอกเบี้ยทั้งหมดมารวมกัน และลดหย่อนได้ตามจริงสูงสุด 100,000 บาทเช่นเดิม

กรณีที่มีผู้กู้ร่วมก็จะแบ่งสิทธิ์ลดหย่อนดอกเบี้ยบ้าน โดยเฉลี่ยไปตามจำนวนผู้กู้ แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท เช่น กู้ร่วมกัน 2 คน ก็จะเฉลี่ยเป็นค่าลดหย่อนสูงสุดไม่เกินคนละ 50,000 บาท


ขั้นตอนในการขอหนังสือรับรองดอกเบี้ยบ้าน

ในการใช้สิทธิดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษี ผู้กู้จะต้องมีหนังสือรับรองดอกเบี้ยบ้านประกอบการยื่นลดหย่อนภาษี ซึ่งปัจจุบันการขอข้อมูลจากธนาคารสามารถทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็วผ่านแอปพลิเคชัน หรือช่องทางออนไลน์ เพียงให้ความยินยอมผ่านระบบของธนาคารว่ามีความประสงค์ขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ธนาคารก็จะเป็นผู้จัดส่งข้อมูลให้สรรพากรโดยตรง ช่วยลดความยุ่งยากในการเตรียมเอกสารและกรอกข้อมูลเพื่อลดหย่อนภาษี ส่วนเอกสารรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืม (ล.ย. 02) ฉบับจริงธนาคารก็จะจัดส่งให้ผู้กู้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ในการใช้สิทธิดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษี แนะนำให้ผู้ยื่นภาษีเตรียมเอกสารประกอบ ดังนี้

  1. หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน เพื่อแสดงจำนวนดอกเบี้ยที่จ่ายในปีภาษี
  2. สำเนาสัญญากู้ยืมเงิน เพื่อยืนยันวัตถุประสงค์ในการกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน หรือต่อเติมบ้าน
  3. เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ของบ้าน เช่น โฉนดที่ดิน หรือสัญญาซื้อขาย
  4. เอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหรือปรับปรุงบ้าน (ถ้ามี)

การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับผู้กู้ร่วม

สำหรับที่อยู่อาศัยที่ซื้อโดยการกู้ร่วมกัน สิทธิในการใช้ดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษีก็จะเฉลี่ยออกตามจำนวนผู้กู้ร่วมในวงเงินรวมไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี แม้ว่าในความเป็นจริงจะมีผู้ใช้สิทธิลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านเพียงคนเดียว หรือในกรณีที่ผู้กู้คนใดคนหนึ่งผ่อนบ้านและจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าอีกคน ก็จะใช้สิทธิได้สูงสุดตามที่เฉลี่ยจากจำนวนผู้กู้ ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีมากกว่าผู้กู้อีกรายได้

เมื่อกู้ซื้อบ้านร่วมกัน ดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษีคิดยังไง สามารถดูตัวอย่างการคำนวณสิทธิได้ดังนี้

  • ผู้กู้ร่วม 2 คน จ่ายดอกเบี้ยบ้านไป 100,000 บาท แต่ละคนจะใช้สิทธิได้คนละ 50,000 บาท
  • ผู้กู้ร่วม 2 คน จ่ายดอกเบี้ยบ้านไป 120,000 บาท แต่ละคนจะใช้สิทธิได้คนละ 50,000 บาท เนื่องจากวงเงินลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านจะได้สูงสุดที่ 100,000 บาทเท่านั้น
  • ผู้กู้ร่วม 3 คน จ่ายดอกเบี้ยบ้านไป 100,000 บาท แต่ละคนจะใช้สิทธิได้คนละ 33,333 บาท เนื่องจากต้องเฉลี่ยวงเงินลดหย่อนเท่ากันทั้ง 3 คน ในวงเงินสูงสุด 100,000 บาท 

ทั้งนี้ในการคำนวณจะเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ ไม่จำเป็นว่าผู้กู้แต่ละคนจะต้องผ่อนชำระในจำนวนเงินที่เท่ากัน


ดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษี


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยบ้าน


หากเพิ่งกู้ซื้อบ้านและจ่ายดอกเบี้ยไม่ถึงปี สามารถใช้ดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษีได้หรือไม่

สามารถใช้สิทธิได้ทันที แม้อยู่อาศัยไม่ครบปี เพียงแค่มีหนังสือรับรองดอกเบี้ยบ้าน หรือให้ความยินยอมกับธนาคารในการจัดส่งข้อมูลให้สรรพากรโดยตรง ก็สามารถใช้สิทธิของปีนั้น ๆ ได้เลย

ดอกเบี้ยจากสินเชื่อบ้านแลกเงิน สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้หรือไม่

ไม่ได้ เพราะการกู้เงินลักษณะนี้ ไม่ใช่การกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย แต่เป็นการกู้เงินโดยใช้บ้านเป็นหลักประกัน จึงไม่ตรงกับเงื่อนไขในการใช้สิทธิดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษี

มีบ้านหลายหลัง ใช้สิทธิดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษีได้หรือไม่

ได้ แต่เป็นไปตามเงื่อนไขที่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีภาษี

หากรีไฟแนนซ์บ้านแล้ว ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านได้ไหม

ได้ตามปกติ เพราะการรีไฟแนนซ์ถือเป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเช่นกัน


ลดหย่อนดอกเบี้ยบ้าน


คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้กู้ซื้อบ้าน

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจรู้สึกมั่นใจมากขึ้นที่จะตัดสินใจกู้ซื้อบ้าน แต่ก่อนอื่น ห้ามลืมพิจารณาสิ่งที่สำคัญที่สุดนั่นคือ การเลือกสินเชื่อที่เหมาะสม และวางแผนการผ่อนชำระเพื่อลดดอกเบี้ยให้ได้มากที่สุดด้วย

การเลือกสินเชื่อที่เหมาะสม ทำได้โดยการเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยจากหลายธนาคาร เพื่อเลือกสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด และไม่เกินความสามารถในการผ่อนชำระของเรา ส่วนการวางแผนการผ่อนชำระ แนะนำให้เลือกระยะเวลาผ่อนชำระที่สามารถทำได้จริง และโปะบ้านเพิ่มเพื่อลดเงินต้น ลดดอกเบี้ย โดยเฉพาะช่วง 3 ปีแรกที่อัตราดอกเบี้ยจะมีสัดส่วนค่อนข้างสูง ควรวางแผนโปะบ้านในช่วงนี้ให้มากขึ้น โดยทยอยโปะเพิ่มทุกเดือน หรือโปะเงินก้อนใหญ่ปีละครั้งก็ได้

การใช้สิทธิดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษีมีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่กู้ซื้อบ้าน เพราะช่วยลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 100,000 บาทต่อปี และใช้สิทธิได้ทั้งในกรณีที่กู้ร่วม หรือกู้บ้านหลายหลัง ผู้ที่ใช้สิทธิและได้รับเงินคืนภาษีกลับมาก็สามารถนำเงินไปโปะบ้านเพิ่ม เพื่อลดเงินต้น ลดดอกเบี้ยลงได้ จึงเป็นอีกสิ่งที่คนกู้ซื้อบ้านไม่ควรพลาดและต้องศึกษาข้อมูลเพื่อนำไปยื่นภาษีได้อย่างถูกต้อง

ใครที่กำลังวางแผนจะกู้ซื้อบ้านอยากให้ลองพิจารณาข้อมูลข้างต้นก่อนเลือกสินเชื่อบ้าน เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ดีที่สุด และวางแผนการผ่อนชำระได้ราบรื่น แต่หากยังตัดสินใจไม่ได้ ขอเสนออีกทางเลือกในการกู้บ้านที่คุ้มค่า นั่นคือ สินเชื่อบ้านจากธนาคารกรุงไทย ที่ตอบโจทย์ทั้งการกู้ซื้อบ้านใหม่ บ้านมือสอง การซื้อที่ดินพร้อมปลูกบ้าน ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เริ่มต้นปีแรก 2.29% ต่อปี* ผ่อนต่ำเพียงล้านละ 3,000 บาทต่อเดือนในปีแรก ให้วงเงินกู้ซื้อบ้านสูงสุด 100% ของราคาซื้อขาย หรือราคาประเมินหลักประกัน แล้วแต่อย่างใดต่ำกว่า โดยระยะเวลากู้บ้านสูงสุด 40 ปี สนใจข้อมูลเพิ่มเติม คลิก


กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว
*อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตลอดอายุสัญญาอยู่ระหว่าง 5.13% - 5.17% ต่อปี (ณ วันที่ 15 พ.ค. 68) สมมติฐานการคำนวณมาจากอัตราดอกเบี้ย MLR = 6.75% ต่อปี (ณ วันที่ 15 พ.ค. 68) | อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ รายละเอียดการคำนวณเพิ่มเติมดูที่ www.krungthai.com | เงื่อนไขและหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

ลดหย่อนดอกเบี้ยบ้าน วิธีคำนวณและเงื่อนไขที่ต้องรู้ | ธนาคารกรุงไทย เจาะลึกวิธีคำนวนดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษี ต้องคิดอย่างไร พร้อมเงื่อนไข และขั้นตอนการขอใช้สิทธิ อย่างละเอียดที่คนกู้บ้านต้องรู้