มาตรการ LTV คืออะไร ทำไมถึงสำคัญ และควรรู้ก่อนซื้อบ้าน
“บ้าน” เติมเต็มช่วงเวลาแห่งความสุขของชีวิตได้ หลายคนจึงอยากมีบ้านในฝันเป็นของตัวเอง แต่การซื้อบ้านหลังแรกอาจต้องใช้เงินก้อนใหญ่ ไหนจะต้องเลือกโครงการ ทำเล หรือความสะดวกสบายอื่นๆ การวางแผนกู้ซื้อบ้านจึงเป็นเรื่องสำคัญ หนึ่งในสิ่งที่ผู้กำลังกู้บ้านในยุคนี้ต้องศึกษาคือ มาตรการ LTV (Loan to Value) หรือ มาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นนโยบายจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ส่งผลโดยตรงต่อจำนวนเงินที่ธนาคารจะปล่อยกู้ ดังนั้นการเข้าใจ LTV จะช่วยให้เกิดการวางแผนทางการเงินอย่างรัดกุม และไม่สะดุดกลางทางในวันที่กำลังจะมีบ้านเป็นของตัวเอง
รู้จักมาตรการ LTV
LTV (Loan to Value) คือ เพดานสินเชื่อที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดขึ้น เพื่อป้องกันการก่อหนี้เกินตัวของประชาชน ป้องกันการซื้อบ้านเพื่อเก็งกำไร และเพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อให้กับธนาคารต่างๆ โดยเป็นการคำนวณอัตราส่วนที่ธนาคารสามารถให้สินเชื่อได้ เมื่อเทียบกับราคาบ้านที่ซื้อ สำหรับมาตรการ LTV เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ทั้งผู้ซื้อและระบบการเงินโดยรวมมีความมั่นคง ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้กู้ประเมินความสามารถในการกู้ซื้อบ้านได้แม่นยำขึ้น แต่ยังช่วยป้องกันปัญหาหนี้สินเกินตัวในระยะยาวอีกด้วย
- ควบคุมความเสี่ยงของระบบการเงิน ป้องกันไม่ให้เกิดการกู้เงินเกินความสามารถในการชำระคืน ซึ่งอาจนำไปสู่หนี้เสีย (NPL) และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบธนาคาร
- ลดความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการซื้อเพื่อเก็งกำไรหลายหลังหรือซื้อแบบไม่อยู่อาศัยจริง เพราะอาจทำให้ราคาที่อยู่อาศัยพุ่งสูงเกินจริง
- ส่งเสริมวินัยทางการเงินของผู้กู้ การที่ผู้กู้ต้องมีเงินดาวน์บางส่วน แสดงถึงความพร้อมในการรับภาระหนี้ และลดโอกาสผิดนัดชำระในอนาคต
- สนับสนุนให้ผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยจริงได้รับโอกาสมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม First Jobber หรือผู้ซื้อบ้านหลังแรก ซึ่งมักได้รับเงื่อนไข LTV ที่ผ่อนปรนมากกว่ากลุ่มลงทุน
วิธีการคำนวณ
คำนวณจากการเอาเงินที่ธนาคารปล่อยกู้ (L: Loan) หารด้วยราคาบ้าน (V : Value) หรือ LTV = L x 100 / V หน่วยออกมาเป็น %
ตัวอย่างการคำนวณ LTV
นางสาวเจนขอกู้เงินเพื่อซื้อบ้านราคา 5 ล้านบาท ธนาคารปล่อยกู้มาให้ 4.5 ล้านบาท คำนวณ LTV ได้ดังนี้
- ธนาคารปล่อยกู้ (L) = 4.5 ล้านบาท
- ราคาบ้าน (V) = 5 ล้านบาท LTV = 4.5 x 100 / 5 = 90%
อัตรา LTV ที่ธนาคารกำหนด
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดอัตราส่วน LTV ไว้ที่ ไม่เกิน 80% ของมูลค่าบ้าน สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัย “หลังที่สองขึ้นไป” หรือการซื้อเพื่อการลงทุน แต่ในกรณีของผู้ซื้อบ้าน หลังแรก และมีประวัติการเงินดี อัตรา LTV อาจถูกผ่อนปรนให้สูงถึง 90–100% ได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร
สำหรับมาตรการ LTV ปี 2568 ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับปรุงผ่อนคลายมาตรการ LTV ชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2569 ให้การซื้อบ้านและคอนโดทุกราคาและทุกสัญญาสามารถกู้ได้เต็ม 100% ทั้งนี้การอนุมัติวงเงินขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคารและความสามารถในการผ่อนชำระของแต่ละบุคคล
เลื่อนเพื่อดูข้อมูลตาราง
ราคาหลักทรัพย์ | จำนวนหลักทรัพย์ที่ยังผ่อนชำระอยู่ | เกณฑ์ LTV แบบเดิม | เกณฑ์ LTV แบบใหม่ |
บ้านราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท | สัญญาหลังที่ 1 |
กู้ได้ 100% (กู้ค่าตกแต่งบ้านเพิ่มได้ 10%) |
กู้ได้ 100% (กู้ค่าตกแต่งบ้านเพิ่มได้ 10%) |
สัญญาหลังที่ 2 |
กู้ได้ 90% (หากผ่อนสัญญาที่ 1 มากกว่า หรือเท่ากับ 2 ปี) |
กู้ได้ 100% | |
สัญญาหลังที่ 3 ขึ้นไป |
กู้ได้ 80% (หากผ่อนสัญญาที่ 1 น้อยกว่า หรือเท่ากับ 2 ปี กู้ได้ 70%) |
กู้ได้ 100% | |
บ้านราคาเกิน 10 ล้านบาท | สัญญาหลังที่ 1 | กู้ได้ 90% |
กู้ได้ 100%
|
สัญญาหลังที่ 2 | กู้ได้ 80% | กู้ได้ 100% | |
สัญญาหลังที่ 3 ขึ้นไป | กู้ได้ 70% | กู้ได้ 100% |
มาตรการ LTV มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดในช่วงเวลาต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง โดยมาตรการ LTV ฉบับปัจจุบันส่งผลกระทบต่อผู้กู้ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ต้องการซื้อบ้านราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท หลังแรก กลุ่มนี้จะสามารถกู้ได้เต็มที่ 100% ของราคาบ้านและยังสามารถกู้เพิ่มเติมเพื่อเอาไปตกแต่งบ้านได้อีก 10% ของราคาบ้าน สำหรับกลุ่มนี้จะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV ในปัจจุบัน
กลุ่มที่ 2 ต้องการซื้อบ้านราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท หลังที่ 2 เป็นต้นไป กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV เนื่องจากเพดานการปล่อยกู้อยู่ที่ 70 - 90% ของราคาบ้าน และไม่สามารถกู้เพิ่มเติมเพื่อเอาไปตกแต่งบ้าน สำหรับใครที่อยู่ในกลุ่มนี้ต้องมีเงินดาวน์อยู่แล้ว 10 - 30% ของราคาบ้าน ถ้าไม่ได้มีการวางแผนเก็บเงินมาก่อนก็จะทำให้การซื้อบ้านทำได้ยากขึ้น
มาตรการ LTV สำหรับการกู้ร่วม
สำหรับการกู้ร่วม มาตรการ LTV ล่าสุด มีการผ่อนปรนพิเศษ โดยจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ร่วมทุกคน ซึ่งจะช่วยเพิ่มวงเงินกู้ได้มากขึ้น และเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้กู้ร่วมที่ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยได้รับสินเชื่อตามความเหมาะสมมากขึ้น แต่ผู้กู้ร่วมต้องมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับผู้กู้หลัก เช่น คู่สมรส บิดามารดา หรือบุตร และต้องมีรายได้ประจำที่สามารถพิสูจน์ได้ ทั้งนี้ ธนาคารจะพิจารณาภาระหนี้รวมของผู้กู้ทุกคนต้องไม่เกินเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด
มาตรการกู้ร่วม LTV เดิม: การกู้ร่วมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยจะถือเป็นการกู้ของทุกคน
มาตรการกู้ร่วม LTV ใหม่: หากผู้กู้ร่วมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ให้ผ่อนปรนเสมือนว่ายังไม่เป็นผู้กู้ในครั้งนั้น
ประโยชน์ของการกู้ร่วม
- เพิ่มโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อ เพราะรวมรายได้ของผู้กู้ทั้งสองคน ทำให้มีกำลังผ่อนชำระสูงขึ้น และเหมาะกับผู้ที่มีรายได้ปานกลางแต่ต้องการซื้อบ้านราคาสูงขึ้น
- ได้วงเงินสินเชื่อมากขึ้น เพราะเมื่อรายได้รวมสูงขึ้น สถาบันการเงินจะอนุมัติวงเงินกู้ที่สูงขึ้นตามสัดส่วน ทำให้สามารถเลือกซื้อบ้านที่ตรงความต้องการได้มากขึ้น
- ลดภาระการผ่อนชำระรายเดือน เพราะการกู้ร่วมทำให้สามารถแบ่งภาระการผ่อนชำระได้ระหว่างผู้กู้ ช่วยลดภาระทางการเงินเฉพาะรายบุคคล
ข้อจำกัดและความเสี่ยงของการกู้ร่วม
- ความเสี่ยงร่วมกันตลอดอายุสัญญา หากผู้กู้คนใดผิดนัดชำระ อีกฝ่ายต้องรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งในทางกฎหมายและเครดิตบูโร
- ข้อจำกัดด้าน LTV และสิทธิประโยชน์บ้านหลังแรก หากผู้กู้คนใดคนหนึ่งเคยมีบ้านแล้ว หรือเคยใช้สิทธิบ้านหลังแรกไปก่อน อาจไม่ได้รับสิทธิประโยชน์หรือเงื่อนไขพิเศษเท่ากับผู้ซื้อบ้านหลังแรก
- ความยุ่งยากในกรณีเลิกความสัมพันธ์หรือแยกสิทธิ เช่น คู่รักที่เลิกรากัน หรือพี่น้องที่ตกลงกันไม่ได้ในอนาคต อาจเกิดปัญหาเรื่องการแบ่งสิทธิในบ้านและภาระหนี้
ผลกระทบของมาตรการ LTV ต่อการกู้เงินซื้อบ้าน
มาตรการ LTV ส่งผลต่อการกู้เงินซื้อบ้านและแผนการเงินของผู้กู้ ทั้งการเก็บเงินดาวน์ให้เพียงพอ เมื่ออัตรา LTV ถูกจำกัด เช่น กู้ได้เพียง 80% ของราคาบ้าน ผู้กู้จำเป็นต้องมีเงินดาวน์ในมืออย่างน้อย 20% ของราคาบ้าน ซึ่งอาจเป็นจำนวนเงินหลักแสนถึงหลักล้านบาทขึ้นอยู่กับมูลค่าทรัพย์
สำหรับผู้ที่กำลังจะกู้เงินซื้อบ้านต้องวางแผนทางการเงินให้รอบคอบยิ่งขึ้น ทั้งการตรวจสอบเครดิตบูโร บริหารหนี้สินอื่นให้มีความสามารถผ่อนบ้านได้ คำนวณภาระผ่อนชำระต่อเดือนไม่ให้เกิน 40% ของรายได้ และศึกษามาตรการ LTV ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้มีความเหมาะสม หากใครกำลังวางแผนยื่นกู้ซื้อบ้านไม่ว่าจะเป็นบ้านหลังแรก หรือบ้านหลังที่ 2 ก็อย่ามองข้ามเงื่อนไขนี้ไป เพื่อให้เราวางแผนการเงินได้อย่างรัดกุมและลงตัวมากยิ่งขึ้น
ทำไมต้องอัปเดตมาตรการ LTV ทุกปี?
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่ามาตรการ LTV มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดอยู่บ่อยครั้ง ผู้ที่จะกู้ซื้อบ้านจึงจำเป็นต้องอัปเดตมาตรการ LTV อยู่สม่ำเสมอ
- รองรับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง อย่างในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว เช่น จากโควิด-19 หรือวิกฤตเงินเฟ้อ การผ่อนคลายมาตรการ LTV ช่วยกระตุ้นให้ประชาชนกล้าซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น หรือขณะที่ในช่วงเศรษฐกิจร้อนแรง การเข้มงวดมาตรการช่วยชะลอฟองสบู่ในตลาดอสังหาฯ และลดความเสี่ยงหนี้เสีย
- ควบคุมพฤติกรรมการลงทุนเก็งกำไร เพราะหากปล่อยให้ปล่อยกู้สูงโดยไม่มีการควบคุม ผู้ลงทุนอาจใช้โอกาสนี้ซื้ออสังหาฯ หลายหลังเพื่อเก็งกำไร การปรับ LTV ให้เข้มงวดขึ้นในบางช่วง จึงช่วยป้องกันไม่ให้ตลาดเกิด “ฟองสบู่” และส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว
- สนับสนุนผู้ซื้อบ้านจริง การปรับมาตรการ LTV ช่วยให้ผู้ซื้อบ้านหลังแรกหรือที่อยู่อาศัยเพื่อการอยู่อาศัยจริงเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจเปราะบาง
- รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ระบบสถาบันการเงินจำเป็นต้องรักษาสภาพคล่องและควบคุมความเสี่ยงในพอร์ตสินเชื่อ ดังนั้นการอัปเดต LTV ช่วยให้ธนาคารบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น ลดโอกาสเกิดหนี้เสียที่ส่งผลเป็นลูกโซ่ในระบบ
ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงมาตรการ LTV ในปีที่ผ่านมา
มาตรการ LTV ล่าสุดได้มีการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดย LTV คือมาตรการที่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญดังนี้
- บ้านหลังแรก: Loan to Value คือการกู้ได้ 100% ของมูลค่าหลักประกัน และสามารถกู้เพิ่มเพื่อค่าตกแต่งได้อีก 10%
- บ้านหลังที่สอง: สามารถกู้ได้ 90-100% ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการผ่อนชำระหลังแรก
- บ้านหลังที่สาม: ต้องวางเงินดาวน์ 30%
- LTV บ้านหลังแรก: ต้องวางเงินดาวน์ 10%
- บ้านหลังที่สอง: ต้องวางเงินดาวน์ 20%
- บ้านหลังที่สาม: ต้องวางเงินดาวน์ 30%
- มาตรการ LTV ล่าสุดได้รับการขยายระยะเวลาถึงสิ้นปี 2567 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น
ข้อควรพิจารณาก่อนยื่นกู้ซื้อบ้านภายใต้มาตรการ LTV
- ศึกษารายละเอียดของมาตรการ LTV หากเป็นบ้านหลังแรก โดยทั่วไปสามารถกู้ได้สูงสุด 100% ของราคาบ้าน (ภายใต้เงื่อนไขของธนาคารแต่ละแห่ง) หากเป็นบ้านหลังที่ 2 หรือ 3 ต้องวางเงินดาวน์มากขึ้น เช่น 10%–30% ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการผ่อนชำระหลังเดิม
- ประเมินกำลังซื้อและเงินดาวน์ล่วงหน้า ตรวจสอบว่ามีเงินสำรองเพียงพอสำหรับค่าดาวน์บ้าน ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ (ค่าจดจำนอง, ค่าโอน, ค่าประเมิน) และค่าใช้จ่ายฉุกเฉินอื่น ๆ ที่อาจตามมา
- ตรวจสอบเครดิตของตนเอง (Credit Score) ได้แก่ ประวัติทางการเงินที่ดี เช่น ไม่ค้างชำระหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคล จะช่วยให้ขอสินเชื่อผ่านง่ายและได้ดอกเบี้ยต่ำลง และแนะนำให้เช็กเครดิตบูโรก่อนยื่นกู้ และเคลียร์หนี้ค้างชำระ (ถ้ามี)
- เปรียบเทียบข้อเสนอสินเชื่อจากหลายธนาคาร ทั้งอัตราดอกเบี้ย วงเงินกู้ ระยะเวลาผ่อน และเงื่อนไขการวางเงินดาวน์อาจต่างกัน บางธนาคารมีโปรพิเศษสำหรับบ้านหลังแรก หรือผู้มีรายได้ประจำ
- เข้าใจผลของ LTV ต่อการวางแผนการเงินระยะยาว หากต้องวางเงินดาวน์เพิ่มตามมาตรการ LTV ควรมั่นใจว่ายังมีเงินสดเหลือพอใช้ในชีวิตประจำวัน และไม่กระทบค่าใช้จ่ายอื่น
- รวบรวมเอกสารให้ครบถ้วน โดยเอกสารทั่วไปที่ใช้ในการยื่นกู้ ได้แก่ สลิปเงินเดือน/เอกสารรายได้ย้อนหลัง 3–6 เดือน รายการเดินบัญชีธนาคาร (Statement) สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย (ถ้ามี) สำหรับเจ้าของกิจการหรือฟรีแลนซ์: อาจต้องใช้เอกสารเพิ่มเติม เช่น ใบเสียภาษี หรือหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจ
ความฝันของการมีบ้านหลังแรกเป็นจริงได้ หลังจากที่ศึกษาและทำความเข้าใจมาตรการ LTV จากรายละเอียดข้างต้นที่ธนาคารกรุงไทยรวบรวมมาให้ สำหรับใครที่กำลังมองหาสินเชื่อบ้านและที่อยู่อาศัย ทั้งกู้ซื้อบ้านใหม่ บ้านมือสอง และกู้เงินสร้างบ้าน ธนาคารกรุงไทยมีบริการสินเชื่อบ้านกรุงไทยที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับเงื่อนไข จุดเด่นคือ ดอกเบี้ยกู้บ้านต่ำ ผ่อนต่ำเพียงล้านละ 3,000 บาท/เดือน ในปีที่ 1 ได้ วงเงินกู้ซื้อบ้านสูงสุด 100% ของราคาซื้อขาย หรือราคาประเมินหลักประกัน แล้วแต่อย่างใดต่ำกว่า ระยะเวลากู้บ้านสูงสุด 40 ปี
ให้ธนาคารกรุงไทยช่วยวางแผนการเงินและการขอสินเชื่อให้เหมาะสม สนใจ สินเชื่อบ้านกรุงไทย บ้านที่ใช่ เติมเต็มทุกความสุข ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่
กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว *อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตลอดอายุสัญญาอยู่ระหว่าง 5.13% - 5.17% ต่อปี (ณ วันที่ 15 พ.ค. 68) สมมติฐานการคำนวณมาจากอัตราดอกเบี้ย MLR = 6.75% ต่อปี (ณ วันที่ 15 พ.ค. 68) | อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ รายละเอียดการคำนวณเพิ่มเติมดูที่ www.krungthai.com | เงื่อนไขและหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด