ทลายกำแพง ร่วมสร้างอนาคต ต่อยอดการเติบโตกับเทรนด์สตรีแห่งโลกธุรกิจ
ท่ามกลางความท้าทายทางประวัติศาสตร์ สังคม-วัฒนธรรม และระบบเศรษฐกิจ ประชาคมอาเซียนกำลังเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นโดยพลังขับเคลื่อนจากผู้ประกอบการสตรีแห่ง 10 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลาย ๆ ท่านคงไม่ทราบว่าเมื่อปี 2022 ประชาคมอาเซียนมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีเจ้าของกิจการเป็นคุณผู้หญิงมากกว่า 61.3 ล้านราย
ตลอดประวัติศาสตร์หลาย ๆ ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้หญิงคือผู้ที่กุมเศรษฐกิจมาแต่โบราณกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ผู้ชายต้องเข้ารับราชการในระบบเกณฑ์แรงงาน และผู้หญิงหรือคุณแม่ คุณยาย คือกำลังหลักที่ต้องทำมาหาเลี้ยงครอบครัว อย่างไรก็ตามเมื่อยุคเกณฑ์แรงงานสิ้นสุดลง วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ซึ่งเป็นความคิดในรุ่นหลังเพียงประมาณ 150-250 ปีที่ผ่านมาได้เข้าแทนที่ และนั่นทำให้ความรู้ความสามารถของสตรีถูกกดทับ และความไม่เท่าเทียมกันนี้ปรากฏเด่นชัดมากยิ่งขึ้นในยุคที่ระบบการทำงานเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ซึ่งเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช้ากว่าในยุโรป)
ประชาคมอาเซียนร่วมปรับสมดุลเท่าเทียม และให้ความสำคัญกับ SHEconomy
อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้กำลังเปลี่ยนไป เพราะทุกประเทศสมาชิกในประชาคมอาเซียนมีฉันทามติร่วมกันในการทำงานอย่างหนัก เพื่อปรับสมดุลความเท่าเทียมระหว่างเพศ ทั้งในมิติการพัฒนาทักษะ การเข้าถึงโอกาส และทรัพยากร รวมทั้งการยกย่องเชิดชูบุคคลตัวอย่าง (Mentorship) ที่เป็นสตรีที่พัฒนาตนเองจนประสบความสำเร็จในมิติต่าง ๆ
ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจุบันภาคธุรกิจเองก็กำลังให้ความสำคัญกับ SHEconomy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยผู้หญิงมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่มาของกระแส SHEconomy เกิดจาก 1) บทบาทของผู้หญิงในการทำงานที่ก้าวหน้าเจริญเติบโตมากยิ่งขึ้นทำให้มีกำลังซื้อสูง 2) คุณผู้หญิงรุ่นใหม่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงเหล่านี้กล้าตัดสินใจในการใช้จ่าย จ่ายเงินคล่องกว่าในการช็อปปิง และ 3) พวกเธอมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการตัดสินใจใช้จ่ายของทั้งครอบครัว
โครงการที่สอดรับกับเทรนด์สตรีแห่งโลกธุรกิจ
เท่านั้นยังไม่พอ ปัจจุบันยังมีโครงการอีกเป็นจำนวนมากในระดับภูมิภาคอาเซียนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สอดรับกับเทรนด์สตรีแห่งโลกธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ
- Southeast Asia Women’s Economic Empowerment Fund (SWEEF) กองทุนมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่สนับสนุนโดยธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) เพื่อสนับสนุนโอกาสที่เท่าเทียมของสตรีเจ้าของกิจการ SMEs ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีโครงการจำนวนมากที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนไปแล้วในเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทย กัมพูชา สปป.ลาว และติมอร์-เลสเต
- The Youth Co: Lab Springboard Programme เน้นพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ซึ่งดำเนินกิจการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs 2030) โดยเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก UNDP ร่วมกับ Citi Foundation
- ในระดับภูมิภาค ASEAN Women Entrepreneurs Network (AWEN) เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2014 และการประชุม Asean Women's Business Conference ก็มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้ การพัฒนาทักษะ ร่วมกันเสนอแนะแนวนโยบายให้กับผู้นำอาเซียน รวมทั้งการสร้างเครือข่ายเพื่อให้สตรีสามารถเข้าถึงโอกาส ทรัพยากร และแหล่งเงินทุนได้ง่ายยิ่งขึ้น
- โครงการหลากหลายของ ASEAN Foundation อาทิ ASEAN Social Enterprise Development Program (SEDP) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก TikTok และ SAP ในการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Seeds for the Future และ Huawei ICT Competition ที่มีการแจกรางวัล Women in Tech เพื่อสนับสนุนการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้าน AI และให้แรงบันดาลใจกับเยาวชนหญิงในอุตสาหกรรม ICT
อย่างไรก็ตามประเด็นความท้าทายรวมถึงทักษะที่ผู้ประกอบการสตรียังคงต้องการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของพวกเธอก็ยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะทางดิจิทัล (ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน เช่น การตรวจเช็กคัดกรองข้อมูลและข่าวสารอันเป็นเท็จ ไปจนถึงระบบความปลอดภัยจากการโจมตีทางไซเบอร์) ความรู้ความเข้าใจในการบริหารธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการการเงิน (ทั้งในระดับส่วนตัว ครัวเรือน ไปจนถึงระดับการบริหารการเงินสำหรับธุรกิจ) และการสร้างทัศนคติของสังคมให้ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศสภาวะและเพศวิถี
ตัวอย่างความร่วมมือของประชาคมอาเซียนในการทลายกำแพงที่กดทับโอกาสสตรี
ประชาคมอาเซียนเองก็มีการทำงานในหลากหลายมิติ เพื่อให้แน่ใจว่ากำแพงที่จะกีดกันและกดทับโอกาสของสตรีได้ถูกทำลายลงในระดับภูมิภาค ตัวอย่างของความร่วมมือสำคัญ ๆ ในระดับอาเซียน ได้แก่
- ASEAN Guidelines for Developing National Standard Operating Procedures for a Coordinated Response to Violence against Women and Girls แนวทางปฏิบัติของอาเซียนในการพัฒนามาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงานระดับชาติสำหรับการตอบสนองต่อความรุนแรงต่อสตรีและเด็กหญิงอย่างประสานงานกัน
- ASEAN Gender Mainstreaming Strategic Framework กรอบยุทธศาสตร์การบูรณาการด้านเพศของอาเซียน
- Declaration on Building a more Sustainable, Inclusive and Resilient Future: Unlocking Women’s Entrepreneurship in ASEAN ปฏิญญาว่าด้วยการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และยืดหยุ่นยิ่งขึ้น: ปลดล็อกการเป็นผู้ประกอบการของสตรีในอาเซียน
- ASEAN Regional Plan of Action on Women Peace and Security แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคของอาเซียนว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงของสตรี
- Vientiane Declaration on Enhancing Gender Perspective and ASEAN Women’s Partnership for Environmental Sustainability ปฏิญญาเวียงจันทน์ว่าด้วยการเพิ่มมุมมองด้านเพศและความร่วมมือของสตรีอาเซียนเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
- Declaration on the Elimination of Violence Against Women in the ASEAN Region ปฏิญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรีในภูมิภาคอาเซียน
- Declaration of the Advancement of Women in the ASEAN Region ปฏิญญาว่าด้วยความก้าวหน้าของสตรีในภูมิภาคอาเซียน
- Joint Statement on Promoting Women, Peace and Security in ASEAN แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการส่งเสริมสตรี สันติภาพ และความมั่นคงในอาเซียน
- Action Agenda on Mainstreaming Women’s Economic Empowerment (WEE) in ASEAN วาระการดำเนินการเกี่ยวกับบูรณาการการเสริมพลังทางเศรษฐกิจของสตรี (WEE) ในอาเซียน
โดยกลไกการตัดสินใจในระดับสูงสุดของประชาคมอาเซียน คือการประชุมระดับรัฐมนตรี ASEAN Ministerial Meeting on Women (AMMW)
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ไม่พลาดความรู้ธุรกิจดีๆ Add LINE @KrungthaiSME คลิก